ชำแหละ 2 ขั้ว "14 พรรคเล็ก" ปั่นเกมถอนตัว-เลือกข้าง

ชำแหละ 2 ขั้ว "14 พรรคเล็ก" ปั่นเกมถอนตัว-เลือกข้าง

ความเคลื่อนไหวของการเมือง ที่พยายามกดดัน ให้ "พรรคร่วมรัฐบาล" ถอนตัว ดูแล้วจะเป็นเพียงแค่เกมกระพือข่าว ขยับประเด็น โหมไปสู่เวทีซักฟอกของฝ่ายค้าน เท่านั้น

       การเรียกร้องให้ “พรรคร่วมรัฐบาล” ถอนตัวจากรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ที่เริ่มจาก “มวลชนต้านประยุทธ์” นอกสภาฯ ถูกนำมาขยายและเคลื่อนไหวภายในสภาฯ นับตั้งแต่พรรคเพื่อไทยเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะ “ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์-ชาติไทยพัฒนา” แสดงความไม่ยอมรับ ผ่านการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล

       ล่าสุดจาก “มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์” พรรคไทยศรีวิไลย์ ที่เบนความเคลื่อนไหวมาทาง “พรรคเล็กร่วมรัฐบาล" ให้ตัดสินใจ "ถอนตัว” ด้วยเหตุผลสำคัญคือ ความล้มเหลวด้านการแก้ปัญหาโควิด-19

       ความเป็นไปได้ในขณะนี้คงยาก เพราะแม้กลุ่มพรรคเล็ก 14 พรรค จะแยกขั้ว แต่ผู้ปกครองของกลุ่ม คือผู้ที่ขึ้นตรงกับ “ผู้มีบารมีในทำเนียบรัฐบาล”

       ยามนี้ กลุ่มของพรรคเล็กมี 2 ขั้ว คือ “ขั้วพรรคปัดเศษ 9 พรรค” ซึ่งมี ส.ส.พรรคละ 1 คน ได้แก่ พรรคไทรักธรรม พรรคเพื่อชาติไทย พรรคพลเมืองไทย พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคพลังชาติไทย พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคประชาธรรมไทย และพรรคครูไทยเพื่อประชาชน

162820574610

       

       ขั้วนี้มี “พิเชษฐ สถิรชวาล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย เป็นตัวแทนกลุ่ม มี 9 ส.ส.ในสังกัด และมีคนดีลกับขั้วรัฐบาล คือ “สัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์” ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลเมืองไทย

       อีกขั้ว คือ “พรรค 2-6 เสียง” ได้แก่ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคชาติพัฒนา พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ และพรรคพลังท้องถิ่นไท มีส.ส.รวม 22 คน สำหรับขั้วนี้ พบการแยกเป็น 3 สายที่ไม่ขึ้นต่อกัน แต่มีเอกลักษณ์ในทำนองเดียวกัน คือ “สนับสนุนรัฐบาล” ไม่ว่าจะอยู่ในภาวะไหนก็ตาม

       ในกลุ่มพรรคเล็ก มีประเด็นต้องวิเคราะห์ถึงอนาคตทางการเมืองที่จะเสียประโยชน์จากการแก้ระบบเลือกตั้ง ใช้บัตร 2 ใบในการเลือกตั้งรอบหน้า ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดจึงต้องหาพรรคใหม่ยึดเกาะ และแน่นอนว่าความได้เปรียบคือพรรคในขั้วรัฐบาลที่สะสมเสบียงไว้พร้อม

       ดังนั้นจึงไม่มีประโยชน์ที่พรรคเล็กจะหักหาญน้ำใจ ประกาศถอนตัวมาเป็นฝ่ายค้าน สู้ดองกันไว้ในยามนี้ เพื่อประโยชน์ทางการเมืองในอนาคตจะดีกว่า

       อย่างไรก็ดี ในมุมของ “คอการเมือง” มีบทวิเคราะห์กันว่า พรรคร่วมรัฐบาลไม่ควรถอยฉากจากรัฐบาลไปตอนนี้ เพราะเมื่อดูเสียงในสภาฯ แล้วไม่สามารถย้ายขั้วรวมข้างที่ทำให้อีกฝั่งกลายเป็น “ผู้กุมเสียงข้างมากได้เบ็ดเสร็จ” ดังนั้น หากพรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว ทางเดียวที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้นคือ “การเปิดช่องให้ยึดอำนาจ”

       เพราะตามสถานการณ์โควิดที่ยังวิกฤติ หากไร้รัฐบาลจะไม่มีกลไกที่มีอำนาจมากพอจะแก้ปัญหา ต่อให้ “รัฐธรรมนูญ” เปิดช่องให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่รักษาการรัฐบาลได้ แต่ไม่มีอำนาจมากพอสั่งการ-แก้ปัญหา-เยียวยา และจะทำให้เกิดสุญญากาศของการคลี่คลายวิกฤติโควิด-19

162820577151

       เมื่อเป็นเช่นนั้น ประตูของการยึดอำนาจจะเกิดขึ้น เพื่อเข้ามารักษาเสถียรภาพของการแก้ปัญหาโควิด-19 และระงับการรเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นตามช่องทาง และกลไกที่รัฐธรรรมนูญกำหนด โดยอาจใช้ข้ออ้าง สถานการณ์ระบาดของไวรัสร้ายแรงทั่วประเทศไม่เหมาะอย่างยิ่งต่อการหาเสียงเลือกตั้ง

       อีกทั้ง ความเคลื่อนไหวของคู่ต่อสู้ทางการเมือง ที่กระพือแรงสั่นคลอนรัฐบาล ผสมโรงจากปัญหาโควิด-19 ที่ทำไม่สำเร็จ หากปล่อยให้จัดการเลือกตั้ง เชื่อแน่ว่าขั้วรัฐบาลจะเพลี่ยงพล้ำ ไม่ชนะในเกมเลือกตั้ง

       ดังนั้นความเคลื่อนไหวในซีกพรรคเล็กโดย “ส.ส.มงคลกิตต์” จึงเป็นเพียงแค่การเกาะกระแสม็อบ เคลื่อนไหวกระพือข่าว เล่นเกมถอนตัว เลือกข้าง ไปจนกว่าจะถึงเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจแค่นั้น.