อย่าลอยแพ!! วิกฤตนศ.ติดโควิด ร้องอว.ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยตั้ง'ศูนย์พักคอย'

อย่าลอยแพ!! วิกฤตนศ.ติดโควิด ร้องอว.ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยตั้ง'ศูนย์พักคอย'

เครือข่ายเยาวชน ร้องอว.ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยตั้ง 'ศูนย์พักคอย' รองรับนักศึกษาและประชาชนที่ติดโควิด-19 พร้อมเรียกร้องผู้บริหารมหาวิทยาลัยเร่งทำงานเชิงรุก ออกแบบกลไกช่วยเหลือ อย่าลอยแพนักศึกษา ขอผู้ประกอบการช่วยลดค่าหอพัก ไม่รังเกียจ

นายธนวัฒน์  ป่ากว้าง ประธานกลุ่มเมล็ดพันธุ์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง พร้อมด้วย นายธนเดช  ใจสบาย ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนปกป้องสิทธิ และแกนนำเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง  เข้ายื่นหนังสือถึง ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์  รมว.กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผ่านทางผู้แทน เพื่อเรียกร้องมาตรการช่วยเหลือนิสิตนักศึกษา จากวิกฤตโควิด-19 พร้อมแสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์  นศ.ติดโควิดนอนห่มผ้า กินมาม่า ชูป้ายขอความช่วยเหลือ

  • นศ.ร้องเดือนร้อนจาก โควิด -19 อย่างหนัก

นายธนเดช  กล่าวว่า ขณะนี้นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง  และมหาวิทยาลัยอื่นๆได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤตโควิด-19 อย่างหนักเช่นกัน จากการลงพื้นที่พบปะเพื่อนพี่น้องนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง

พบว่า หลายรายติดเชื้อโควิด-19 มีทั้งหายแล้ว และยังรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือกลับไปรักษาตัวที่บ้านต่างจังหวัด ที่น่าห่วงคือ หลายคนยังรอคอยความหวังการช่วยเหลือ ตอนนี้ต้องรักษาตัวเองอยู่ภายในหอพัก อพาร์ทเม้นท์ บ้านเช่า และจำนวนมากที่เป็นกลุ่มเสี่ยง

สัมผัสใกล้ชิดต้องกักตัวดูอาการ สิ่งที่ทางกลุ่มทำได้ คือ ส่งข้าว ส่งน้ำ ของใช้จำเป็นไปให้ จากวิกฤติความทุกข์ยากของเพื่อนๆนักศึกษา เรากลับพบว่า มหาวิทยาลัยยังนิ่งเฉย ไม่มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยา ปล่อยให้นักศึกษาต้องโดดเดี่ยวเผชิญกับปัญหาตามลำพัง ทั้งที่ควรเป็นที่พึ่งให้แก่นักศึกษา

  • 'เครือข่ายเยาวชน'เปิดข้อเสนอช่วยเหลือตั้ง 'ศูนย์พักคอย'

เพราะมีทั้งทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ทางการแพทย์ มีงบประมาณ หรือเร่งประสานความร่วมมือกับองค์กรหน่วยงานเพื่อแก้ไขปัญหา  ซึ่งเข้าใจว่าสถานการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะ ม.รามคำแหง  เชื่อว่ายังมีอีกหลายมหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีความชัดเจน

นายธนวัฒน์  กล่าวว่า  จากวิกฤตนักศึกษาติดโควิดที่เกิดขึ้น กลุ่มเครือข่ายฯ ขอแสดงจุดยืนและข้อเสนอต่อ รมว.อว.ดังนี้

1.ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยจัดตั้ง ศูนย์พักคอย ระหว่างรอส่งตัวผู้ป่วยโควิด-19 เนื่องจากมีความพร้อมด้านอาคารสถานที่ บุคลากร และยานพาหนะที่สามารถปรับเป็นรถพยายาบาลรับ-ส่งผู้ป่วย เป็นต้น

2.ขอเรียกร้องให้ทุกมหาวิทยาลัยอย่านิ่งเฉย เร่งออกแบบกลไกช่วยเหลือนักศึกษา เช่น ทำฐานข้อมูลกลุ่มเสี่ยง หรือที่กำลังกักตัวอยู่ในหอพัก อพาร์ทเม้นท์ หรือบ้านเช่า สนับสนุนยารักษา อุปกรณ์การตรวจ อุปกรณ์ป้องกัน อาหารและสิ่งของจำเป็น 

162789047177

3.เป็นเจ้าภาพหลักระดมความร่วมมือจากผู้ให้บริการหอพัก อพาร์ทเม้นท์ และบ้านเช่า  ลดหย่อนค่าที่พักที่อาศัยเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายแก่นักศึกษาและผู้ปกครอง

4. ขอวิงวอนให้เพื่อนนิสิตนักศึกษา ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังขั้นสูงสุด  และช่วยกันเป็นหูเป็นตา  เฝ้าระวัง และไม่รังเกียจผู้ที่ติดเชื้อ ช่วยเหลือกันตามกำลัง 

5.ขอชื่นชมมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งที่ไม่นิ่งเฉยต่อวิกฤติเชื้อโควิด-19 เปิดพื้นที่มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์พักคอย รวมทั้งมาตรการอื่นๆที่จัดทำขึ้นเพื่อบรรเทาความเดือนร้อน และขอให้กำลังใจให้เจ้าหน้าที่ บุคลากร อาสาสมัคร หน่วยงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการฝ่าฟันกับปัญหานี้

  • เร่งออกมาตรการช่วยเหลือ นักศึกษาที่ติดเชื้อ

ด้านนายพัชรพงศ์  แก้วพัฒ  นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า ตรวจเชื้อโควิด-19 วันที่ 22 ก.ค. พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อติดต่อหน่วยงานต่างๆ รวมถึงมหาวิทยาลัยเพื่อขอรับการช่วยเหลือ แต่ก็ไร้วี่แวว ซึ่งช่วงที่ต้องกักตัวรอการรักษามันทรมานมาก และกังวลว่าคนในหอพักเดียวกันจะหวาดระแวงและรังเกียจ 

อีกทั้งเป็นห่วงความรู้สึกของพ่อแม่ แต่สุดท้ายยังโชคดีที่ได้รับการส่งตัวไปรับการรักษายังจังหวัดบ้านเกิด

อยากฝากว่า ขอให้ทุกคนต้องระมัดระวังตัวให้มาก อย่าประมาท และขอวอนไปยังมหาวิทยาลัยให้เร่งออกมาตรการช่วยเหลือนักศึกษาที่ติดเชื้อ หรืออยู่ในช่วงของการกักตัวอย่าทอดทิ้งพวกเขา ต้องช่วยเหลือเยียวยา เพราะวิกฤตนี้มันใหญ่เกินที่นักศึกษาจะต่อสู้โดยลำพัง ควรมีพื้นที่กลางในการติดต่อสื่อสาร ให้เข้าถึงความช่วยเหลือไม่ใช่เงียบลอยแพลูกศิษย์แบบนี้