ถอดสูตรส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ "พรรคปัดเศษ" สูญพันธุ์?

ถอดสูตรส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์  "พรรคปัดเศษ" สูญพันธุ์?

ความพยายามในการรื้อระบบเลือกตั้งโดยเฉพาะสูตรคำนวนส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ยามนี้อาจทำให้บรรดา "พรรคปัดเศษ" ต้องสูญพันธุ์ในการเลือกตั้งครั้งหน้า?

หลังจากที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่.. ) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) ในวาระที่ 3 อย่างที่รู้กันว่า ขณะนี้ร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในช่วงไทม์ไลน์ทิ้งเวลา 15 วัน ก่อนนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อประกาศใช้ 

ทว่าประเด็นสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข นอกเหนือจากโมเดลเลือกตั้งที่จะต้องกลับไปใช้ “บัตร2ใบ” แล้ว อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญหนีไม่พ้น “สูตรคำนวณส.ส.” บัญชีรายชื่อหรือ “ปาร์ตี้ลิสต์” ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 91แห่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

โดยสูตรนี้ “ไพบูลย์ นิติตะวัน”  ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกมธ.แก้รัฐธรรมนูญ ยอมรับว่า ได้นำความมาจากมาตรา98 ตามรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2554 ยุครัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”

ที่กำหนดให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศ แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคการเมือง เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวม 

 

ฉะนั้นหากลองคำนวณคร่าวๆโดยยึดตามผลคะแนนเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี2562 พบว่า เวลานั้นคะแนนเสียงเลือกทุกพรรคการเมืองรวมกันมีจำนวนทั้งสิ้น 35,441,920 คะแนน เมื่อนำมาหารด้วยจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อตามโมเดลปัจจุบันคือ 100 คน จะได้สัดส่วน “354,419คะแนน” ต่อ“ส.ส.บัญชีรายชื่อ1คน”

นอกจากนี้หากไล่ลึกลงไปในรายพรรคพบว่า หากใช้โมเดลตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จะมีเพียง 11 พรรคที่ได้คะแนนพรรคตั้งแต่ 354,419 คะแนนขึ้นไป และเมื่อหารด้วยคะแนนพึงมีจะได้จำนวนปาร์ตี้ลิสต์แต่ละพรรคดังนี้ 

ถอดสูตรส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์  \"พรรคปัดเศษ\" สูญพันธุ์?

พรรคพลังประชารัฐ มีคะแนนพรรค 8,413,413 คะแนน หารคะแนนพึงมีจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 24 คน(จากเดิม18คน)

พรรคเพื่อไทย คะแนนพรรค 7,881,006 คะแนน หารคะแนนพึงมีจะได้ส.ส. 22 คน(จากเดิม 0 คน)

พรรคก้าวไกล หรือ อนาคตใหม่เดิม คะแนนพรรค 6,254,726 คะแนน หารคะแนนพึงมีจะได้ ส.ส.18 คน(จากเดิม50คน)

พรรคประชาธิปปัตย์ คะแนนพรรค 3,957,620 คะแนน หารด้วยคะแนนพึงมีจะได้ส.ส.11 คน (จากเดิม19คน)

พรรคภูมิใจไทย คะแนนพรรค3,734,055 คะแนน หารด้วยคะแนนพึงมีจะได้ส.ส.11 คน(จากเดิม12คน)  

พรรคเสรีรวมไทย คะแนนพรรค 822,240คะแนน หารด้วยคะแนนพึงมีจะได้ส.ส.2คน(จากเดิม10 คน)

พรรคชาติไทยพัฒนา คะแนนพรรค 783,607 คะแนน หารด้วยคะแนนพึงมีจะได้ส.ส.2คน(จากเดิม4คน)

พรรคเศรษฐกิจใหม่ คะแนนพรรค 485,574 คะแนน หารด้วยคะแนนพึงมีจะได้ส.ส.1คน(จากเดิม6คน)

พรรคประชาชาติ คะแนนพรรค 481,143 คะแนน หารด้วยคะแนนพึงมีจะได้ส.ส.1คน(จากเดิม1คน)

พรรคเพื่อชาติ คะแนนพรรค 419,121 คะแนน หารด้วยคะแนนพึงมีจะได้ส.ส.1คน (จากเดิม5คน)

และพรรครวมพลังประชาชาติไทย คะแนนพรรค 415,202 คะแนน หารด้วยคะแนนพึงมีจะได้ส.ส.1คน(จากเดิม4คน)

 

 

เมื่อเป็นเช่นนี้เท่ากับว่า อีก15 พรรคที่เหลือหรือที่เรียกว่าเป็น “พรรคปัดเศษ” ซึ่งการเลือกตั้งรอบที่แล้วได้คะแนนน้อยกว่าคะแนนพึงมีคือ 354,419คะแนนจะต้อง “สูญพันธุ์” ไร้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์นั่งในสภาฯไปโดยปริยาย

อ่านเกมแล้วไม่แปลกที่ความเคลื่อนไหวของบรรดา“พรรคเล็ก” ยามนี้จะเดินเกมขวาง ระบบเลือกตั้งบัตร2ใบและสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ ด้วยการเดินสายขอเสียงส.ส.ให้ครบ1ใน10หรือ73คน เพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญหวัง “เตะสกัด” โมเดลเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ื

ถอดสูตรส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์  \"พรรคปัดเศษ\" สูญพันธุ์?

ไม่ต่างไปจากพรรคขนาดกลางไม่ว่าจะเป็น ชาติไทยพัฒนา ภูมิใจไทย และก้าวไกล ที่แม้ก่อนหน้าที่จะยืนยันเสียงแข็ง “มันจบแล้วครับนาย” และจะไม่ร่วมกับพรรคเล็กในการยื่นศาลเพื่อตีความร่างรัฐธรรมนูญ 

ยามนี้พยายามเดินเกมฟื้น “ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม” หรือ MMP ซึ่งเคยถูกคว่ำในชั้นกมธ. สอดแทรกในกฎหมายลูกที่กำลังยกร่างขณะนี้ หวังเกลี่ยคะแนนปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มแต้มพรรคอีกทางหนึ่ง

ขณะที่ "2 พรรคใหญ่" คือพลังประชารัฐและเพื่อไทย รวมถึง "1พรรคกลาง" อย่างประชาธิปัตย์ในฐานะเจ้าของร่าง แม้ยามนี้จะดูเหมือนจะเป็นต่อจากกติกาที่จะเกิดขึ้น

ทว่าถึงเวลาจริงอาจต้องไปลุ้นที่คะแนน "ป๊อปปูล่าโหวต" ที่จะต้องไม่ต่ำเป้าไปจากรอบที่แล้วมากนัก 

โดยเฉพาะพลังประชารัฐในฐานะแกนนำรัฐบาล ที่เวลานี้กำลังเผชิญกับสภาวะคะแนนนิยมลดน้อยถอยลง จากนี้อาจต้องแก้เกมเร่งพลิกวิกฤติในการดึงคะแนนนิยมกลับคืนมา

ไม่ต่างไปจากพรรคเพื่อไทยซึ่งรอบแล้วใช้ยุทธศาสตร์"แตกแบงก์พัน" เกลี่ยคะแนนส.ส.เขต และปาร์ตี้ลิสต์ แต่ดันเจออุบัติเหตุการเมืองคือ พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ

มารอบนี้อาจต้องปรับเกมเลือกเดินหมาก "ส่งทุกเขต-เก็บทุกแต้ม" เพื่อโกยคะแนนพรรคตุนไว้ในมือให้ได้มากที่สุด

จากนี้คงต้องจับตา หากไม่มีอะไรสะดุด "โมเดลเลือกตั้ง" ที่ไม่ต่างอะไรกับ "เหล้าเก่าในขวดใหม่" จะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆนี้ 

เมื่อถึงเวลานั้นจะได้เห็นสัญญาณจากบรรดาพรรคการเมือง ในการ "ลั่นกลองรบ" สู่การชิงชัยในอนาคตอันใกล้