อังกฤษ "ด้อยพัฒนา" หรือไม่เมื่อเทียบกับไทย

อังกฤษ "ด้อยพัฒนา" หรือไม่เมื่อเทียบกับไทย

เราต้องเทียบกับอังกฤษ เราจะได้ตื่นตัวพัฒนาให้เจริญยิ่งๆ ขึ้น แต่จะเจริญในแนวทางแบบไหน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หากมีข้อดีบางอย่าง เราก็ควรนำมาเป็นแบบอย่างเพื่อปรับใช้ หากมีข้อเสียใด เราก็ควรดูไว้เป็นบทเรียน

ถ้าเราถามนักบวช เช่น พระชยสาโร หรือปัจจุบันมีสมณศักดิ์ที่พระธรรมพัชรญาณมุนี (ฌอน ไมเคิล ชิเวอร์ตัน) ณ สถานพำนักสงฆ์บ้านไร่ทอสี จังหวัดนครราชสีมา  ท่านอาจมองในอีกแง่หนึ่งว่า “อาตมาเกิดในเมืองด้อยพัฒนา อยู่ประเทศอังกฤษ เติบโตไม่เคยมีโอกาสใส่บาตรแม้แต่ครั้งเดียว ไม่เคยมีโอกาสฟังเทศน์ ฟังธรรมเลย ไม่เคยเห็นพระ ต้องเดินทางมาทางเอเซีย มันถึงมีทางเจริญ"  ข้อที่น่าคิดก็คืออังกฤษนี่ด้อยพัฒนาจริงหรือ อย่างน้อยก็ด้านจิตใจของคนอังกฤษด้อยพัฒนาหรือไม่อย่างไร มาวิเคราะห์กันเพื่อสังคมอุดมปัญญา
    ก่อนอื่นมาเปรียบเทียบทางสถิติกันก่อน ประเทศไทยใหญ่กว่าอังกฤษประมาณ 1 เท่าตัว แต่ขนาดประชากรพอๆ กัน  คนไทยนับถือศาสนาพุทธ 95% แต่คนอังกฤษนับถือศาสนาคริสต์ 60%  ในขณะที่คนไทยนับถือคริสต์มีเพียง 1% แต่คนอังกฤษนับถือพุทธมีไม่ถึง 1% เลย  

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าคนอังกฤษมีอายุขัยมากกว่าคนไทย คืออยู่ที่ 81.3 ปี ในขณะที่คนไทยตายเร็วกว่า ณ อายุ 77.4 ปี จำนวนเตียงคนไข้ของไทยต่อประชากร 1,000 คนมีน้อยกว่า คืออยู่ที่ 2.1 เตียง แต่อังกฤษมีมากกว่าคือ 2.5 เตียง  
    เมื่อพิจารณาถึงด้านสวัสดิการสังคม ก็พบว่า อังกฤษใช้เงินเพื่อการศึกษาของเด็กสูงถึง 5.4% ของรายได้ประชาชาติ ในขณะที่ไทยใช้ 4.1% ทั้งนี้รายได้ประชาชาติของอังกฤษสูงกว่าไทยถึงเกือบ 3 เท่า  รายได้ประชาชาติต่อหัวของอังกฤษก็สูงกว่าไทยถึง 2.5 เท่า  อัตราการฆาตกรรมของไทยสูงถึง 3.2 คนต่อประชากร 100,000 คน สูงกว่าอังกฤษเกือบ 3 เท่าตัว โดยมีเพียง 1.2 คนเท่านั้น  ดัชนีความสงบสุขของไทยก็อยู่อันดับที่ 113 จาก 163 ประเทศ ในขณะที่ของอังกฤษอยู่ที่อันดับที่ 33 ซึ่งสูงกว่าไทย

สิ่งที่น่าแปลกใจมากก็คือ แม้ราคาห้องชุดในลอนดอนจะสูงถึง 21.9 ล้านบาท แพงกว่ากรุงเทพมหานครมาก  (โดยคิดจากราคาเฉลี่ยของห้องชุดเฉพาะในกลางเมือง คูณด้วยขนาด 40 ตารางเมตร) ในขณะที่ห้องชุดของไทยมีราคาเพียง 6.9 ล้านบาทเท่านั้น  อย่างไรก็ตามรายได้ของประชาชนในอังกฤษสูงถึงคนละ 137,925 บาทต่อเดือน ในขณะที่ไทยมีรายได้เฉลี่ยเพียง 23,443 บาทต่อเดือน  ดังนั้นหากเอาราคาห้องชุดไปหารด้วยรายได้ต่อปี  ราคาห้องชุดในกรุงเทพมหานครจะมีค่าเป็น 25 เท่าของรายได้ต่อปี ในขณะที่ในลอนดอนมีค่าเพียง 13 เท่าๆ นั้น  แสดงว่าคุณภาพชีวิตในการอยู่อาศัยในกรุงลอนดอนในด้านการมีที่อยู่อาศัยดีกว่าในกรุงเทพมหานครเป็นอย่างมาก

อังกฤษ "ด้อยพัฒนา" หรือไม่เมื่อเทียบกับไทย

    หากมาพิจารณาด้านคุณภาพการศึกษาของเด็ก จะพบว่าหลักสูตรมุ่งดึงศักยภาพของเด็ก “การเรียนของอังกฤษจะเน้นให้เด็กได้คิดและตั้งคำถาม และค้นหาตัวตนเพื่อพัฒนาต่อยอดความสนใจกลายเป็นอาชีพในอนาคต โดยช่วงมัธยมต้น เด็กจะต้องเรียนประมาณ 9-11 วิชา เพื่อจะได้รู้ว่าตัวเองชอบวิชาไหนหรือไม่ชอบวิชาไหนบ้าง จากนั้นในระดับ A-Level ซึ่งใช้เวลาเรียน 2 ปี ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย นักเรียนจะเลือกเรียนแค่ 3-4 วิชาที่จำเป็นต่อการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย เช่น สายธุรกิจ กฎหมาย แพทย์ เป็นต้น โดยช่วงนี้เด็กจะรู้แล้วว่าตัวเองถนัดและชอบอะไรมากที่สุด และได้โฟกัสในสิ่งเหล่านั้นอย่างจริงจัง เนื้อหาการเรียนช่วงนี้จะเข้มข้นมาก” 

ยิ่งกว่านั้น “ระบบการศึกษาของอังกฤษยังส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคม ซึ่งมหาวิทยาลัยจะใช้เรื่องนี้ประกอบการพิจารณาคัดเลือกนักศึกษาใหม่ด้วย” รวมทั้งมี “ห้องเรียนในอังกฤษมีนักเรียนประมาณ 12-15 คน ทำให้ครูสามารถดูแลนักเรียนได้อย่างทั่วถึง สามารถช่วยนักเรียนในการค้นหาความชอบของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น การเรียนในห้องจะกระตุ้นให้นักเรียนแสดงความคิดเห็น” แล้วแบบนี้จะมองว่าอังกฤษ “ด้อยพัฒนา” (ด้านจิตใจ) ได้อย่างไร
    ท่านเชื่อหรือไม่ในสังคม “ด้อยพัฒนา” ของอังกฤษนั้น เขาให้ความสำคัญเรื่องเพศ “ผู้ชายและผู้หญิงในประเทศอังกฤษจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน (การดูถูกหรือการกดขี่ทางเพศทำแทบไม่ได้ในอังกฤษ)

คนอังกฤษให้ความสำคัญกับการตรงต่อเวลามาก หากมีการนัดหมายหรือได้รับเชิญไปดินเนอร์ คุณควรไปให้ถึงตามกำหนดเวลาไม่ควรไปสายเด็ดขาด และในการไปดินเนอร์ที่บ้านเพื่อนนั้น โดยมารยาทแล้วคุณควรมีของขวัญเล็กๆ น้อยๆ (ไปด้วย)

คนอังกฤษส่วนใหญ่ก็ใจกว้างและยินดีต้อนรับชาวต่างชาติด้วยความเป็นมิตรไม่ว่าคุณจะมาจากประเทศไหน ก็สามารถเข้าร่วมสังคมกับพวกเขาได้อย่างสบายใจ

 
    มีข้อเขียนหนึ่งน่าสนใจว่าที่อังกฤษ น้ำประปาดื่มได้ (เมื่อก่อนที่ไทยก็ดื่มได้) ทิ้งกระดาษชำระในชักโครก (ไม่ใช่เอาใส่ถังเพราะแพร่เชื้อโรค) ครัวเรือนต้องแยกขยะ. . .

“อีกหนึ่งความผู้ดีอังกฤษนั่นคือการพูด “ขอบคุณ” นั่นเอง เป็นคำที่ได้ยินบ่อยมาก. . .ที่อังกฤษ ถ้าเราข้ามถนนบริเวณทางม้าลายที่เสาไฟกระพริบๆ รถทุกคันจะหยุดให้เราข้ามโดยอัตโนมัติ  (แทบไม่ต้องดูซ้ายดูขวาแบบไทย) คนขับรถเขาให้เกียรติคนเดินถนน ซึ่งเป็นมรรยาทที่ต่างกับในประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง
    หลายคนยังคงจำคำว่า “ผู้ดีอังกฤษ” ได้ ซึ่งลักษณะอย่างนี้ยังมีอยู่ทั่วไป ลักษณะของผู้ดีอังกฤษก็คือ “ความเป็นระเบียบเรียบร้อย พูดจาดี ขอโทษและขอบคุณจนเป็นนิสัย ตรงต่อเวลา และไม่ซอกแซกเรื่องส่วนตัวคือคุณสมบัติของผู้ดีแห่งเกาะอังกฤษ”  จริงอยู่ในทุกสังคมก็ย่อมมีคนมีคุณภาพสูงหรือไม่ก็ตาม ในอังกฤษก็มีพวกฮิปปี้ ฮูลิแกน พวกโลกที่ 4 (คนจนที่อพยพมาจากต่างประเทศ) พวกคนเร่ร่อน ฯลฯ แต่วัฒนธรรมอันดีงามก็ยังอยู่พอสมควร และจะไปปรามาสว่าอังกฤษมีคุณธรรม มีความเป็นมนุษย์น้อยกว่าไทย คงไม่ได้
    มีกรณีน่ารักน่ายกย่องมากมายในอังกฤษเหมือนกัน เช่น เรื่อง “จากมือหนึ่งสู่อีกมือหนึ่ง จากร้านเดิมไปยังร้านใหม่ กับปรากฏการณ์มหัศจรรย์เกิดขึ้นที่ร้านหนังสือเล็กๆ แห่งหนึ่ง!. . .ที่มีการเรียงแถวยาวริมถนนในย่านใจกลางเมืองของเซาแธมป์ตัน. . .เหล่าอาสาสมัครมากันกว่า 200 คน (รวมทั้ง) ขาจรบางรายก็ตัดสินใจเดินแทรกแถวเข้ามาช่วยกันคนละไม้คนละมือ การยืนเรียงกันเป็นแถวยาวบนทางเท้า ส่งต่อหนังสือจำนวน 2,000 กว่าเล่ม นั้นก็มีร้านอาหารใกล้เคียง ยังได้เอื้อเฟื้อชากาแฟร้อน ๆ มาบริการเหล่าอาสาสมัครด้วย จากมือหนึ่งสู่อีกมือหนึ่ง จากร้านเดิมไปยังร้านใหม่!” 
    เรารักความเป็นไทย แต่ต้องไม่ไปดูแคลนชาติอื่น โดยเฉพาะประชาชนในชาติที่ให้กำเนิด