ศึกในรัฐบาล- งูเห่าฝ่ายค้าน จับทิศ 2 ขั้วหัก“โหวตซักฟอก”

ศึกในรัฐบาล- งูเห่าฝ่ายค้าน จับทิศ 2 ขั้วหัก“โหวตซักฟอก”

แนวทาง-แนวโน้มการโหวต "ไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจ" ของพรรคการเมืองทั้งสองขั้ว เมื่อถึงเวลา จะมีปัจจัยใดมาแทรกหรือไม่ ในเมื่อระบบอุปถัมภ์ ในวัฒนธรรมการเมืองไทย เรื่อง “กล้วย” ไม่เคยหมดไป

ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในทุกครั้งที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า เนื้อหาการซักฟอกของ “ขั้วฝ่ายค้าน มักถูกวิพากษ์วิจารณ์หนัก หลังเห็นผลงานว่า ไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะโค่นล้มรัฐบาล 

ทั้งที่วาระอภิปรายไม่ไว้วางใจถือเป็นโอกาสสำคัญที่พรรคฝ่ายค้านจะดิสเครดิตรัฐบาล และทำคะแนนสะสมไว้สำหรับการเลือกตั้ง แต่สำหรับนักการเมืองบางส่วน ทั้งสองขั้วกลับถูกครหาว่าใช้เวทีซักฟอกต่อรองผลประโยชน์อย่างอื่น 

ขั้วรัฐบาลถูกครหาว่าพยายามล็อบบี้โหวต ฝ่ายค้านถูกแซะหนักถึงการเกี๊ยะเซี๊ยะขั้วรัฐบาล จนวาระซักฟอกถูกเปรียบเสมือนขุมทรัพย์ ของนักเลือกตั้ง เป็นนาทีทองที่โกยได้ต้องโกย จนกลายเป็นประเด็นไม่ไว้วางใจระหว่างฝ่ายค้านด้วยกันเอง จนกระทั่งเกิดปรากฎการณ์งดส่งข้อมูลให้วอร์รูมซักฟอก เพื่อตัดปัญหาถูกตลบหลัง รวมทั้งการนำข้อสอบไปเก็งกำไรในตลาดมืด

เมื่อเนื้อหาถล่มรัฐบาล ไม่เด็ด ไม่โดน และล้มนายกฯ ประยุทธ์ ไม่ได้ ความสนใจจึงเทไปที่เสียงโหวตไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจ ซึ่งตามธรรมเนียมแล้ว พรรคฝ่ายค้านที่ร่วมยื่นญัตติจะโหวตไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีที่ยื่นอภิปราย โดยมีแค่บางคนที่แหกมติ ซึ่งเป็นที่รู้กันอย่างเปิดเผยว่าเป็น “งูเห่า” ที่พรรคร่วมรัฐบาลฝากเลี้ยงไว้

โฟกัสหลักของศึกซักฟอกเวลานี้ จึงไม่ใช่ผลงานฝ่ายค้าน แต่สปอตไลท์การเมืองกำลังฉายมายังขั้วพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะความพยายามกดดัน พล.อ.ประยุทธ์ ให้ปรับคณะรัฐมนตรี โดยรอจังหวะหลังจากการอภิปรายฯ ครั้งนี้ เพราะมีนักการเมืองที่รอเสียบเก้าอี้ที่จะว่างลง และคนที่หวังได้เลื่อนชั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการ อาศัยสถานการณ์เพื่อเลื่อยขาเก้าอี้กันเอง

“กรุงเทพธุรกิจ” ตรวจสอบแนวทางการโหวตของแต่ละพรรคการเมือง เพื่อฉายภาพการแง่มุมการเมืองในศึกซักฟอก ก่อนต่อยอดไปสู่การปรับ ครม.

พรรคพลังประชารัฐ 118 เสียง มี 3 แนวทางโหวต 1.ยึดมติวิปรัฐบาล โหวตให้รัฐมนตรีทุกคนเท่ากันหมด 2.ส.ส. กลุ่ม “ผู้กองมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการพรรค พปชร. วางเกมหักดิบ “สุชาติ ชมกลิ่น” รมว.แรงงาน ให้ได้คะแนนบ๊วย เปิดทางบีบปรับ ครม. 3.กลุ่มดาวกฤษ์ ไม่ไว้วางใจ หรืองดออกเสียงให้ "อนุทิน-ศักดิ์สยาม" แกนนำพรรคภูมิใจไทย

โดยแนวทางการโหวตของ ส.ส.พปชร. ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านๆ มา ส่วนใหญ่ไม่แตกแถว ยึดมติวิปรัฐบาลโหวตให้ทุกคนอย่างพร้อมเพรียง แม้ศึกซักฟอกครั้งที่ผ่านมา กลุ่ม ส.ส.ดาวฤกษ์ จะแหกมติงดออกเสียงให้ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กรณีที่ดินเขากระโดง จนเป็นปัญหาระหว่างพรรคร่วม

ที่น่าจับตา ครั้งนี้สถานการณ์กำลังเปลี่ยน เมื่อกลุ่มของ “ผู้กองมนัส” ที่สามารถกำหนดทิศทางการลงมติได้ เพราะคุมเสียงได้ทั้งในพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเล็ก  จึงน่าจับตาว่า จะเลือกเปิดเกมให้ ส.ส.ในสังกัด โหวตสวนรัฐมนตรีจากพรรคเดียวกันเองหรือไม่ โดยเฉพาะ “สุชาติ” รมว.แรงงาน ที่ถือเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับกลุ่มของ “ผู้กองมนัส” และ วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล หรือไม่

หากเลือกเกมหัก “สุชาติ” ก็อาจถูกมาตรการของพรรคลงโทษ แต่ประเด็นนี้ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ของธรรมนัส ว่ากันว่า อาจทำให้เห็นเป็นพิธีเท่านั้น เพราะชั่วโมงนี้เป็นที่รู้กันดีในพลังประชารัฐว่า ใครมีอำนาจตัวจริง

ดังนั้น ทิศทางการโหวตของพลังประชารัฐ ส่วนใหญ่จะโหวตไปในทิศทางเดียวกัน จะมีกรณีที่ต้องวัดใจกันมากเป็นพิเศษ ก็คือกลุ่มดาวฤกษ์ กับ รัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย ที่เป็นจำเลยสังคมจากกรณีการบริหารจัดการโควิด วัคซีน และพฤติกรรมส่วนตัวของคนระดับรัฐมนตรี

กับอีกกรณี คือคนในพรรคเดียวกัน โดยเฉพาะก๊วนของ “ผู้กองมนัส” มีโอกาสจะโหวตไม่ไว้วางใจ “สุชาติ” แม้จะเพียงไม่กี่เสียง แต่ก็ส่งผลอย่างใหญ่หลวง ถ้าคะแนนไว้วางใจมาเป็นลำดับสุดท้าย และจะส่งผลต่อเสถียรภาพในตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างปฏิเสธไม่ได้

ภูมิใจไทย 61 เสียง แนวทางการโหวตค่อนข้างเป็นเอกภาพ โดยจะโหวตให้รัฐมนตรีในพรรคร่วมรัฐบาลทุกคน เพื่อรักษาเสถียรภาพของรัฐบาล แต่ปัญหาติดอยู่ที่ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ ที่อาจจะไม่โหวตให้ "อนุทิน ชาญวีรกุล" รองนายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เนื่องจากการแก้ไขสถานการณ์โควิดผิดพลาด 

ประเด็นที่ ส.ส.เขต ประชาธิปัตย์ คิดหนัก หากโหวตผ่านให้ เกรงจะส่งผลต่อคะแนนในพื้นที่ ดังนั้น จึงต้องลุ้นกันว่า “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” รองนายกรัฐมนตรี รมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะแก้ปัญหาลูกพรรคได้หรือไม่

ประชาธิปัตย์ 48 เสียง พร้อมเทคะแนนให้รัฐมนตรีพรรคร่วมทุกคน แต่ก็อาจมี 10 กว่าเสียง ที่ไม่โหวตไว้วางใจ “อนุทิน” ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น จะส่งผลให้พรรคภูมิใจไทยอาจโหวตสวน ไม่ไว้วางใจ  "เฉลิมชัย ศรีอ่อน" รมว.เกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์เช่นกัน

ดังนั้น “จุรินทร์-เฉลิมชัย” จึงต้องเดินสายเคลียร์กับ ส.ส.ปชป. ที่มีแนวคิดไม่โหวตให้ “อนุทิน” เป็นการด่วน เพื่อรักษาเสถียรภาพรัฐบาล และรักษาเอกภาพในการโหวต

ส่วนขาประจำ อาทิ “พนิต วิกิตเศรษฐ์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ “อภิชัย เตชะอุบล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ “อันวาร์ สาและ” ส.ส.ปัตตานี เตรียมโหวตสวนมติวิปรัฐบาลเช่นเดิม ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลรับรู้ปัญหาดี จึงไม่ถือโทษโกรธเคือง

สำหรับ พรรคชาติไทยพัฒนา 12 เสียง พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง พรรคพลังท้องถิ่นไท 5 เสียง พรรคเศรษฐกิจใหม่ 5 เสียง พรรคชาติพัฒนา 4 เสียง พร้อมโหวตตามมติพรรคร่วมรัฐบาล ไม่มีแตกแถว

พรรคเล็ก 11 พรรค รวม 12 เสียง อยู่ภายใต้ความดูแลของ “ร.อ.ธรรมนัส” หากสั่งกดปุ่มให้เลือกในทิศทางใด พร้อมเทเสียงตามใบสั่งโดยให้จับตาการโหวต “สุชาติ ชมกลิ่น” มากเป็นพิเศษ

สำหรับพรรคฝ่ายค้าน ทิศทางการโหวตค่อนข้างมีเอกภาพ มีเพียงบางพรรคที่มี “งูเห่า” ที่ต้องลุ้นว่าจะโหวตไว้วางใจรัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ แค่ไหน เนื่องจาก ส.ส.ฝ่ายค้านบางส่วน แม้ใจจะอยู่นอกพรรคต้นสังกัด แต่ไม่เปิดหน้าชัดเจนในขั้วรัฐบาล

พรรคเพื่อไทย 134 เสียง เกือบทั้งจะลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาล โดยจะมีเพียง น.ส.พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กทม. ที่โหวตสวนมติพรรคมาเกือบทุกครั้ง

ทว่าครั้งนี้ให้จับตา “พลภูมิ” อาจกลับลำไม่โหวตสวนมติพรรคอีก เพราะต้องรักษาฐานเสียงเอาไว้สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า ว่ากันว่าบุญคุณใช้คืนหมดแล้ว

พรรคก้าวไกล 54 เสียง  มี 4 เสียงหน้าเดิม ที่จะโหวตหนุนรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย เพราะรู้กันดีว่าเป็นกลุ่ม "ฝากเลี้ยง"  ประกอบด้วย ขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี คารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พีรเดช คำสมุทร ส.ส.เชียงราย เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย ส่วนที่เหลือไม่ไว้วางรัฐบาลไม่มีแตกแถว

พรรคประชาชาติ 7 เสียง มีเพียง อนุมัติ ซูสารอ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาชาติ ที่ออกตัวไปอยู่ขั้วรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว

พรรคเพื่อชาติ 5 เสียง มีเพียง อารี ไกรนรา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติ ที่ออกตัวชัด ไปอยู่ขั้วรัฐบาลเรียบร้อยแล้วเช่นกัน

ส่วนพรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคปวงชนไทย มีพรรคละ 1 เสียง หันหลังให้ขั้วรัฐบาล โหวตไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี แน่นอน

ทั้งหมดคือแนวทาง-แนวโน้มการโหวต "ไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจ" ของพรรคการเมืองทั้งสองขั้ว เมื่อถึงเวลา จะมีปัจจัยใดมาแทรกหรือไม่ ในเมื่อระบบอุปถัมภ์ ในวัฒนธรรมการเมืองไทย เรื่อง “กล้วย” ไม่เคยหมดไป