ปี 64 'วัคซีนโควิด' 100 ล้านโดส 3กลุ่มฉีด'ไฟเซอร์'ก่อน

ปี 64 'วัคซีนโควิด' 100 ล้านโดส  3กลุ่มฉีด'ไฟเซอร์'ก่อน

สธ.เผยปี 64ไทยลงนามสัญญาซื้อวัคซีโควิด 19 แล้ว 100 ล้านโดส ใน 3 ชนิด แผนฉีด 10 ล้านโดสต่อเดือน เชื่อพอจะให้ดำเนินการมาตรการป้องกันโรคโควิด19ขณะนี้ เผย 3 กลุ่มเป้าหมายรับวัคซีนไฟเซอร์ก่อน

         เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่  20 ก.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงสถานการณ์โควิด19 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า  เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2564 กรมควบคุมโรคได้ลงนามในสัญญาจัดหาวัคซีนโควิด19 ชนิด mRNA จำนวน 20 ล้านโดส กับบริษัทไฟเซอร์ (ประเทศไทย)ตามที่ครม.อนุมัติให้กรมดำเนินการลงนามในสัญญา โดยในสัญญาจะเป็นการจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ ชนิด mRNA จำนวน 20 ล้านโดส โดยกำหนดการตามแผนที่มีการวางไว้จะส่งมอบในไตรมาส 4 นอกจากนี้ ประเทศสหรัฐอเมริกาก็จะมีการส่งมอบวัคซีนไฟเซอร์ให้กับประเทศไทยเบื้องต้น 1.5 ล้านโดสเป็นการบริจาคซึ่งจะมาปลายเดือนนี้ จะทำให้การฉีดวัคซีนนี้ได้ครอบคลุมประชาชนมากขึ้น ทำให้การควบคุมโรคดียิ่งขึ้น จากนั้นสำหรับปี 2565 ก็จะมีการเจรจาหาวัคซีนมาเพิ่มเติมต่อไป   

        “ประเทศไทยมีการลงนามในสัญญาซื้อวัคซีนกับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า  61 ล้านโดส มีการจัดหาวัคซีนซิโนแวค 19 ล้านโดส และวัคซีนไฟเซอร์ ยอดรวมขณะนี้ที่มีการจองซื้อ มีสัญญาส่งมอบประมาณ 100 ล้านโดสภายในปี 2564 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ความต้องการการฉีดวัคซีนของประชาชนมีมาก สธ.จะดำเนินการจัดหามาเพิ่มเติมต่อไป ส่วนการส่งมอบวัคซีนแอสตร้าฯ เบื้องต้นที่ทางบริษัทแอสตร้าฯ แจ้งมาผ่านหลายช่องทางว่าจะสามารถจัดหาวัคซีนให้กับประเทศไทยประมาณเดือนละ 5-6 ล้านโดสเป็นเบื้องต้น ส่วนจะได้มากกว่าหรือน้อยกว่าขึ้นอยู่กับกำลังผลิต ถ้ากำลังการผลิตเพิ่มขึ้นก็จะส่งให้มากขึ้น  ”นพ.โอภาสกล่าว   

      

   

 นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการฉีดวัคซีนในประเทศไทยกำหนดเดือนต่อไปจะต้องฉีดให้ได้อย่างน้อยอีก 10 ล้านโดส จำเป็นต้องมีการจัดหาวัคซีนมาเพิ่มเติม หลังจากมีการเจรจากับไฟเซอร์รวมถึงมีการนำเข้าวัคซีนจากแหล่งต่างๆ เชื่อว่าปริมาณการฉีดประมาณ 10 ล้านโดสต่อเดือน พอจะให้ดำเนินการในมาตรการป้องกันโรคโควิด19ในขณะนี้ได้

กลุ่มเป้าหมายฉีดไฟเซอร์

 นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า  วัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐอเมริกา 1.5 ล้านโดส จะมาถึงไทยปลายเดือนนี้  โดยจะเริ่มต้นฉีดได้ช่วงเดือนส.ค. ในการจัดสรรฉีดวัคซีนกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขและความเห็นชอบจาก ศบค. กำหนดดังนี้ 1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโควิด หรือผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกันที่ฉีดไปแล้ว 2 เข็ม จะมีการกระตุ้นเข็ม 3 หรือ บูสเตอร์โดส 2.กลุ่มผู้สูงอายุ หรือกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ระบาด และ3. ชาวต่างชาติที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ระบาด เป็นต้น

 

“ในขั้นตอนการจัดการทางกระทรวงสาธารณสุขได้สอบถามข้อมูล ให้แต่ละจังหวัดแจ้งยอดมาว่า ในแต่จังหวัดมีกลุ่มบุคลการทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ที่ทำงานใกล้ชิดและเสี่ยงสูงให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการสอบถามข้อมูล ดังนั้น ที่มีข่าวว่า มีหลายรพ.ส่งข้อมูลไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย จะมีการสอบทานเข้าไปเพื่อให้ได้กลุ่มเป้าหมายที่ตรง จึงขอเรียนว่า จะฉีดให้กับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าเป็นอันดับแรกก่อน ดังนั้น บางหน่วยงานที่ไม่เข้าใจ และส่งยอดผิด จะไม่จัดสรรตามนั้นจะเป็นหน้าที่คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร/จังหวัด จะตรวจสอบข้อมูลและแจ้งมายังส่วนกลางต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว