สรุปภาวะสินค้าเกษตรประจำสัปดาห์วันที่ 9-13 สิงหาคม 2564

สรุปภาวะสินค้าเกษตรประจำสัปดาห์วันที่ 9-13 สิงหาคม 2564

ราคาสินค้าเกษตรสัปดาห์นี้ ส่วนใหญ่ทรงตัว ยกเว้นข้าวโพดและข้าวลดลง

ข้าวโพด : ราคาลดลง

          ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ไซโลโรงงานอาหารสัตว์ ปรับตัวอ่อนลง จากหาบละ 627 บาท เป็นหาบละ 609 บาท เนื่องจากมีผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น

          ด้านตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รอบส่งมอบเดือนกันยายน 2564 ราคาอยู่ที่ 549.50 เซนต์/บุชเชล เป็นราคาที่ทรงตัว โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำฝนจะเพิ่มขึ้นในพื้นที่เพาะปลูกโดยรอบขณะที่ข้าวโพดกำลังเจริญเติบโต ก่อนที่อุณหภูมิจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งเดือนหลัง

          แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวโพดในประเทศน่าจะยืนอ่อน

 

ถั่วเหลือง : ราคาทรงตัว

          กากถั่วเหลืองจากเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้า ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 18.60 บาท เนื่องจากการเพาะปลูกที่ประเทศบราซิลคาดว่าผลผลิตต่อไร่จะลดลง ขณะที่ปริมาณซื้อในตลาดสัปดาห์ที่ผ่านมายังค่อนข้างน้อย แต่มีความเป็นไปได้ว่าจะเริ่มมีปริมาณการซื้อมากขึ้นโดยเฉพาะจากประเทศจีน เนื่องจากในตลาดมองว่าราคา ณ ปัจจุบันอาจจะถึงจุดที่ต่ำที่สุดแล้ว ส่วนค่าระวางเรือทั่วโลกยังคงสูงทรงตัว

          ด้านตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 10 สิงหาคม 2564 เมล็ดถั่วเหลือง รอบส่งมอบเดือนสิงหาคม 2564 ราคาอยู่ที่ 1,447.50 เซนต์/บุชเชล และกากถั่วเหลือง รอบส่งมอบเดือนสิงหาคม 2564 ราคาอยู่ที่ 360.30 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ช็อตตัน ราคาขยับตัวขึ้นเล็กน้อย โดยถั่วเหลืองที่คุณภาพอยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมากไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำฝนที่น้อยกว่าที่คาดการณ์ในพื้นที่แถบตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีความกังวลว่าอาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของถั่วเหลืองได้ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ ด้านนักวิเคราะห์คาดการณ์ผลผลิตและสต็อกถั่วเหลืองฤดูกาล 2564/65 ปรับตัวต่ำลงกว่าเดือนปัจจุบัน

           แนวโน้ม : คาดว่าราคาถั่วเหลืองนำเข้าน่าจะทรงตัว

 

ปลาป่น : ราคาทรงตัว

          สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เป็นผู้ซื้อหลัก ยังมีปริมาณการซื้อหน้าท่าเรือทรงตัวในระดับสูง ส่วนสต็อกหน้าท่าเรือปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากปลาป่นจากประเทศเปรูเริ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาปลาป่นโดยรวมทรงตัว

          โดยปลาป่นเกรดกุ้ง ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 48.00 บาท ส่วนปลาป่นเบอร์ 1 เกรดที่สูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 42.70 บาท และปลาป่นเกรดที่ต่ำกว่า 60 โปรตีน ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 40.20 บาท

          ด้านปลาป่นคุณภาพรองลงมา ปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ราคากิโลกรัมละ 39.70 บาท ส่วนปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 56 แต่ไม่เกิน 60 ราคากิโลกรัมละ 37.20 บาท

           แนวโน้ม : คาดว่าราคาปลาป่นน่าจะทรงตัว

 

ข้าว : ราคาลดลง

          ราคาซื้อขายข้าวตลาดต่างประเทศในสัปดาห์นี้ ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ส่งออกท่าเรือกรุงเทพฯ เอฟ.โอ.บี. ลดลงจากตันละ 415  ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นตันละ 411  ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ส่งออก เอฟ.โอ.บี. ลดลงจากตันละ 357  ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นตันละ 354  ดอลลาร์สหรัฐฯ

          ด้านตลาดซื้อขายข้าวในประเทศ ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ยืนราคาที่กระสอบละ 1,230 บาท ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ณ โรงงานอาหารสัตว์ ราคาทรงตัวที่กระสอบละ 1,040 บาท

          แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวน่าจะทรงตัว

 

สุกร : ราคาทรงตัว

           สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ประกาศราคาสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์ม ณ วันพระที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 68-78 บาท โดยปริมาณผลผลิตเนื้อสุกรในขณะนี้ยังคงสมดุลกับความต้องการบริโภค

           ส่วนลูกสุกรน้ำหนัก 16 กิโลกรัมต่อตัว ราคาอยู่ที่ 2,100 บาท (บวก/ลบ 68)

           แนวโน้ม : คาดว่าราคาสุกรน่าจะทรงตัว

 

ไก่เนื้อ : ราคาทรงตัว

          สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ประกาศราคาแนะนำไก่เนื้อหน้าฟาร์ม ที่ราคากิโลกรัมละ 30 บาท  ด้านลูกไก่เนื้อ ราคาตัวละ 7.50 บาท และลูกไก่ไข่ ราคาตัวละ 28.00 บาท

          ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยอาหาร จึงมีนโยบายสนับสนุนให้ผู้ประกอบการทำบับเบิลแอนด์ซีล (bubble and seal) ตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรคควบคู่ไปกับการดำเนินการตามมาตรการของกรมปศุสัตว์อย่างเข้มงวดตลอดห่วงโซ่การผลิต

          แนวโน้ม : คาดว่าราคาไก่เนื้อน่าจะยืนอ่อน

 

ไข่ไก่ : ราคาทรงตัว

            สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ ยังคงตรึงราคาแนะนำไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร ที่ฟองละ 3.00 บาท ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด โดยปริมาณไข่ไก่มีพียงพอต่อผู้บริโภคไม่มีปัญหาขาดแคลน ขณะเดียวกันกรมปศุสัตว์ได้ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ยืดอายุการปลดแม่ไก่ยืนกรงออกไปจากเดิมปลดที่ 75 สัปดาห์ เป็นปลดที่ 85-90 สัปดาห์ จะทำให้มีไข่ไก่เข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น เพียงพอต่อความต้องการบริโภคของประชาชนที่เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

            แนวโน้ม : คาดว่าราคาไข่ไก่น่าจะยืนแข็ง

--------------------------------------

ที่มา : สื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
โทรศัพท์ : 02-766-7343-5
E-mail : [email protected]