ล็อคสเปค "แม่ทัพภาคที่1" ลากยาว "รัฐบาลประยุทธ์" 

ล็อคสเปค "แม่ทัพภาคที่1" ลากยาว "รัฐบาลประยุทธ์" 

การสร้างเครือข่าย วางตัวบุคคลตำแหน่งสำคัญใน "กองทัพ" หวังเป็นมือเป็นไม้ให้ "รัฐบาล" อาจไม่ทำให้ "พล.อ.ประยุทธ์" อยู่ครบเทอม แต่ให้ประคับประคองจนกว่าสถานการณ์คลี่คลาย การยุบสภา เลือกตั้งใหม่ อาจเป็นเรื่องต่อไปที่ถูกยกมาพิจารณา

นับเป็นความใฝ่ฝันของทุกรัฐบาลที่อยากอยู่ครบเทอม ไม่ใช่เฉพาะ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า พปชร. หลังทำสถิติให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งเก้าอี้ "นายกรัฐมนตรี" เข้าสู่ปีที่ 7 ยาวนานกว่าสมัยนายทักษิณ ชินวัตร  และใกล้เคียงยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ

แม้กระแสขาลงของ "พล.อ.ประยุทธ์" จะเป็นอุปสรรคสำคัญทำให้ความหวังของ "บิ๊กป้อม" ไปไม่ถึงเป้าหมาย แต่ความเชื่อของประชาชนส่วนใหญ่ที่ยังมองว่า สภาวะประเทศประสบปัญหาวิกฤติ "โควิด-19" ลากยาวมาเกือบ 2 ปี ไม่ใช่เรื่องดีแน่หากเกิดการเปลี่ยนแปลง สร้างเงื่อนไขต่ออายุรัฐบาลให้มีโอกาสกลับมาพลิกฟื้นเรียกความเชื่อมั่นอีกครั้ง

เห็นได้จากการจัดทัพวางตัวบุคคลในตำแหน่งสำคัญ ของการปรับย้ายนายทหารปีนี้ แม้บทบาทภายในกองทัพของ "พล.อ.ประยุทธ์" ถูกลดทอนลงในช่วง 2 ปีให้หลัง หากเทียบกับในอดีต "นายกรัฐมนตรี"ที่ควบตำแหน่ง "รมว.กลาโหม" มักจะมีอำนาจคัดเลือกตัว "ผบ.เหล่าทัพ" โดยเฉพาะ "ผบ.ทบ." 

แต่เมื่อยุคสมัยและบริบทที่เปลี่ยนไป พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้  ผบ.ทบ.คนปัจจุบันไม่ใช่สายตรงเครือข่ายพี่น้อง " 3 ป." และด้วยบุคลิกเป็นตัวของตัวเอง ไม่ยอมอยู่ภายใต้ "คอลโทรล"ของใคร กลายเป็นช่องว่างทำให้ "พล.อ.ประยุทธ์" จำต้องล็อคตำแหน่ง "มทภ.1" หลักประกันสร้างความมั่นคงให้กับรัฐบาล 

หากย้อนไปช่วงการโยกย้ายครั้งใหญ่เมื่อ ก.ย.ปี 2563 มีการปลี่ยนแปลง "ผบ.เหล่าทัพ" ยกแผง ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองสุดเข้มข้น ทั้งกระแสข่าวจ้องล้มรัฐบาล การปฏิรูปสถาบัน แต่อำนาจการเลือก "ผบ.ทบ." ก็ไม่ได้มาจาก "พล.อ.ประยุทธ์" จึงเกิดการต่อรองครั้งใหญ่กับ "บิ๊กแดง" พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.คนก่อน

จึงเป็นที่มาการเคาะชื่อ "บิ๊กต่อ" พล.ท.เจริญชัย หินเธาว์ (ตท.23) น้องรักสายทหารเสือราชินีของ "พล.อ.ประยุทธ์" ที่อยู่กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.)มาด้วยกัน นั่งตำแหน่ง "มทภ.1"คุมกำลังรบหลักสำคัญ

เช่นเดียวกับการโยกย้ายปีนี้ หลังราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้นายทหารรับราชการ สนองพระเดชพระคุณ จำนวนทั้งสิ้น 771 นาย ผู้รับสนองพระราชโองการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อค่ำวันที่ 14 ก.ย.2564

พลันก็ปรากฎชื่อ "บิ๊กโต" พล.ท. สุขสรรค์ หนองบัวล่าง (ตท.23)แม่ทัพน้อย1 สายบูรพาพยัคฆ์ น้องรัก "บิ๊กป้อม" เป็น "มทภ.1" เบียดคู่แข่ง "บิ๊กอ๊อฟ"  พล.ท.ทรงวิทย์ หนุนภักดี (ตท.24) รองเสธ.ทบ ลูกชาย พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี อดีต ผบ.ทบ. ที่ได้แรงหนุนจาก พล.อ.ณรงค์พันธ์ ต้องไปนั่งตำแหน่ง หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา กินอัตราพลเอก

และที่ต้องจับตา เครือข่ายสายบูรพาพยัคฆ์ อีกคน "บิ๊กหนุ่ย" พล.ต.ธราพงษ์ มาละคำ (ตท.24) รองแม่ทัพภาคที่ 1 ได้ขยับขึ้น "แม่ทัพน้อยที่ 1" เพื่อจ่อคิวเป็น "มทภ.1" ต่อไป

ขณะที่ความหวังเพียงหนึ่งเดียวของ "พล.อ
ประยุทธ์ " คือ "พล.ท.เจริญชัย" ในโผนี้ได้ขยับเข้าไลน์ 5 เสือ ทบ. นั่งตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผู้ช่วย ผบ.ทบ.) เตรียมต่อคิวเป็น ผบ.ทบ. ต่อจาก พล.อ.ณรงค์พันธ์ ที่เกษียณอายุราชการปี 2566 

ส่วนน้องรัก "พล.อ.ประยุทธ์"  อีกคน พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ(ตท.22)  รองเสธนาธิการทหารบก และ โฆษกกองทัพบก ได้ขยับเป็น "เสธ ทบ." มาพร้อมกับตำแหน่ง เลขา กอ.รมน.ช่วยงานด้านความมั่นคงให้รัฐบาลต่อไป

ทั้งนี้เห็นได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ต้องการใช้ "กองทัพ" เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนนโยบายต่างๆของรัฐบาลด้วยการสร้างเครือข่าย วางตัวบุคคลในตำแหน่งสำคัญ เพื่อเป็นมือเป็นไม้กู้ความเชื่อมั่นกลับคืนมา โดยเฉพาะการแก้ปัญหาโควิด-19 และงานด้านความมั่นคง 

แม้จะไม่ส่งผลให้ "พล.อ.ประยุทธ์" อยู่ครบเทอม แต่อย่างน้อยให้ "กองทัพ" ประคับประคองรัฐบาล ให้สามารถเดินหน้าเปิดประเทศ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ยกระดับรายได้ประชาชน จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย การยุบสภา จัดการเลือกตั้ง อาจเป็นเรื่องต่อไปที่ถูกยกมาพิจารณา