แตกแดง-แดงแตก ‘เต้น’แยก‘ตู่’ตั้งองค์กรใหม่

แตกแดง-แดงแตก ‘เต้น’แยก‘ตู่’ตั้งองค์กรใหม่

มีแนวโน้มสูงที่ “ณัฐวุฒิ” จะจัดตั้ง “องค์กร” ขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้ขับเคลื่อนทางการเมือง สะสมมวลชน-สะสมพลัง ให้เป็นฐานทางการเมืองของ “นายเก่า-นายใหม่” บาลานซ์มวลชนรุ่นเก่า-รุ่นใหม่เข้าด้วยกัน

การออกมาร่วมชุมนุมคาร์ม็อบของ “เต้น” ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ทำให้บรรยากาศการชุมนุมครึกครื้นขึ้นมาก เพราะชื่อของ “ณัฐวุฒิ” สามารถเรียกมวลชน-แฟนคลับให้เข้าร่วมได้

แถมสุ้มเสียง-ลีลาการปราศรัย ดึงดูดให้ชวนฟัง แถมยังชูภาพเสมือนการรวบรวมแนวร่วม ฝั่งที่เรียกตัวเองว่าฝั่งประชาธิปไตย ให้ดูมีพลังมากยิ่งขึ้น

ฝั่งประชาธิปไตยจึงหวังให้ “ณัฐวุฒิ” มาเข้าร่วมขบวนเดียวกัน เพื่อมาช่วยเป็นหัวขบวน-ตัวชูโรง

หากย้อนไปในช่วงที่ “ณัฐวุฒิ” พ้นโทษใหม่ๆ ออกมาประกาศจุดยืนชัดเจนว่า พร้อมเดินเคียงข้าง “คนหนุ่มสาว” และทนไม่ไหวที่แกนนำผู้ชุมนุมโดนฟ้องร้องดำเนินคดี มาตรา 112

เมื่อ “ณัฐวุฒิ” ออกมาประกาศจุดยืน ได้รับเสียงตอบรับจากกลุ่มผู้ชุมนุม-แฟนคลับในโซเชียลมีเดียอย่างอื้ออึง แถมมีเสียงเชียร์หนาหูให้ออกมาเดินนำคนหนุ่มสาว แต่ขณะนั้นเจ้าตัวยังเก็บตัวเงียบ รอประเมินสถานการณ์

แตกต่างจาก ตู่ “จตุพร พรหมพันธุ์” ประธาน นปช. ที่แม้จะพยายามรีแบรนด์ตัวเองตั้ง “กลุ่มไทยไม่ทน” ชูธงไล่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม แต่ “จตุพร” ประกาศชัดเจนว่ามีธงแค่ไล่ “บิ๊กตู่” ไม่เลยธงไปถึงขั้นเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ ทำให้มวลชน-แฟนคลับหายเกลี้ยง

“จตุพร” นัดชุมนุมม็อบไทยไม่ทนหลายครั้ง เริ่มตั้งขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเคลื่อนพลมาทำเนียบรัฐบาล การชุมนุมแต่ละครั้งตีปี๊บเสียงดัง แต่ถึงวันนัดหมายจริง แทบไม่มีพลัง

ขณะที่ “ณัฐวุฒิ” ออกลูกกั๊กไม่ตอบเต็มปากว่าจะร่วมเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันฯหรือไม่ ทำให้ “แกนนำม็อบเยาวชน” ไม่ออกหน้าพุ่งหอกโจมตี ตรงกันข้ามกลัับรักษาไมตรีเอาไว้ เพื่อมาช่วยขับเคลื่อนขบวนการด้วยกัน

ทว่า “ณัฐวุฒิ” มีภาพของ นปช.ปักติดหลัง ส่วน “จตุพร” ตำแหน่งยังเป็นหัวหอก นปช. 

หลังจากนี้ ให้จับตา “ณัฐวุฒิ” ที่จะถอนตัวจาก นปช.อย่างเป็นทางการ ประกาศตัว ตัดขาดทุกความเคลื่อนไหวของ นปช.

มีแนวโน้มสูงที่ “ณัฐวุฒิ” จะจัดตั้ง “องค์กร” ขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้ขับเคลื่อนทางการเมือง สะสมมวลชน-สะสมพลัง ให้เป็นฐานทางการเมืองของ “นายเก่า-นายใหม่” บาลานซ์มวลชนรุ่นเก่า-รุ่นใหม่เข้าด้วยกัน