‘สุพันธุ์’ แนะรัฐเร่งแยกคนติดเชื้อโควิด เพิ่มวัคซีน สกัดเศรษฐกิจทรุดหนัก

‘สุพันธุ์’ แนะรัฐเร่งแยกคนติดเชื้อโควิด เพิ่มวัคซีน สกัดเศรษฐกิจทรุดหนัก

“ประธาน ส.อ.ท.” แนะรัฐ เร่งคัดกรองและแยกผู้ติดเชื้อโควิดเข้าสู่ระบบการรักษา พร้อมเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชน หวั่นพ้นล็อกดาวน์สถานการณ์วนลูป รับห่วงส่งออกสะดุด หลังยอดติดเชื้อระบาดในทุกอุตสาหกรรม

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ร่วมเสวนาหัวข้อ “เปิดแผน...เดินหน้าเศรษฐกิจไทย” ในงานสัมมนา “Restart เศรษฐกิจไทยฝ่าภัยโควิด” ที่จัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดยระบุว่า การรีสตาร์ทประเทศไทยในวันนี้ ต้องพูดได้ว่าเครื่องยนต์ของเราหลวมไปหมดแล้ว การติดเครื่องอีกครั้งก็คงจะทำได้ลำบาก เพราะอุตสาหกรรมค้าปลีกและการท่องเที่ยว ยังไม่ดี แม้ว่าการส่งออกจะยังพอไปได้ แต่การติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอาจทำให้สะดุดลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดเล็กและอุตสาหกรรมขนาดกลาง กำลังลำบากมีผลกระทบค่อนข้างมาก เช่น เรื่องการเข้าถึงสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟท์โลน ยังทำได้ยาก แม้ว่าจะพยายามเร่งรัดให้เกิดการอนุมัติจ่ายได้เร็วขึ้นภายใน 30 วัน ก็พยายามผลักดันให้ดำเนินการได้ในปีนี้เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้เอสเอ็มอี แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังทำได้ไม่มากพอ  

เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ จนนำไปสู่การประกาศล็อกดาวน์ 14 วัน ทำให้การค้าขายทำได้ลำบาก และยอดติดเชื้อยังจำนวนมากถึง 9,000 คนต่อวัน ถึงแม้จะล็อกดาวน์แต่ถ้าไม่แยกระหว่างคนที่ติดเชื้อออกจากคนไม่ติดเชื้อ ก็อาจทำให้วงจรการระบาดเข้าสู่ลูปเดิม หลังสิ้นสุดมาตรการล็อกดาวน์

162634105437

ดังนั้น ส.อ.ท. มองว่า การมีเครื่องตรวจเชื้อโควิดแบบ “แรบิด แอนติเจน เทสก็เป็นตัวช่วยที่ดี และรัฐจะต้องรีบจัดการในเรื่องนี้ ซึ่ง ส.อ.ท.เองก็เตรียมสั่งซื้อเพื่อนำมาใช้ในกลุ่มภาคอุตสาหกรรมได้มีโอกาสเทส และจะส่งมอบให้กับโรงพยาบาลด้วย เพราะหากพบว่ามีการติดเชื้อก็จะส่งผลให้เกิดการกักตัวในภาคการผลิตทำให้การทำงานของภาคอุตสาหกรรมสะดุดลง และเท่าที่หารือกันในอุตสาหกรรมต่างๆปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรมแล้ว

162634115240

รวมถึงเรื่องของวัคซีน ที่ยังมีไม่เพียงพอ ซึ่งเดิมรัฐตั้งเป้าหมายจะมีวัคซีนเข้ามาเดือนละ 10 ล้านโดส และ ม.33 จะจัดหาให้อีก 1 ล้านโดสในเดือนมิ.ย.ก็ยังไม่เข้ามาไม่ครบ ก็จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปเรื่อยและภาคประชาชนก็ลำบาก เพราะฉะนั้นโอกาสที่เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น คงเป็นไปได้ยาก และกกร.เองก็ประเมินว่า ปีนี้ จีดีพี จะอยู่ที่ 0-1.5% ภายใต้สมมติฐานการส่งออกขยายตัว 8-10% แต่ปัจจุบันการส่งออกก็เริ่มสะดุด จากยอดการติดเชื้อที่ลุกลามไปในหลายอุตสาหกรรมและต้องล็อกดาวน์ในโรงงานผลิต ซึ่งต้องยอมรับว่าสถานการณ์ในขณะนี้ กระทบต่ออุตสาหกรรมพอสมควร

“ระบบสาธารณสุข มีความสำคัญมาก ถ้าแยกคนติดเชื้อ และจัดหาวัคซีนได้เพียงพอ เศรษฐกิจก็จะค่อยๆกลับมา แบงก์ก็จะกล้าปล่อยสินเชื่อ วันนี้ ถือเป็นบทหนักซึ่งหากเปิดประเทศตอนนี้จะมีคนมาไหม เพราะเมื่อมี.ค.-เม.ย.ที่ผ่านมาตัวเลขการท่องเที่ยวในประเทศยังมี 20-40% แต่วันนี้ เหลือไม่ถึง 5% หรือเกือบเป็น 0 ถ้าวัคซีนครบก็สามารถทยอยเปิดกิจการได้ ความเสี่ยงก็ลดลง”