'ก้าวไกล' ย้ำ4จุดยืนแก้รธน. เตือนแก้เกินหลักการเสี่ยงตีความ

'ก้าวไกล' ย้ำ4จุดยืนแก้รธน. เตือนแก้เกินหลักการเสี่ยงตีความ

'ก้าวไกล' ย้ำ4จุดยืนแก้รธน. เตือนแก้เกินหลักการเสี่ยงตีความ

ที่รัฐสภา ส.ส.พรรคก้าวไกล นำโดย นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก  และนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อในในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่...) พ.ศ.... แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และ มาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง รัฐสภา ร่วมแถลงจุดยืนของพรรคก้าวไกลต่อวาระประชุมร่วมรัฐสภา

โดยนายปดิพัทธ์ ระบุถึงวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยกติกาการเลือกตั้ง และญัตติด่วนขอให้รัฐสภาวินิจฉัยตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา สองเรื่องมีความซับซ้อนในกระบวนการและเนื้อหามาก และมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในหลายส่วน โดยเฉพาะข่าวที่ว่าพรรคก้าวไกลขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ และต้องการรักษาผลประโยชน์ของพรรคตัวเองไว้ ด้วยกติกาการเลือกตั้งแบบใบเดียว นี่เป็นข้อกล่าวหาที่ไม่จริง ดังนั้นเพื่อความชัดเจนในจุดยืนของพรรค และเพื่อให้ทุกฝ่าย ติดตามการประชุมรัฐสภาได้เข้าใจมากขึ้น พรรคก้าวไกลจึงขอแถลงและอธิบายจุดยืนในการเข้าประชุม คือ

1.พรรคก้าวไกลสนับสนุนการแก้ไขกติกาการเลือกตั้งให้ใช้บัตร 2 ใบ และไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมกลายพันธุ์ตามรัฐธรรมนูญ 60 อันเป็นปัญหาทางการเมืองและความไม่สง่างามของรัฐสภาในปัจจุบัน

2.พรรคก้าวไกลเสนอให้ปรับปรุงกติกาการคำนวณคะแนนของรัฐธรรมนูญปี 40 ที่เหมือนกับแบบที่พรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทยเสนอ เพราะถึงจะเป็นการส่งเสริมความมั่นคงของพรรคการเมือง แต่ชัดเจนในข้อเท็จจริงว่าเป็นการคำนวณคะแนนที่เบี่ยงเบน ไม่สะท้อนเสียงที่ถูกต้องของประชาชนที่ลงคะแนน และเอื้อประโยชน์ให้เกิดเสียงข้างมากเบ็ดเสร็จ สร้างข้อได้เปรียบมากเกินไปให้กับพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ลดทอนการแข่งขันที่เป็นธรรม (อ้างอิงจากเอกสารประกอบการพิจารณา ฝ่ายวิชาการรัฐสภา)

3.พรรคก้าวไกลเสนอการคำนวณจำนวนเก้าอี้ ส.ส.ด้วยระบบจัดสรรปันสัดส่วนที่ถูกต้อง เพื่อให้จำนวนเก้าอี้ ส.ส.มีจำนวนตรงกับจำนวนคะแนนของพรรคที่ได้รับในการเลือกตั้ง ระบบนี้จะก่อให้เกิดความเป็นธรรม สะท้อนเจตจำนงของประชาชนได้อย่างถูกต้อง ป้องกันการเกิดเสียงข้างมากเบ็ดเสร็จ และทำให้การเลือกตั้งเป็นกระบวนการสร้างฉันทามติในบริบทของสังคมไทยที่มีความขัดแย้งทางการเมืองนอกสภา

4.พรรคก้าวไกลยืนหยัดในความถูกต้องชอบธรรมของกระบวนการนิติบัญญัติ เนื่องจากร่างหลักในการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการนั้น กรรมาธิการจำนวนมากและนักวิซาการทางกฎหมาย ได้ชี้ประเด็นที่บกพร่องมากมายในร่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนหลักการไว้แคบมากให้แก้ไขเพียง 2 มาตรา เหตุผลประกอบหลักการที่ขัดแย้งในตัวเอง กระบวนของกรรมาธิการเสียงข้างมากที่หยิบเอามาตราที่รัฐสภามีมติไม่เห็นชอบไปแล้วในวาระที่ 1 นำมาเพิ่มในชั้นกรรมาธิการ การเพิ่มเติมและตัดมาตราอื่นๆที่ไม่ได้อยู่ในหลักการ และอื่นๆดังจะได้อภิปรายในญัตติด่วนต่อไป การกระทำเช่นนี้ทำลายหลักความถูกต้องของกระบวนการนิติบัญญัติ สร้างบรรทัดฐานใหม่ที่จะเป็นแหล่งอ้างอิงที่อันตรายมากในอนาคต สุมเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ

ดังนั้นพรรคก้าวไกลนำโดย นายธีรัจชัย จึงได้เสนอญัตติด่วนให้รัฐสภาวินิจฉัยเสียก่อน และ นายรังสิมัน โรม ได้เสนอการแปรญัตติสงวนความเห็นในมาตรา 83 และ 91 เท่านั้น เพื่อเป็นทางออกให้กับรัฐสภาแห่งนี้ แก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศอย่างถูกต้อง รอบคอบที่สุด