‘ลาว’ ขอ ‘ไทย’ ขยายกรอบรับซื้อไฟแตะ 10,200 เมกะวัตต์

‘ลาว’ ขอ ‘ไทย’ ขยายกรอบรับซื้อไฟแตะ 10,200 เมกะวัตต์

ลาว เสนอขอขยายกรอบ MOU รับซื้อไฟฟ้าไทย-ลาว เพิ่มอีก 1,200 เมกะวัตต์ รวมเป็น 10,200 จากกรอบเดิม 9,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ปัจจุบัน มีสัญญาแล้วราว 6,000 เมกะวัตต์

น.ส.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะโฆษก กฟผ. เปิดเผยว่า หลังจาก กฟผ.ได้รับมอบหมายจากกระทรวงพลังงานให้ไปจัดลำดับการรับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนในประเทศลาว โดยเบื้องต้น ขณะนี้ทางกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ของประเทศลาว และกระทรวงพลังงานของไทย อยู่ระหว่างหารือร่วมกันถึงความเป็นไปได้ที่จะขยายปริมาณการรับซื้อไฟฟ้า หลังจากทางลาว ได้เสนอขอขยายปริมาณขายไฟฟ้าให้กับไทยเพิ่มเป็น 10,200 เมกะวัตต์ หรือ เพิ่มขึ้นอีก 1,200 เมกะวัตต์ จากกรอบข้อตกลงความร่วมมือ(MOU)การซื้อไฟฟ้าไทยและลาว ปัจจุบัน กำหนดไว้ที่ปริมาณ 9,000 เมกะวัตต์

“เรื่องนี้ ยังไม่มีข้อสรุป เข้าใจว่าทางกระทรวงพลังงานของไทย และลาว กำลังหารือร่วมกันอยู่ และไม่ได้กำหนดกรอบว่าจะต้องรับซื้อภายในปีไหน”

162822343581

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทางลาว ได้เสนอขอขายไฟฟ้าพลังน้ำเข้ามาหลายโครงการ โดยทางกระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งการจะซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ยังคงยึดตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1) ซึ่งโรงไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านจะเข้าสู่ระบบเพิ่มเติม ก็เป็นช่วงประมาณปี 2569-2570 แต่การจะซื้อไฟฟ้าแต่ละโครงการนั้น ก็จะมีระยะเวลาเตรียมการล่วงหน้าประมาณ 5-7 ปี

ดังนั้น แผนการรับซื้อไฟฟ้าจากลาวเพิ่มเติม ก็คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ เพราะจะเกี่ยวโยงกับการจัดทำร่างแผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan) ที่จะแล้วเสร็จในปลายปีนี้ และจะนำไปสู่การปรับปรุงอีก 5 แผนปฏิบัติการด้วย คือ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP ) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan ) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ซึ่งจะเสร็จสมบูรณ์ในช่วงกลางปี 2565

“ลาว เสนอโครงการเข้ามาแล้ว หลายโครงการ เกินกรอบที่กำหนดไว้ แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจ ก็ดูๆอยู่ ยังปีหลายประเด็นที่ต้องสอบถามความพร้อมของลาว ซึ่งก็เป็นรายละเอียดความเป็นไปได้ของแต่ละโครงการ เพราะบางโครงการทำไปแล้ว ติดปัญหาสิ่งแวดล้อม ก็พยายามข้อมูลเพิ่มเติมอยู่”

162822344993

อย่างไรก็ตาม หากแผนรับซื้อไฟฟ้าไทย-ลาว มีความชัดเจนแล้ว ก็จะต้องดำเนินการตามกระบวนการต่อไป คือ การนำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เพื่อพิจารณาอนุมัติ

ทั้งนี้ ตามกรอบข้อตกลงความร่วมมือ(MOU)การซื้อไฟฟ้าไทยและลาว ปริมาณ 9,000 เมกะวัตต์ ปัจจุบัน มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้วประมาณ 6,000 เมกะวัตต์ ซึ่งยังเหลือรับซื้อตามกรอบอีกราว 3,000 เมกะวัตต์

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา ลาวได้ยื่นเสนอขายไฟฟ้าให้กับไทย เพิ่มเติมอีกประมาณ 10 โครงการ ซึ่งได้มอบหมายให้ กฟผ.ไปจัดลำดับความสำคัญของแต่ละโครงการ และอาจต้องปรับปรุงประสิทธิสายส่งไฟฟ้าให้พร้อม ซึ่งอาจจะต้องลงทุนขยายสายส่งในบางพื้นที่จาก 115-230 เควี เป็น 500 เควี

ก่อนหน้านี้ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุว่า การจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ ที่มุ่งไปสู่พลังงานสะอาดมากขึ้นนั้น ในส่วนแผนรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศเช่น พลังน้ำ หากมองในเรื่องของการช่วยเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด ก็มีโอกาสรับซื้อเพิ่มขึ้นได้ ทั้งในรูปแบบการซื้อขายไฟฟ้าพลังน้ำจากลาว ส่งไปกัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ หรือ เมียนมา เป็นต้น

ซึ่งเดิมที ไทยกับเมียนมา ได้เจรจาร่วมกันในเรื่องนี้ แต่ติดปัญหาการเมืองในเมียนมา ดังนั้น เมื่อสถานการณ์ในเมียนมาดีขึ้น ก็มีโอกาสที่จะกลับมาเดินหน้าเจรจากันต่อเป็นต้น