3 ตัวช่วย วัคซีน- ยารักษา-การตรวจ สู้ 'โควิด-19' ฟื้นเศรษฐกิจไทย

3 ตัวช่วย วัคซีน- ยารักษา-การตรวจ สู้ 'โควิด-19' ฟื้นเศรษฐกิจไทย

โลกกำลังเผชิญกับ 'โควิด-19' ต่อเนื่อง ยาวนานมากว่า 2 ปี กระทบต่อการใช้ชีวิตและระบบเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงไทย 'วัคซีนโควิด -19' คือ ความหวังของมวลมนุษยชาติในการสกัดกั้นโควิด สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ นำไปสู่การเปิดประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ขณะนี้ ประเทศไทยมี 'วัคซีนโควิด-19' 3 ยี่ห้อ คือ ซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนฟาร์ม และภายในไตรมาส 4 จะมีวัคซีนชนิด mRNA เป็นความหวังของทุกคนที่จะสกัดกั้น 'สายพันธุ์เดลต้า' ไม่ว่าจะเป็นไฟเซอร์ 20 ล้านโดส และได้รับการบริจาค 1.5 ล้านโดส รวมถึง โมเดอร์นา วัคซีนทางเลือกที่เอกชนนำเข้า เป้าหมายของรัฐบาล คือ ฉีด 100 ล้านโดส ครอบคลุม 70% ของประชากรภายในสิ้นปี มีการประกาศเปิดประเทศภายใน 120 วันหรือราว ต.ค. 64 โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่การบริหารจัดการวัคซีนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

  • 'ฉีดวัคซีนโควิด-19 แต่ยังรับเชื้อ 

วานนี้ (15 ก.ค. 64) ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวในงาน Nation TV Virtual Forum #2 หัวข้อเสวนา วัคซีนโควิดฟื้นเศรษฐกิจไทยยุทธศาสตร์วัคซีนแห่งชาติ ความหวังของคนไทย? จัดโดย 'เนชั่นทีวี' โดยให้ความเห็นเกี่ยวกับ 120 วัน เปิดประเทศว่า มีความเป็นไปได้ แต่ต้องมีหลายปัจจัย ในเรื่องของความสามัคคี วินัย และความเข้าใจว่าจะประสบอะไรหลังจากเปิดประเทศ

162635468040

ขณะเดียวกัน มาตรการเร่งการตรวจหาเชื้อและ 'ล็อกดาวน์' ในขณะนี้ ตามทฤษฎีเมื่อล็อกดาวน์การระบาดจะต้องลดลงตามไปด้วย เป็นเหตุผลที่ตรงไปตรงมา แต่อีกสิ่งที่เรากำลังทำไปด้วยคือ ฉีดวัคซีน จะช่วยให้สามารถลดการระบาดลงไปได้ในอีกระดับหนึ่ง

“ขณะเดียวกัน การเร่งฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ 70% ความจริงแล้วต้องเป็นภูมิคุ้มกันในระดับใกล้เคียงกันในช่วงเวลาเดียวกัน เพราะธรรมชาติภูมิคุ้มกันจะลดลงตามเวลา เมื่อภูมิคุ้มกันลดลง คนนั้นก็จะไม่นับอยู่ใน 70% จึงจำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้เร็ว แต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งวัคซีน ข้อจำกัดในการฉีด การเข้าถึง ทำให้ความเร็วไม่ง่าย และเมื่อถึงตอนที่ฉีดครบ 70% ของประชากรจริงๆ อาจจะถึงเวลาที่บางคนต้องฉีดซ้ำ”ศ.นพ.นิธิ กล่าว

หากจะพูดถึงประเด็นในวันนี้ เรา 'ฉีดวัคซีนโควิด-19' แล้ว แต่ยังมีโอกาสรับเชื้อ ในหลายประเทศเริ่มใช้แนวทางที่ว่า คนที่ฉีดวัคซีนแล้วเมื่อไปสัมผัสกับคนมีเชื้อบวกไม่ต้องกักตัวเหมือนเดิม แต่สิ่งที่ต้องทำ คือ ระมัดระวังตัวไม่ให้แพร่เชื้อ รักษาระยะห่าง ทำให้สังคมปรับมามีกิจกรรมมากขึ้นเหมือนที่ทุกคนอยากให้มี เศรษฐกิจก็จะพอหมุนเวียนไปได้ ดังนั้น การฉีดวัคซีนมีความจำเป็น แต่มาตรการส่วนตัวต้องเข้มข้น

  • 'วัคซีน'- 'ยารักษา'-'การตรวจ' หนทางชนะโควิด 19

ทั้งนี้ ความท้าทายในการบริหารจัดการวัคซีน ศ.นพ.นิธิ กล่าวว่า เนื่องจากเรามีกระสุนอยู่จำกัด และต้องไปลงในส่วนที่จำเป็น ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจ แต่ต้องรวมถึงส่วนที่ระบาด ซึ่งรัฐบาลต้องชัดเจนตรงนี้ ต้องอธิบายประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจด้วยว่าทำไมถึงทำเช่นนี้ ทำไมบางกลุ่มถึงได้ก่อน เป็นความสำคัญของการสื่อสาร ในวันที่ปริมาณวัคซีนที่จำกัด ต้องเรียงลำดับความสำคัญตามความเสี่ยง

ในส่วนของ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งพยายามมองหาวัคซีนตัวเลือกอย่าง ซิโนฟาร์ม เพื่อให้ในกลุ่มที่จำเป็นอย่างกิจการที่ไม่สามารถสะดุดได้ เช่น บริษัทผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ส่งออก ซึ่งมีเงินเข้าประเทศหลายเปอร์เซ็นต์ของ GDP หากสะดุดต้องปิดหนึ่งเดือนเราก็แย่เหมือนกัน รวมถึง ในชุมชนแออัด และไม่สามารถเข้าถึงได้

162635506693

ตอนนี้เรามองเรื่องวัคซีนเป็นเรื่องใหญ่ แต่การที่จะอยู่กับโรคระบาด หรือการที่จะชนะได้ และอยู่กับมันได้ มี 3 ประเด็นหลัก 'วัคซีน' อย่างที่ได้กล่าวไป ถัดมา คือ 'ยารักษา' ที่จะสามารถสู้กับไวรัสได้โดยตรง ซึ่งอยู่ในกระบวนการศึกษา ผลิต กำลังจะออกในอนาคต และ 'การตรวจ' ได้ง่ายและเร็ว หากทำสามอย่าง หรือมีสามอย่างนี้ ก็จะอยู่กับมันคล้ายๆ กับโรคไข้หวัดใหญ่ มียาที่รักษาได้ ป้องกันได้ ไม่ต้องรอให้เป็น คาดว่าไม่เกินครึ่งปีหน้าทั้ง 3 อย่างจะมีทั้งหมด จะทำให้เราอยู่กับมันได้ง่ายขึ้น

ถัดมา คือ ภาพรวมเศรษฐกิจ แต่เดิมยังไม่มีการพูดถึง Medical security อย่างจริงจัง แต่ครั้งนี้เป็นครั้งที่เราเห็นความสำคัญลงไปถึงตั้งแต่ต้นน้ำว่าทำอย่างไรจะผลิตวัคซีนได้และใช้เมื่อจำเป็น และหากลงในรายละเอียดจะรู้ว่ายาบางอย่างก็ขาดแคลนเช่นกัน ดังนั้น ในอนาคตหากจะคำนึงถึงโครสร้างเศรษฐกิจ ต้องคำนึงเรื่องนี้ด้วย เพราะแต่เดิมต้องพึ่งพาการนำเข้า ต้องเตรียมการไว้ เพราะจะมีโรคแบบนี้มาอีกในอนาคต ต้องเตรียมให้พร้อม ศ.นพ.นิธิ กล่าว

162635479357

อย่างไรก็ตาม ข่าวล่าสุดในการจัดส่งวัคซีน แอสตร้าเซเนก้า 61 ล้านโดส จากกำหนดส่งมอบให้ไทยภายใน ธ.ค.ปีนี้ ขณะนี้ ได้ขยายไปเป็นเดือน พ.ค.ปีหน้า ทำให้ไทยอาจมีความจำเป็นต้องใช้วัคซีนแอสตร้าเซเนกาที่ได้รับมารวมกับวัคซีนยี่ห้ออื่น จากเดิมที่มองว่าจะใช้แอสตร้าฯ เป็นวัคซีนหลัก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:เปิด 3 ผลศึกษา'วัคซีนโควิด19สลับชนิด'ในไทย

                    ใช้ 'ฟ้าทะลายโจร' ผิดวิธี ระวังผลข้างเคียง

                    เริ่มพรุ่งนี้! 'จุดตรวจโควิดฟรี' รับ Walk in วันละ 5,000 ราย

  • เร่งเจรจาจัดหา 'วัคซีน'รูปแบบใหม่ๆ มาใช้ปีนี้และปีหน้า

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวในประเด็นดังกล่าวว่า จากความคาดหวังเดิมที่จะได้รับวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดสในปีนี้ เพิ่งได้รับจดหมายจากแอสตร้าฯ ว่า จะส่งมอบได้ตามกำลังการผลิตที่มีซึ่งอยู่ในระดับ 15-16 ล้านโดสต่อเดือน เพราะเป็นช่วงแรกของการผลิต การส่งมอบจึงจะดำเนินการที่ 1 ใน 3 ของกำลังการผลิต อยู่ที่ราว 5-6 ล้านโดสต่อเดือน ทางสยามไบโอไซเอนซ์ และ แอสต้าฯ ก็หาทางเพิ่มกำลังการผลิต และทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้รับฟังสถานการณ์ร่วมกัน และรับทราบข้อจำกัดต่างๆ เพื่อจัดหาวัคซีนให้ได้เพิ่มเติม

ประเด็นคำถามที่ว่า เราจะสามารถจำกัดการส่งออกได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล เพราะเป็นการตัดสินใจร่วมกัน เป็นการเข้าใจสถานการณ์ร่วมกัน เพราะการผลิตวัคซีนเป็นการผลิตและใช้ไปไม่ได้มีสต็อก และในสถานการณ์ที่มีความต้องการวัคซีนทั่วโลก ในประเทศอื่นๆ ก็ประสบภาวะขาดแคลนอยู่ มีบางประเทศเท่านั้นที่มีวัคซีนอยู่แล้ว คือ ประเทศที่มีการจองซื้อล่วงหน้าตั้งแต่ปีที่แล้ว 

162635509480

ขณะนี้ ไฟเซอร์ ก็ได้มีการเจรจาไว้ ส่วนราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้นำ ซิโนฟาร์ม เข้ามาเสริม และซิโนแวค ยังจำเป็นที่ใช้ในสถานการณ์ที่ยังขาดแคลน นอกจากนี้ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้พยายามเจรจาจัดหาวัคซีนรูปแบบอื่นๆ เช่น โปรตีนซับยูนิต ในหลายบริษัท เพื่อจัดหาเพิ่มเติม นำมาใช้ในปีนี้และปีหน้า

  • แนวทางจัดหา 'วัคซีน' โควิด-19ปี 2565

ทั้งนี้ แนวทางการจัดหา วัคซีนโควิด-19 สำหรับประชากรไทยในปี 2565 ได้แก่ 

1. การจัดหาวัคซีนในกรอบ 120 ล้านโดส โดยเร่งรัดเจรจาการจัดหาวัคซีน โดยพิจารณาดำเนินการกับผู้ผลิตวัคซีนที่มีการพัฒนาวัคซีนรุ่นที่สอง ที่จะสามารถครอบคลุมไวรัสที่มากรกลายพันธุ์ โดยให้มีเป้าหมายการส่งมอบได้ภายในไตรมาส 1 ปี 2565

2. การรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการผลิต โดยเร่งรัดการแสวงหาความร่มมือกับต่างประเทศในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนด้วยแพลตฟอร์มอื่นๆ นอกเหนือจาก ไวรัลเวคเตอร์ เช่น วัคซีนเชื้อตาย และ mRNA 

162635558646

3. การวิจัยพัฒนาวัคซีนต้นแบบในประเทศตั้งแต่ต้นน้ำ โดยสนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนต้นแบบรองรับการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส รวมทั้งกำหนดแนวทางการขึ้นทะเบียนสำหรับวัคซีนที่วิจัยพัฒนาในประเทศ รวมถึงแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศในการทดสอบวัคซีนในมนุษย์ระยะที่ 3 เช่น ประเทศอินเดีย

4. ในประเด็นอื่นๆ ได้แก่ สนับสนุนการศึกษาภูมิคุ้มกันระยะยาวของผู้ที่ได้รับ วัคซีนโควิด-19 เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาให้วัคซีนเข็มที่ 3 ในประชากรไทย รวมถึงติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ไวรัสกลายพันธุ์ในปี 2565 อย่างใกล้ชิด และ ติดตามความก้าวหน้าของการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เพิ่มเติม เพื่อพิจารณาการจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุมทุกกลุ่มอายุโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและหญิงตั้งครรภ์

การผลิต วัคซีน ในประเทศ ค่อนข้างมั่นใจว่าผลิตได้ แต่มากพอหรือไม่ต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะการผลิตในจำนวนมากต้องใช้โรงงานขนาดใหญ่ ขณะนี้จึงมีการพัฒนาศักยภาพการผลิตควบคู่กันไปด้วย