วิษณุเผยคืนอำนาจสธ.ใช้กม.โรคติดต่อคุมโควิด เล็งตั้งหน่วยงานใหม่แทนศบค.

วิษณุเผยคืนอำนาจสธ.ใช้กม.โรคติดต่อคุมโควิด เล็งตั้งหน่วยงานใหม่แทนศบค.

"วิษณุ" โยน "กฤษฎีกา" ถกแก้"พ.ร.บ.โรคติดต่อ" เพิ่มหมวด "สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข" ชี้ เมื่อประกาศใช้ "นายกฯ" เป็นประธาน ไม่ต้องยุ่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ศบค. จึงมีอยู่ไม่ได้ แย้มอาจมีหน่วยงานใหม่แทน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ถึงกรณี โครงสร้างของศบค. จะเป็นไปตามที่ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ฉบับแก้ไขหรือไม่ ว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นกฎหมายใหม่ หากอธิบายอะไรไปก็จะไม่เข้าใจ แต่ยืนยันว่าเราจะ มีกฎหมายโรคติดต่อฉบับใหม่ โดยจะมีหมวดที่พูดเรื่องสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โดยแยกออกมาจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ดังนั้น จึงไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงทำให้ ศบค.มีอยู่ไม่ได้ เพราะเป็นการตั้งตาม พ.ร.ก แต่อาจจะมีจัดตั้งหน่วยงานใหม่หรือไม่ยัง

ไม่ทราบและยังไม่ถึงเวลา

นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการคืนอำนาจให้กับสาธารณสุข ในการแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ทั้งหมดนั้น ยังไม่ถึงขนาดนั้น เวลามีโรคติดต่อเกิดขึ้นเป็นโรคติดต่อธรรมดา รมว.สาธารณสุข จะเป็นประธาน แต่เมื่อมีโรคติดต่อร้ายแรงเกิดขึ้น และมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข นายกรัฐมนตรีก็ต้องเป็นประธานแทน ที่ผ่านมาได้เรียนรู้มากว่า 1ปีว่า เมื่อเกิดขึ้นอันตราย เช่น โควิดขึ้นมาจะมีความเห็นวิชาการที่ขัดแย้งแตกต่างกันจึงเป็นเหตุผลที่ศบค.ต้องใช้เลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ทำให้เกิดกระแสโจมตีทหารและฝ่ายความมั่นคงมาบริหารทำไมไม่ใช้หมอ ซึ่งใช้ไม่ได้จะทะเลาะกันเองหมด เช่น ระหว่างแพทย์มหาวิทยาลัย แพทย์กระทรวง ก็จะมีความเห็นที่แตกต่างกัน รวมถึงแพทย์โรงพยาบาลของรัฐบาลและเอกชน รวมถึงแพทย์ระหว่างจังหวัด เพราะมีผู้ว่าฯ คนละคนกัน จึงใช้คนละมาตรฐาน และเมื่อเกิดโรคระบาดร้ายแรงจึงจำเป็นต้องใช้กำลังพลทหาร ตำรวจ รวมทั้งหน่วยอื่นร่วมด้วย ในส่วนนี้ หมอไหนๆก็ไม่มีปัญญาจะทำถึงเวลาทุกคนหนีหมด เพราะต้องใส่ชุดPPEไปตรวจรักษา ผู้ป่วย

นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ต้องจัดระบบใหม่หมดจะเรียกว่าคืนอำนาจให้กระทรวงสาธารณสุขหรือไม่นั้น ก็ถือว่าคืนให้ส่วนหนึ่ง แต่นายกรัฐมนตรี อาจจะเป็นประธานหรือ มอบหมายให้คนอื่นก็ได้ ขณะที่โครงสร้างกฎหมายใหม่ จะเป็นเหมือนกับ ศบค.หรือไม่นั้น พ.ร.บ.ไม่ได้ระบุแต่จะอยู่ในกฎหมายลูก เช่น กฎหมายมีการเขียนไว้สั้นๆว่า เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน นายกฯ อาจจะมีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาดำเนินการในเรื่องนี้ก็ได้ ส่วนในกฎหมายใหม่จะเรียกว่าอะไรก็ไม่รู้ ซึ่งต้องรอฟังกฤษฎีกาเพราะขณะนี้ยังไม่รู้ว่ามีกี่มาตรา