ข้อปฏิบัติตรวจ'โควิด19'ด้วย'ATK'เองผลเป็นบวก

ข้อปฏิบัติตรวจ'โควิด19'ด้วย'ATK'เองผลเป็นบวก

สธ.ย้ำข้อปฏิบัติกรณีตรวจโควิด19ด้วยATKเองผลเป็นบวก ระบุแก๊สทางการแพทย์ยังไม่มีปัญหา เตรียมพร้อมรับกรณีฉุกเฉิน เปลี่ยนระบบผลิตแก๊สอุตสาหกรรมมาเป็นผลิตแก๊สทางการแพทย์ได้

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่  6 สิงหาคม 2564 ในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด 19 ประเด็นแนวทางปฏิบัติ การตรวจด้วยชุดตรวจATK สู่ระบบ Home Isolation(HI) และCommunity Isolation(CI) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การตรวจหาโควิด 19 ด้วยชุดตรวจAntigen test Kit หรือ ATK หากผลเป็นบวก ทางระบาดวิทยาจะเรียกว่า ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย โดยการตรวจ ATKได้ 3 ลักษณะ คือ  ที่รพ.จะรับตัวผู้ติดเชื้อเข้าข่ายเข้ารพ.เอง 2.ตรวจเชิงรุก จะมีการตรวจหน้างาน จะขึ้นทะเบียนผู้ป่วยไว้เลย แล้วสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)จะเก็บข้อมูลไปเพื่อไปจับคู่คลินิกชุมชนอบอุ๋น หรือรพ.หรือศูนย์บริการสาธารณสุขของกทม.เพื่อทำการแยกกันตัวที่บ้าน(Home Isolation หรือ HI) หรือ การแยกกักในชุมชน(Community Isolation หรือ CI)

           และ 3.ตรวจด้วยเอง ถ้าเป็นการตรวจได้ผลบวกจากชุดตรวจATKที่ได้รับการรับรองจากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) สามารถถ่ายรูปผลการตรวจ และรับบริการ โดยโทรไปที่สายด่วนสปสช. 1330  หรือแอดไลน์ที่สปสช.กำหนด  และจะมีระบบรองรับให้เร็วที่สุด เบื้องต้นภายใน 24-48 ชั่วโมงหรือไปที่เว็บไซต์ของสปสช.ก็ได้ เพื่อเข้าระบบการประเมินคัดกรองและเข้ารับดูแลรักษาแบบHIหรือCIหากอยู่ในเกณฑ์ที่ดำเนินการได้ นอกจากนี้ ยังสามารถสอบหถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ประจำเขตในกทม.ทั้ง 50 เขตตามที่กทม.ได้กำหนดด้วย ส่วนกรณีมีปัญหาฉุกเฉินเร่งด่วน โทร 1669  

        

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงการยกระดับเตียงสีเขียว ให้เป็นเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยอาการสีเหลือง ว่า ขณะนี้มีการเปิดขออนุญาตมา 137 แห่ง แต่ดำเนินการจริงประมาณ 115 แห่ง มีเตียงประมาณ 4 หมื่นเตียง ตามนโยบายเรารู้ว่าผู้ป่วยอาการเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลืองมากขึ้น ดังนั้นจึงให้ผู้รับชอบมีการปรับปรุงมาตรฐานจากเดิมที่รับเฉพาะสีเขียว ก็ให้ปรับประมาณ 10% ของเตียงสีเขียวมาเป็นเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยอาการสีเหลือง ทำให้ตอนนี้เรามีเตียงสีเหลืองในฮอทพิเทลประมาณ 4 พันกว่าเตียง ก็แบ่งเบาภาระรพ.หลักออกไป โดยมีการนำออกซิเจนเข้าไป มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มมากขึ้น

เมื่อถามว่าเนื่องจากมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในส่วนของออกซิเจน และถังออกซิเจนมีเพียงพอหรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า ผู้ป่วยเมื่อมีอาการมากขึ้น กลุ่มอาการสีเหลือง สีส้ม และสีแดง จำเป็นต้องใช้ออกซิเจนในการบำบัด ประคับประคอง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขตระหนักถึงเรื่องนี้ จึงได้ตั้งคณะทำงานบริหารจัดการแก๊สทางการแพทย์ ร่วมกันกับทั้งฝั่งผู้ใช้ รพ. มหาวิทยาลัยต่างๆ และฝั่งผู้ผลิต บริษัทผลิตออกซิเจนเหลวขนาดใหญ่ รวมทั้งกลุ่มขนส่ง มาหารือร่วมกัน โดยสรุปอัตราป่วยขณะนี้ กับปริมาณออกซิเจนเหลว ที่ใช้ทางการแพทย์ยังเพียงพอ

อย่างไรก็ตามมีการประชุม มีบางเรื่องที่เห็นว่ามีปัญหา ทำให้การให้บริการแก๊สทางการแพทย์ยังไม่สมบูรณ์ จึงเสนอให้ปรับแก้ไขแล้ว เช่น รถขนส่งแก๊สเพื่อไปเติมในรพ.สนาม หรือรพ.ต่างๆ ในกทม. และปริมณฑล ซึ่งติดปัญหาขึ้นทางด่วน ทางศบค.ก็อนุญาตให้การทางพิเศษปรับให้สะดวกขึ้น เรื่องต่อมาคือเวลาการเข้าพื้นที่ชั้นในของกทม. ได้มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติไปปรับแก้กฎระเบียบนี้แล้ว รวมทั้งคิดว่าอุปกรณ์บางชนิดที่ให้บริการทางการแพทย์  เช่น ถังออกซิเจนขนาดเล็ก หรือเกออกซิเจน หรือเครื่องทำออกซิเจน เนื่องจากเป็นวัสดุที่ต้องนำเข้า จึงให้อย.กำหนดให้เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่ต้องเร่งรัดในการอนุญาต เป็นฟาสแทรกซ์ 

“ขณะนี้ให้มีความมั่นใจว่ามีคณะทำงานติดตามชุดหนึ่ง ที่ทำร่วมกับผู้ผลิต จัดส่ง และการอนุญาตนำเข้าเพื่อดูเรื่องการใช้ไม่ให้ขาด ซึ่งขณะนี้ยังเพียงพอ และยังมีการเตรียมการสำหรับอัตราผู้ป่วยสูงสุดด้วย ว่าเราจะสามารถปรับเปลี่ยนระบบแก๊สทางการแพทย์ที่ผสมกันระหว่างแก๊สทางอุตสาหกรรม และแก๊สทางการแพทย์ ให้เลี่ยนมาผลิตแก๊สทางการแพทย์ได้อีกระดับหนึ่ง คล้ายระบบสำรอง” นพ.ธเรศ กล่าว.