'พฤติกรรมคนไทย' เปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน ในยุคโควิด-19

'พฤติกรรมคนไทย' เปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน ในยุคโควิด-19

'สวนดุสิตโพล' เผยผลสำรวจ พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคนไทยในยุคโควิด-19 มากที่สุด คือ การไปร่วมงานสังสรรค์ต่างๆ กว่า 90.50% สะท้อนมาตรการคุมเข้มของภาครัฐในการห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม ขณะที่พฤติกรรมที่ไม่เปลี่ยน คือ การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่

'สวนดุสิตโพล' มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี “พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคนไทยในยุคโควิด-19” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,218 คน ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม – 2 กันยายน 2564 พบว่า

  • 'พฤติกรรมคนไทย' ที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงมากที่สุด

อันดับ 1 การไปร่วมงานสังสรรค์ต่าง ๆ ร้อยละ 90.50

อันดับ 2 การเดินทางท่องเที่ยว ร้อยละ 89.50

อันดับ 3 รับประทานอาหารนอกบ้าน ร้อยละ 87.25

อันดับ 4 ไปศาสนสถาน วัด โบสถ์ มัสยิด ฯลฯ ร้อยละ 86.75

อันดับ 5 เยี่ยมพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ร้อยละ 82.00

  • ส่วนพฤติกรรมที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลย 

อันดับ 1 การดื่มแอลกอฮอล์/สูบบุหรี่ ร้อยละ 55.48

อันดับ 2 สมัครบริการดูความบันเทิงต่างๆ แบบจ่ายเงิน ร้อยละ 39.86 

อันดับ 3 เสริมความงาม แต่งหน้า ตัดผม ร้อยละ 31.06

อันดับ 4 การช่วยเหลือกัน ความมีน้ำใจ การบริจาค ร้อยละ 29.44 

อันดับ 5 ความสนุก อารมณ์ขัน ร้อยละ 29.08

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

  • พฤติกรรมที่เกิดขึ้นใหม่

อันดับ 1 สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา การเลือกซื้อหน้ากากหลากหลายแบบมากขึ้น ร้อยละ 90.12

อันดับ 2 ทำอาหารรับประทานเอง ร้อยละ 60.41

อันดับ 3 เข้าร่วมมาตรการของภาครัฐ เช่น คนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งได้ ร้อยละ 57.51

อันดับ 4 ชำระค่าบริการต่างๆ ผ่านมือถือ ร้อยละ 54.77 

อันดับ 5 ดูแลสุขภาพ รับประทานวิตามิน อาหารเสริม ร้อยละ 51.20

  • ภาพรวมความพึงพอใจต่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป 

ค่อนข้างพึงพอใจ ร้อยละ 35.48

ไม่ค่อยพึงพอใจ ร้อยละ 27.79

ไม่พึงพอใจ ร้อยละ 21.84 

พึงพอใจ ร้อยละ 14.89

163081980891

สถานการณ์โควิด-19 บีบให้ประชาชนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ว่าจะพอใจหรือไม่ก็ตาม โดยเฉพาะพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว เช่น การใส่หน้ากาก ล้างมือ ทำอาหาร ฯลฯ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนต้องพึ่งตนเองระหว่างที่รอการบริหารจัดการของภาครัฐ ยิ่งไปกว่านั้นการที่ประชาชนไม่สามารถออกไป ทำกิจกรรมปฏิสังสรรค์กันได้ก็ยังส่งผลต่อสุขภาพจิต อีกทั้งยังกระทบต่อภาคเศรษฐกิจด้วย

จากผลสำรวจจะเห็นได้ว่าพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เช่น การไปร่วมงานสังสรรค์ การเดินทางท่องเที่ยว การรับประทานอาหารนอกบ้าน สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการคุมเข้มของภาครัฐในการห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคล ประชาชนจึงให้ความร่วมมือกับภาครัฐ แต่ยังพบว่ามีพฤติกรรมที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลย ได้แก่ การดื่มแอลกอฮอล์/สูบบุหรี่ ดูความบันเทิงแบบจ่ายเงินและเสริมความงาม

เนื่องจากเป็นพฤติกรรมส่วนบุคคลที่สามารถกระทำได้ในเคหะสถาน ของตนเอง โดยประชาชนได้มีพฤติกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น การสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา การดูแลสุขภาพของตนเอง เนื่องจากประชาชนตระหนักถึงอันตรายจากโรคโควิด-19 ปัจจัยเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าประชาชนได้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่จนเป็นปกติ หรือที่เรียกว่า (New Normal) ทั้งนี้ยังมีมิติทางสังคมที่สะท้อนลักษณะนิสัยของคนไทยที่แม้ว่าโควิด-19 จะทำให้พฤติกรรมของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปในหลายด้าน แต่ยังคงการช่วยเหลือกัน ความมีน้ำใจ และมีอารมณ์ขัน ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของคนไทย