เปิดแผนดึงต่างชาติลงทุนไทย เจาะกลุ่มเศรษฐี-ผู้เกษียณอายุ

เปิดแผนดึงต่างชาติลงทุนไทย เจาะกลุ่มเศรษฐี-ผู้เกษียณอายุ

เปิดเกณฑ์ดึงนักลงทุนต่างชาติศักยภาพสูง ผู้เกษียณที่รายได้ดี พำนักระยะยาวไทย 4 กลุ่ม เป้าหมาย 1 ล้านคน ให้สิทธิภาษีเงินได้ ที่ดิน วีซ่า 5 ปี ดันเงินเข้าระบบ 1 ล้านล้าน กระตุ้นลงทุน 7.5 แสนล้านบาท

สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศเริ่มดีขึ้นเมื่อดูจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันที่มีจำนวนลดลง ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลต้องเตรียมมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อเร่งผลักดันในช่วงที่สถานการณ์การระบาดคลี่คลาย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 14 ก.ย.2564 เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยดึงชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ โดยตั้งเป้า 5 ปี (2565-2569) มีชาวต่างชาติที่มีรายได้สูง นักลงทุน ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ผู้เกษียณอายุที่มีรายได้สูงจากบำนาญมาอาศัยในไทย 1 ล้านคน ส่งผลให้เงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจไทยเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท 

ทั้งนี้ มาตรการที่ ครม.เห็นชอบมีมาตรการที่เกี่ยวกับการออกวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว (Long-term resident visa) เพื่อรองรับผู้มีศักยภาพสูง 4 ประเภท ได้แก่

1.กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง โดยต้องมีเงินลงทุนขั้นต่ำ 5 แสนดอลลาร์ในพันธบัตรรัฐบาลไทย หรือลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) หรือลงทุนอสังหาริมทรัพย์ และมีเงินเดือนหรือเงินบำนาญขั้นต่ำปีละ 8 หมื่นดอลลาร์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งมีสินทรัพย์ขั้นต่ำ 1 ล้านดอลลาร์ 

2.กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ โดยมีเงินลงทุนขั้นต่ำ 2.5 แสนดอลลาร์ ในพันธบัตรรัฐบาลไทย หรือลงทุนทางตรงจากต่างประเทศหรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และมีเงินบำนาญขั้นต่ำปีละ 4 หมื่นดอลลาร์ หรือมีเงินบำนาญขั้นต่ำปีละ 8 หม่ื่นดอลลาร์ (กรณีไม่มีการลงทุน) 

3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทยโดยมีรายได้ส่วนบุคคล เช่น เงินเดือนหรือรายได้จากการลงทุนปีละ 8 หมื่นดอลลาร์ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาหรือปีละ 4 หมื่นดอลลาร์ หากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป, ครอบครองทรัพย์สินทางปัญญา, ได้รับทุนจาก Series A ที่เป็นการร่วมทุนในเวนเจอร์ฟันด์หรือสตาร์ทอัพ และมีประสบการณ์การทำงาน 5 ปีขึ้นไป

4.กลุ่มที่มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ โดยมีรายได้ปีละไม่น้อยกว่า 8 หมื่นดอลลาร์ในช่วง 2 ปีหรือปีละ 4 หมื่นดอลลาร์ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป และมีประสบการณ์การทำงานอย่างน้อย 5 ปีในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวระดับคุณภาพ เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหารคุณภาพสูง หุ่นยนต์ การบิน เชื้อเพลิงชีวภาพ ดิจิทัล และการแพทย์

ทั้งนี้ มาตรการที่สนับสนุน 4 กลุ่มดังกล่าวให้สิทธิทำงานพร้อมวีซ่า ให้คู่สมรสและบุตรได้รับวีซ่าผู้ติดตามไปพร้อมกันด้วย ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายได้จากต่างประเทศ รวมทั้งรายได้ที่นำเข้ามาในปีภาษีเดียวกัน ในอนาคตอาจได้รับสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์ในระยะยาวที่รวมทั้งที่ดิน 

สำหรับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญพิเศษที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้ได้รับสิทธิพิเศษเพิ่มเติมโดยเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่ากับชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือ เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 17% โดยในส่วนนี้มอบให้กระทรวงการคลังกำหนดรายละเอียด

นอกจากนี้ มีมาตรการการแก้ไขกฎหมายหรือกฎระเบียบเพื่อดึงชาวต่างชาติ ได้แก่ การกำหนดวีซ่าประเภทพิเศษตามโครงการ การสร้างระบบอำนวยความสะดวกให้รับอนุมัติวีซ่าได้เร็ว การให้สิทธิคู่สมรสและบุตรรับวีซ่าผู้ติดตาม ได้ยกเว้นไม่ต้องรายงานตัวทุก 90 วัน 

รวมทั้งอำนวยความสะดวกการแจ้งย้ายที่อยู่ การกำหนดวิธีการต่อวีซ่า และวิธีการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการเปลี่ยนแปลงสถานะการอยู่อาศัยในไทย ซึ่งให้ผู้ถือวีช่าทำงานได้ตามคุณสมบัติตามที่ได้ขอวีซ่าไว้ ไม่นำข้อกำหนดเกี่ยวกับอัตราส่วนการจ้างงานพนักงานไทยต่อต่างชาติมาใช้กับผู้ถือวีซ่าประเภทนี้ (หลักเกณฑ์จ้างงานต่างชาติ 1 คน ต่อคนไทย 4 คน)

นอกจากนี้ ได้สิทธิลดพิกัดอัตราอากรขาเข้าสำหรับสินค้าประเภทไวน์ สุรา และยาสูบประเภทไวน์ สุรา ยาสูบ และยาสูบประเภทซิการ์ ลงเกินกึ่งหนึ่งเป็นเวลา 5 ปี 

สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับจากมาตรการนี้คาคว่าจะดึงต่างชาติให้ย้ายมาพำนักในไทย 1 ล้านคน และมีเม็ดเงินจากการใช้จ่ายเบื้องต้นคนละ 1 ล้านบาท ช่วยชดเชยรายได้ท่องเที่ยวที่หายไปจากโควิด-19 โดยจะมีการใ้จ่ายเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท ที่เหลือเป็นการลงทุนและการเก็บภาษีที่เกี่ยวข้อง โดยมีการประมาณช่วง 5 ปี (2565-2569) ดังนี้ 

ปีงบประมาณ 2565 มี 1 แสนคน เพิ่มปริมาณเงินใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ 1 แสนล้านบาท เพิ่มปริมาณเงินลงทุนในระบบเศรษฐกิจ 75,000 ล้านบาท และเพิ่มรายได้ทางภาษี 25,000 ล้านบาท

ปีงบประมาณ 2566 มี 1.5 แสนคน เพิ่มปริมาณเงินใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ 1.5 แสนล้านบาท เพิ่มปริมาณเงินลงทุนในระบบเศรษฐกิจ 1.12 แสนล้านบาท และเพิ่มรายได้ทางภาษี 37,500 ล้านบาท

ปีงบประมาณ 2567-2569 มีปีละ 2.5 แสนคน เพิ่มปริมาณเงินใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ ปีละ 2.5 แสนล้านบาท เพิ่มปริมาณเงินลงทุนในระบบเศรษฐกิจ ปีละ 1.87 แสนล้านบาท และเพิ่มรายได้ทางภาษี ปีละ 62,500 ล้านบาท

นายธนกร กล่าวว่า โดยรวมแล้วนอกจากมีเงินจากการจับจ่ายใช้สอยของชาวต่างชาติในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านบาท จากชาวต่างชาติที่เข้ามาพำนักระยะยาวในไทย เพิ่มการลงทุนในประเทศ 8 แสนล้านบาท สร้างรายได้จากการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้น 2.7 แสนล้านบาท

“ไทยมีผู้เชี่ยวชาญเพียงพอให้ภาคธุรกิจที่มุ่งส่งเสริม ซึ่งสอดคล้องแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (2561-2580) ในประเด็นอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต และโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์และดิจิทัล”

ทั้งนี้ ครม.เห็นชอบตามที่ สศช.เสนอให้ประเมินผลสัมฤทธิ์ภาพรวมโครงการทุก 5 ปี รวมทั้งสิทธิประโยชน์ด้านภาษีและการถือของที่ดินให้สิ้นสุดหลังจากวันที่เริ่มบังคับใช้แล้ว 5 ปี รวมทั้งให้ประเมินมาตรการต่างๆ เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศก็พิจารณาขยายเวลาการบังคับใช้ออกไปได้ตามความเหมาะสม