'กพอ.' รื้อแผนลงทุน 5 ปี ดันยอด ‘อีอีซี’ ปีละ 6 แสนล้าน

'กพอ.' รื้อแผนลงทุน 5 ปี  ดันยอด ‘อีอีซี’ ปีละ 6 แสนล้าน

การขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ช่วงที่ผ่านมา ทำให้การลงทุนในภาคตะวันออกเพิ่มขึ้นทั้งโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนของเอกชน ซึ่งมีการลงทุนเร็วกว่ากำหนดและมีปัจจัยที่มีผลทำให้ต้องปรับแผนการลงทุนในอีอีซี

คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวัออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วานนี้ (4 ส.ค.) รับทราบความคืบหน้าการลงทุนในอีอีซีทั้งโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนเอกชน ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมา ลงทุนรวม 1.6 ล้านล้านบาท จากเป้าหมายจะลงทุนไม่น้อยกว่า 1.7 ล้านล้านบาท ในปี 2565 แต่ลงทุนแล้ว 94% ของเป้าหมาย เร็วกว่ากำหนด 

ทั้งนี้ การลงทุนในอีอีซีตามแผนเดิมอาจสูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท เพราะยังรอการลงทุนอีกไม่น้อยกว่า 6 แสนล้านบาท จากอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะลงทุนเพิ่มขึ้นปีละ 1 แสนล้านบาท รวมถึงเมืองอัจฉริยะ 4 แสนล้านบาท ทำให้ สกพอ.ปรับแผนการลงทุนอีอีซี 5 ปีข้างหน้า เพิ่มเป้าหมายจากปีละ 3-4 แสนล้านบาท เป็น 5–6 แสนล้านบาท ซึ่งรวมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งช่วยเพิ่มจีดีพี 2% ช่วยให้จีดีพีรวมเติบโต 4-5%

สำหรับแผนดึงดูดการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในอีอีซีระยะต่อไปมี 4 อุตสาหกรรมสำคัญที่เดินหน้าแล้ว และจะลงทุนเพิ่ม ได้แก่

1.อุตสาหกรรม 5G และดิจิทัล นำร่องโครงการ 5G เมืองพัทยาและเทศบาลบ้านฉาง ซึ่งทำงานร่วมกับเอกชน เช่น บริษัทหัวเหว่ย ซึ่งต่อไปจะขยายพื้นที่และใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบ 5G ในโรงงาน 10,000 แห่ง การลงทุนลักษณะนี้จะทำให้เกิดลงทุนเพิ่ม 1 แสนล้านบาท

2.อุตสาหกรรมการแพทย์ ซึ่งจะเป็นพื้นที่รองรับการลงทุนที่เกี่ยวข้องการพัฒนาวัคซีน จีโนมิกซ์ การแพทย์แม่นยำที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะดึงการลงทุนนอกเหนือกลุ่มที่จะย้ายฐานการผลิตเข้ามา

3.อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จะเติบโตเร็ว โดยมีแผนยกระดับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค โดยมีการโครงสร้างพื้นฐานรองรับ EV ซึ่งปีนี้จะติดตั้งสถานีประจุไฟฟ้า 100 จุด และปีหน้าเพิ่มอีก 200 จุด

4.อุตสาหกรรมที่เชื่อมโยง BCG ซึ่งกำหนดส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น โดยให้การผลิตไฟฟ้าในอีอีซีต้องใข้พลังงานสะอาดไม่ต่ำกว่า 30%

162824398674  

สำหรับความคืบหน้าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีได้ผู้ร่วมลงทุน 4 โครงการหลัก มูลค่ารวม 633,401 ล้านบาท เกิดการลงทุนในปี 2564 มูลค่า 26,588 ล้านบาท และมีการลงทุนตลอดเวลาที่เหลือของโครงการ 6.06 แสนล้านบาท

โครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ยังไม่ลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับ กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ที่ประกอบด้วย บริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (กลุ่ม ปตท.) ,บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด

ทั้งนี้ กพอ.รับทราบความคืบหน้าผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะ 3 ส่วนท่าเทียบเรือ F ตามที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ส่งร่างสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา ซึ่งจะลงนามได้ใน ส.ค.นี้ โดยท่าเรือ F1 เสร็จปี 2568 และท่าเรือ F2 เสร็จปี 2572 จากนั้นจะเปิดประมูลท่าเรือ E

โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก จัดทำแผนแม่บทสนามบินฉบับสมบูรณ์ พร้อมว่าจ้างผู้ออกแบบระดับโลก (SOM) และกองทัพเรือออกแบบทางวิ่ง 2 แล้ว ส่วนงานปรับถมดินทางขับระยะที่ 1 คืบหน้า 80.53% ส่วนงานสาธารณูปโภค สกพอ.ได้ส่งมอบพื้นที่ให้บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้ดูแลระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น และบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ "อีสท์วอเตอร์" ผู้ดูแลงานระบบประปาและบำบัดน้ำเสีย เพื่อเตรียมในขณะที่งานบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน ได้ผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือก คือ กิจการร่วมค้า BAFS-OR  

นอกจากนี้ กิจกรรมพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมการบิน (ATZ) สกพอ.ทำแผนแม่บทที่มีกิจกรรมสำคัญ เช่น ศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ศูนย์บริการอุปกรณ์ภาคพื้น และศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรทักษะชั้นสูงด้านอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งการลงทุน MRO ล่าช้า โดยเฉพาะบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่กำลังฟื้นฟูกิจการ ซึ่งยังคงพื้นที่ให้การบินไทย 103 ไร่ หากต้องการลงในอนาคต

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) กพอ.เห็นชอบแก้ปัญหาซ้อนทับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ซึ่งใช้โครงสร้างโยธาร่วมกัน แต่เวลาการก่อสร้างและมาตรฐานเทคนิคไม่สอดคล้องกัน

ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว สกพอ. กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะเจรจาเอกชนคู่สัญญาทำข้อเสนอการแก้ไขสัญญาร่วมทุน เพื่อให้เอกชนเร่งก่อสร้างช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง โดยจะเจรจาให้เอกชนรับพื้นที่และเริ่มงานก่อสร้างโยธาให้ได้มาตรฐานเร็วกว่ากำหนด เพื่อให้โครงการรถไฟไทย-จีน ใช้เส้นทางดอนเมือง-บางซื่อได้ภายในเดือน ก.ค.2569 รวมทั้งเอกชนคู่สัญญาจะรับผิดชอบออกแบบและก่อสร้างงานโยธา รวมงานทางวิ่งของโครงการรถไฟไทย-จีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง

162824382525

ทั้งนี้ยึดข้อตกลงทั้งมาตรฐานและระยะเวลาของรถไฟไทย-จีนเป็นหลัก เพื่อแก้ปัญหาความไม่สอดคล้องระยะเวลา และด้านเทคนิคให้รองรับทั้ง 2 โครงการ โดยจะหาแนวทางร่วมกับเอกชนคู่สัญญาในส่วนการปรับหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนของรัฐ เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นกับเอกชนคู่สัญญาอย่างเหมาะสม โดยยึดหลักไม่ให้เกิดงบประมาณเพิ่มเติม และแผนก่อสร้างทั้ง 2 โครงการมีประสิทธิภาพสูงสุด