มติ ครม.ซื้อเครื่องบิน 10 ลำยุค“สุริยะ”ป.ป.ช.สอบ“ทักษิณ”ชนวน“บินไทย”เจ๊ง?

มติ ครม.ซื้อเครื่องบิน 10 ลำยุค“สุริยะ”ป.ป.ช.สอบ“ทักษิณ”ชนวน“บินไทย”เจ๊ง?

ยลโฉม “มติ ครม.” จัดซื้อเครื่องบิน A340-500, A340-600 รวม 10 ลำ ระหว่างปี 45-47 “สุริยะ” คนชง ก่อน “ป.ป.ช.” ตั้งองค์คณะชุดใหญ่ไต่สวน “ทักษิณ” ชวนเหตุทำ “การบินไทย” เจ๊ง?

“คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติตั้งองค์คณะไต่สวนชุดใหญ่กรณีดังกล่าวจริง โดยปรากฎชื่อของนายทักษิณเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาด้วย จากผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดจำนวน 5 ราย”

เป็นคำยืนยันจากนายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ถึงความคืบหน้ากรณีที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแต่งตั้งองค์คณะไต่สวนชุดใหญ่ (มีกรรมการ ป.ป.ช. 9 รายเป็นองค์คณะ) คดีกล่าวหา “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีการอนุมัติสั่งซื้อเครื่องบินแบบ A340-500 และ A340-600 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2545-2547 ทำให้ “การบินไทย” มีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ดีโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ยังไม่ยืนยันว่า บุคคลที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้นอกเหนือจากนายทักษิณแล้ว ยังมี “นักการเมือง” รายอื่นอีกหรือไม่?

ทว่ากรณีนี้เกิดขึ้นในช่วงปี 2545-2547 ที่มี “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม ในรัฐบาล “ทักษิณ” เป็นคนชง “คณะรัฐมนตรี” เพื่อขออนุมัติให้จัดซื้อเครื่องบิน A340-500 และ A340-600 รวม 10 ลำ รวมวงเงินประมาณ 53,536 ล้านบาท

รายละเอียดเป็นอย่างไร กรุงเทพธุรกิจนำมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว มานำเสนอ ดังนี้

โครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจ 2545/46 - 2549/50 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กระทรวงคมนาคมเป็นผู้เสนอ และคณะรัฐมนตรีมีการประชุมกันเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2546 ระบุว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอโครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจปี 2545/46-2549/50 ตามที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เสนอ  โดยให้บริษัท ฯ ดำเนินการยกเลิกการจัดหาเครื่องบินพิสัยกลาง  จำนวน 1 ลำ  ตามโครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจ ปี 2543/44-2547/48  ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี 

กับให้บริษัท ฯ  จัดหาเครื่องบินเพิ่มเติมจำนวน 15 ลำ  นอกเหนือจากที่ได้รับอนุมัติแล้ว ประกอบด้วย เครื่องบินแบบ B747-400 ใช้แล้วของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ จำนวน 7 ลำ เครื่องบินแบบ A340-500 จำนวน 3 ลำ และเครื่องบินแบบ A340-600 จำนวน 5 ลำ ในวงเงินลงทุน 58,324 ล้านบาท ในระหว่างปี 2545/46-2549/50

สำหรับรายละเอียดเครื่องบิน A340-500 จำนวน 3 ลำ และเครื่องบินแบบ A340-600 จำนวน 5 ลำ รวมมูลค่า 41,609 ล้านบาท (ดูเอกสารประกอบ)

มติ ครม.ซื้อเครื่องบิน 10 ลำยุค“สุริยะ”ป.ป.ช.สอบ“ทักษิณ”ชนวน“บินไทย”เจ๊ง?

ต่อมา เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2547 กระทรวงคมนาคมได้เสนอโครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจ ปี 2548/49 - 2552/53 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยมีการขอจัดซื้อเครื่องบินเพิ่มเติม รายการที่น่าสนใจคือ เครื่องบินพิสัยไกล A340-500 จำนวน 1 ลำ มูลค่าลำละ 5,748 ล้านบาท และเครื่องบินพิสัยไกลขนาดกลาง A340-600 จำนวน 1 ลำ ลำละ 6,179 ล้านบาท รวม 2 ลำมูลค่ารวม 11,927 ล้านบาท (ดูเอกสารประกอบ)

มติ ครม.ซื้อเครื่องบิน 10 ลำยุค“สุริยะ”ป.ป.ช.สอบ“ทักษิณ”ชนวน“บินไทย”เจ๊ง?

โดยเครื่องบินพิสัยไกล A340-500 ระบุว่า จะนำไปใช้พัฒนาเส้นทางบินตรงสู่สหรัฐอเมริกา ส่วนเครื่องบินพิสัยไกลขนาดกลาง A340-600 จะนำไปใช้พัฒนาเส้นทางบินที่จะขยายไปยังยุโรปและอเมริกาเหนือ

รวมเครื่องบิน A340-500 จำนวน 4 ลำ และ A340-600 จำนวน 6 ลำ รวม 10 ลำ มูลค่าทั้งสิ้น 53,536 ล้านบาท

โดยเอกสารของกระทรวงคมนาคมที่ลงนามโดยนายสุริยะ ระบุด้วยว่า ในส่วนของผลการดำเนินงาน ในระยะ 5 ปี คาดว่าจะมีกำไรก่อหักภาษีรวม 175,296 ล้านบาท และมีผลกำไรสุทธิ (หลังหักภาษี) รวม 5 ปี จำนวน 123,103 ล้านบาท

แต่อย่างที่ทราบกันว่าค่วามเป็นจริงมิได้เป็นเช่นนั้น?

ก่อนที่จะนำไปสู่การตรวจสอบของคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารกิจการของบริษัท และปัญหาการทุจริตบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อช่วงปี 2563 ที่มีนายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม (ขณะนั้น) เป็นหัวหอก โดยระบุว่าการบินไทยเริ่มขาดทุนปีแรกในปี 2551 จำนวนกว่า 21,450 ล้านบาท โดยอ้างว่าเป็นผลสืบเนื่องจากการจัดซื้อเครื่องบิน A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ มูลค่าตามบัญชี 53,043 ล้านบาท ภายใต้แผนรัฐวิสาหกิจและโครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจ ช่วงปี 2546-2547 

โดยเครื่องบินรุ่นดังกล่าวเข้าประจำการตั้งแต่เดือน ก.ค. 2548 ทำเส้นการบินตรง กรุงเทพฯ-นิวยอร์ก และเพิ่มเส้นทางบินตรง กรุงเทพฯ-ลอสแองเจลิส โดยใช้เวลาทำการบินเพียง 3 ปีเศษก็ต้องหยุดบิน เพราะขาดทุนทุกเที่ยวบินถึง 12,496.55 ล้านบาท และบริษัทได้ปรับเปลี่ยนเส้นทางบินไปยังเส้นทางอื่นรวม 51 เส้นทาง แต่ประสบปัญหาขาดทุนเช่นกัน ทำให้บริษัทขาดทุนจากการดำเนินงานไม่น้อยกว่า 39,859.52 ล้านบาท และต้องปลดระวางเครื่องบินก่อนกำหนด ลำสุดท้ายปลดระวางในปี 2556 โดยใช้เวลาในการเข้าประจำฝูงบินเพียง 6-10 ปี (การใช้งานของเครื่องบินโดยทั่วไปกำหนดไว้ 20 ปี)

ทั้งหมดคือข้อมูลเบื้องหลังในการจัดซื้อเครื่องบิน A340-500 และ A340-600 รวม 10 ลำ ปฐมบทการขาดทุนของ “การบินไทย” ก่อนจะมีการร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. กระทั่งล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งองค์คณะไต่สวนชุดใหญ่ ไต่สวน “ทักษิณ ชินวัตร” ในกรณีนี้แล้ว

บทสรุปจะเป็นอย่างไร ต้องติดตามต่อไปอย่ากระพริบตา!