ไขว้วัคซีนโควิด19 ไม่ใช่ 'ซิโนแวค'ไม่มีประสิทธิภาพ 

ไขว้วัคซีนโควิด19 ไม่ใช่ 'ซิโนแวค'ไม่มีประสิทธิภาพ 

สธ.เผยผลใช้ "ซิโนแวค"พื้นที่จริงไทย มีประสิทธิผลป้องกันติดเชื้ออัลฟา ส่วนเดลตาอยู่ระหว่างติดตาม ช่วงมิ.ย.ประสิทธิผลยังคงที่ แจงปรับสูตรฉีดวัคซีนโควิด19สลับชนิด ไม่ใช่ซิโนแวคไม่มีประสิทธิภาพ เร่งเตรียมการล่วงหน้าเพิ่มระดับภูมิ เหตุผลห้องแล็ปพบลดลง

       เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 19 ก.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงสถานการณ์โควิด19 นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวถึงการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนโควิด19 ที่มีการใช้จริงในประเทศไทยว่า เมื่อพูดถึงวัคซีนมีประสิทธิผลมากหรือน้อย จะดูจากผลการศึกษาในห้องปฏิบัติการหรือในการทดลองก่อนการนำมาใช้หรือเป็นผลจากการนำมาใช้จริงในภาคสนามจริงเมื่อมีโรคโควิด19 ระบาด ซึ่งก่อนที่จะมีการเลือกวัคซีนมาใช้ต้องพิจารณาทั้งด้านความปลอดภัยและประสิทธผลจากการทดลองจริงในพื้นที่หรือเรียกว่าระยะที่ 3  โดยสวนใหญ่ประสิทธิผลก่อนนำมาขึ้นทะเบียนเป็นประสิทธิผลในช่วงที่สายพันธุ์ดั้งเดิม

        คณะทำงานติดตามประสิทธิผลวัคซีนป้องกันโรคโควิด19 และคณะทำงานวิชาการ Scientific Response Team ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคโควิด19 จึงได้ทำการศึกษาในประเทศไทยเมื่อมีการใช้จริงผลเป็นอย่างไร ข้อมูลนี้จึงได้จากการใช้วัคซีนที่ดำเนินการจริงในพื้นที่ที่มีการดำเนินการศึกษา 4 พื้นที่ คือ ภูเก็ต สมุทรสาคร เชียงราย และภาพรวมประเทศ โดยศึกษาประสิทธิผลที่ใช้ในกลุ่มประชาชนที่เป็นผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อที่มีความเสี่ยงสูง ด้วยการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงมีใครติดเชื้อและมีกี่รายที่ได้รับวัคซีนแล้ว พื้นที่ภูเก็ตและสมุทรสาคร และในกลุ่มบุคลากรด้านสุขภาพ เป็นการศึกษาจากเหตุการณ์การระบาดที่จ.เชียงราย และกรมควบคุมโรคที่ดึงเอาฐานข้อมูลบุคลากรสาธารณสุขที่ติดเชื้อตั้งแต่พ.ค.-มิ.ย.มาดำเนินการศึกษาประสิทธิผลที่ได้จากการใช้จริงในพื้นที่  ซึ่งวัคซีนที่ศึกษาแต่ละพื้นที่ขึ้นกับแต่ละพื้นที่ว่าได้ใช้วัคซีนอะไร ซึ่งในช่วงระยะเวลาเม.ย.-มิ.ย.ส่วนใหญ่คนได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์จะเป็นวัคซีนโคราแวคของซิโนแวค และมีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าบ้างเฉพาะบางการศึกษาเท่านั้น

        จากการศึกษาประสิทธิผลใช้จริงในพื้นที่จ.ภูเก็ต ที่มีการเริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่เม.ย.และพบผู้ติดเชื้อและมีการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและดูว่ามีใครได้รับวัคซีนแล้ว โดยมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกว่า  1,500 ราย มีการติดเชื้อ 124 ราย พบว่าประสิทธิผลอยู่ระดับ 90.7%  

     พื้นที่จ.สมุทรสาคร ติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 500 กว่าราย มีการติดเชื้อ 116 ราย เปรียบเทียบระหว่างคนได้รับวัคซีน ติดเชื้อกี่เปอร์เซ็นต์ กับคนที่ไม่ได้รับวัคซีนกี่เปอร์เซ็นต์พบว่าประสิทธิผล 90.5%

           เพราะฉะนั้น ประสิทธิผลของวัคซีนโคโรนาแวคของซิโนแวค ช่วงเม.ย.-พ.ค.ที่ศึกษาส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์อัลฟาทั้งหมด พบว่า ประสิทธิผลของวัคซีนโคโรนาแวคของซิโนแวคมีประสิทธิผลดีในสนามจริงอยู่ที่ 90 % ซึ่งดีกว่าตอนเริ่มทำการทดลอง ทั้งในประเทศบราซิล หรือตุรกี ที่ป้องกันติดเชื้อได้ 50-70 % แต่เป็นคนละสายพันธุ์กับในประเทศไทย  แต่ผลศึกษานี้เป็นข้อมูลจริงในประทศไทย ซึ่งสามารถป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์อัลฟาได้  

       พื้นที่จ.เชียงรายซึ่งพบเหตุการณ์ระบาดในบุคลากรสุขภาพที่มีการติดเชื้อและตรวจบุคลากรที่มีความเสี่ยงเกือบ 500 ราย พบติดเชื้อ 40 ราย จึงมีการติดตามว่ามีใครมีอาการปอดอักเสบบ้าง ซึ่งจากการสอบสวนการระบาดในจ.เชียงรายเกิดในมิ.ย.ยังเป็นสายพันธุ์อัลฟา พบประสิทธิภาพวัคซีนในบุคลากรสาธารณสุขเปรียบเทียบคนได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม พบประสิทธิผลอยู่ที่ 88.8 % และประสิทธิผลป้องกันปอดอักเสบอยู่ที่ 84.9%  และจ.เชียงราย ยังมีข้อมูลน่าสนใจ โดยบางส่วนได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจำนวน 1 เข็ม ครบ 14 วัน โดยมีคนที่ได้รับแอสตร้าฯ  1 เข็ม 50 ราย พบว่าป้องกันการติดเชื้อได้ โดยประสิทธิภาพ 1 เข็มอยู่ที่ 83.8%

ใช้จริงซิโนแวคต่อเดลตายังไม่ได้ลดลง 

       และภาพรวมประเทศ ซึ่งการศึกษานำฐานข้อมูลของประเทศ ในบุคลากรสุขภาพแต่ละเดือนมีการติดเชื้อเท่าไหร่ มาเปรียบเทียบดู ซึ่งกรมควบคุมโรคได้ติดตามฐานข้อมูลการเฝ้าระวังการเจ็บป่วย เปรียบเทียบข้อมูลการฉีดวัคซีนของประเทศ พบว่าในเดือน พ.ค. การระบาดตอนนั้นยังเป็นสายพันธุ์อัลฟา ประสิทธิผลเมื่อฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มอยู่ที่ 71 % ส่วนเดือนมิ.ย. เริ่มมีการระบาดของเดลตา ซึ่งภาพรวมของประเทศสัดส่วนของสายพันธุ์นี้ยังอยู่ที่ 20-40 % โดยพบประสิทธิผลอยู่ที่ 75 % ยังไม่ได้ลดลงไป

      “ในเชิงของการที่เรามีข้อวิตกกังวลว่าการระบาดของสายพันธุ์เดลตา จะมีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนโคโรนาแวคของซิโนแวค ที่มีใช้อยู่ขณะนี้นั้นจะมีผลในการใช้จริงมากน้อยเพียงใด ซึ่งจากการใช้จริงพบประสิทธิผลในสนามจริงยังคงที่ แม้ภาพรวมการติดตามผลทางห้องปฏิบัติการพบว่า ลดค่าการสร้าง neutralizing antibody อยู่บ้าง  โดยภาพรวมวัคซีนทุกตัวปลอดภัย ส่วนประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ภาวะความเสี่ยงมากเสี่ยงน้อย แต่ประสิทธิผลของโคโรนาแวคชนิดเชื้อตายในการใช้จริงในประเทศไทย ได้ผลดีพอสมควรในช่วงที่มีการระบาดสายพันธุ์อัลฟา  ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจว่าวัคซีนโคโรนาแวคไม่ใช่ไม่มีประสิทธิภาพ ”นพ.ทวีทรัพย์กล่าว  

162668462261

ปรับสูตรฉีดวัคซีนเพิ่มระดับภูมิคุ้มกัน

      นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวด้วยว่า ถึงแม้ขณะนี้จะมีการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ก็มีการติดตามต่อเนื่อง ไม่ใช่รอให้วัคซีนมีประสิทธิผลต่ำแล้วถึงมาเปลี่ยนเรื่องการใช้วัคซีน สาเหตุที่ขณะนี้อาจจะมีความจำเป็นซึ่งเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าก็ปรับวิธีการฉีดวัคซีนล่วงหน้า เนื่องจากผลทางห้องปฏิบัติการอาจจะดูแล้ว หากใช้วัคซีนชนิดเชื้อตาย ประสิทธิผลอาจจะได้ไม่สูงมากนัก แม้ขณะนี้ข้อมูลจากการใช้ในสนามจริงยังไม่บ่งบอกซึ่งต้องติดตามต่อไป เพราะฉะนั้น  มาตรการ วิธีการหรือนโยบายในเรื่องการฉีดวัคซีนของ สธ. และที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาล จึงต้องใช้วิธีการฉีดวัคซีนที่มีอยู่ทั้งโคโรนาแวค และแอสตร้าฯ หรือวัคซีนอื่นๆที่จะเข้ามา เพื่อเพิ่มประสิทธิผลให้ดีที่สุด เป็นการดำเนินการเตรียมการล่วงหน้า แต่ขอให้มั่นใจว่าวัคซีนเชื้อตายยังได้ผลดีจากการศึกษาการใช้ในพื้นที่จริง”นพ.ทวีทรัพย์กล่าว

 

 

ซิโนแวคยังจำเป็นต้องใช้

     ต่อข้อถามสถานการณ์ที่เดลตาระบาด วัคซีนซิโนแวคยังจำเป็นหรือไม่ นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวว่า ข้อมูลที่มีอยู่ขณะนี้ วัคซีนซิโนแวตคยังได้ผลอยู่ แต่เพื่อให้มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพสูงขึ้น ในการเพิ่มระดับภูมิคุ้มกัน จึงมาเป็นข้อมูลพิจารณาในการปรับการให้วัคซีนจากเดิมซิโนแวค 2 เข็ม  มาเป็นซิโนแวคเข็มที่ 1 และตามด้วยแอสตร้าฯเข็มที่ 2 ซึ่งจะช่วยเพิ่มภูมิต้านทานสูงขึ้นกว่าเดิม เพื่อความมั่นใจในการป้องกันมากขึ้น  และการที่ยังจำเป็นต้องใช้วัคซีนซิโนแวค เพราะเป็นวัคซีนที่จัดหาได้เร็ว ไม่ต้องรอคิวถึงปีหน้าหรือไตรมาสที่ 4 จึงต้องมีการบริหารวัคซีนที่สามารถจัดหาได้ขณะนี้ คือแอสตร้าฯ และซิโนแวค ดังนั้น ความจำเป็นของซิโนแวคยังจำเป็นในสถานการณ์ที่มีข้อจำกัดในการจัดหาวัคซีน ซึ่งประสิทธิผลยังดีอยู่ มีวัคซีนและฉีดได้เลย แต่อนาคตจะมีการปรับการใช้วัคซีนชนิดอื่นหรือไม่ ขึ้นกับสถานการณ์ สายพันธุ์และแต่ละช่วงเวลาจะจัดหาวัคซีนชนิดใดได้มาเพิ่มขึ้น โดยวัคซีนชนิด mRNA จะเข้ามาเสริมในไตรมาสที่ 4  ช่วงเดือนต.ค.เป็นต้นไป เพราะฉะนั้นในช่วงการระบาด 2-3 เดือนนี้ ต้องใช้วัคซีนที่มีอยู่ให้เป็นประโยน์สูงสุด

  แผนกระจายวัคซีนไฟเซอร์

     เมื่อถามถึงแผนกระจายวัคซีนไฟเซอร์ที่มีการสั่งซื้อ 20 ล้านโดส นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวว่า วัคซีนของประเทศไทยอิงตามนโยบาย ที่มีวัตถุประสงค์ในการป้องกันการเสียชีวิตและการติดเชื้อและให้ระบบสาธารณสุขเดินต่อไปได้ เพราฉะนั้น วัคซีนที่เข้ามาแต่ละช่วงเวลา จึงขึ้นกับว่า ระยะการระบาดขณะนั้นอยู่ในสถานะใด เพราะฉะนั้น ถ้าวัคซีนไฟเซอร์เข้าามาเดือนนี้หรือเดือนหน้า นโยบายทั้งหมดเพื่อปกป้องกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มี 7 กลุ่มโรค และหญิงมีครรภ์ให้ครบก่อน รวมถึง บุคลากรสาธารณสุขให้ทำงานได้จึงจะมีวัคซีนอีกสัดส่วนหนึ่งจะเพิ่มให้บุคลากรเพื่อให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนสุดท้ายสำหรับบุคคนกลุ่มอื่นๆหรือประชาชนทั่วไป หรือเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็จะตามมา เพราะโควิดแม้ติดง่าย แต่ถ้าเข้าใจโควิดถ่องแท้ คนที่ติดแล้วอาการรุนแรงและเสียชีวิต มักจะเกิดในกลุ่มเสี่ยง โดยผู้สูงอายุติดเชื้อ 10 คน เสียชีวิต 1 คน ขณะที่คนทั่วไปปติดเชื้อ 1,000 คน เสียชีวิต 1 คน

 

การจัดหาวัคซีนตัวอื่นๆ

      นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวอีกว่า สธ.กำหนดวัคซีนหลัก คือ แอสตร้าฯ ที่เพิ่มเข้ามาคือซิโนแวคเพราะช่วงที่มีการระบาดเดือนก.พ และเจรจาเพิ่มนำวัคซีนไฟเซอร์เข้ามา โดย 3 วัคซีนนี้เป็นวัคซีนที่มีสถานะสั่งจองแล้ว ส่วนที่มีการเจรจาแต่ยังไม่ได้สั่งจอง คือ จอห์นสันแอนด์หจอห์นสัน และสปุตนิก ซึ่งเป็นชนิดไวรัล แว็กเตอร์  โดยในส่วนของวัคซีนจอห์นสันฯยังไม่มีการจัดหา เนื่องจากเป็นปัญหาแหล่งผลิตของบริษัทเอง โดยบริษัทขอเลื่อนทำสัญญาสืบเนื่องจากทางโรงงานที่อเมริกามีปัญหาเรื่องแหล่งผลิต จึงไม่อยากลงนามทำข้อผูกมัด ส่วนสปุตนิกต้องรอให้มีการขั้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ก่อน

         สำหรับการจัดหาสำหรับปีหน้า ซึ่งคาดว่ามีการระบาดของสายพันธุ์ใหม่นั้น ได้มีการศึกษาดูว่ามีวัคซีนในแหล่งผลิตใดที่เป็นการผลิตในรุ่น 2 โดยมีการติดตามและทาบทามในเรื่องความก้าวหน้าอยู่ 3-4 บริษัทชั้นนำ เพื่อสู้กับสายพันธุ์ใหม่ในรุ่น 2 ซึ่งการเตรียมการจัดหามีกระขวบวนการตามขั้นตอน แต่สุดท้ายต้องดูสถานการร์ในพื้นที่จริง ที่จะทำให้สถานการณ์วัคซีนมีการเปลี่ยนแปลงได้