ตลท.เผยผลเฮียริ่ง DW โบรกฯ ไฟเขียวเห็นด้วยทั้ง 4 ข้อเสนอ

ตลท.เผยผลเฮียริ่ง DW โบรกฯ ไฟเขียวเห็นด้วยทั้ง 4 ข้อเสนอ

ตลาดหลักทรัพย์ฯ สรุปผลรับฟังความเห็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์ DW เพิ่มสินทรัพย์อ้างอิงหุ้นต่างประเทศ-ปรับปรุงเกณฑ์เพิกถอน-ซิลลิ่ง/ฟลอร์

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น "การปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrant หรือ DW)" โดยประเด็นหารือที่ 1 การปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุน Cross Border Products ซึ่งข้อเสนอที่ 1 คือ ปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับสินทรัพย์อ้างอิงของ DW ได้แก่ 1. การเพิ่มสินทรัพย์อ้างอิงของ DW ให้ครอบคลุมถึงหุ้นต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการและทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุน

โดยเป็นหุ้นต่างประเทศที่มีคุณสมบัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กำหนด และมีคุณสมบัติเพิ่มเติมตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เสนอ และ 2. ปรับปรุงคุณสมบัติของดัชนีหลักทรัพย์ต่างประเทศที่เป็นสินทรัพย์อ้างอิงของ DW เพื่อให้ครอบคลุมดัชนีต่างประเทศมากขึ้น

ขณะที่ความเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับ พบว่า ผู้ให้ความเห็นทุกรายเห็นด้วย โดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ได้แก่ ควรพิจารณาหลักเกณฑ์เกี่ยวกับความสามารถในการดูแลบริหารความเสี่ยงของผู้ออก DW ให้สอดคล้องตามความเสี่ยงของหุ้นต่างประเทศที่มีดวามผันผวนที่แตกต่างจากหุ้นไทย เนื่องจากมีปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่อาจทำให้หุ้นต่างประเทศมีความเสี่ยงในเรื่องของความผันผวนแตกต่างจากหุ้นไทย

เช่น NCR Scenario ว่าครอบคลุมเพียงพอหรือไม่เทียบกับ Ceiling / Floor ของหุ้นนั้นๆ (ปัจจุบันใช้อยู่ที่ Scenario: Underlying Price Change 8%, Volatility Change 25%) หรือราคาที่ไช้ Mark to Market ของหุ้นอ้างอิงในการคำนวณ NCR นั้น จำเป็นต้องระบุให้ชัดเจนว่าใช้ราคา ณ เวลาใด เป็นต้น

สำหรับ DW ที่อ้างอิงกับหุ้นต่างประเทศ เสนอให้เพิ่มลักษณะพิเศษในชื่อ DW เพื่อให้นักลงทุนสามารถแยกออกว่าเป็น DW ที่อ้างอิงกับหุ้นต่างประเทศได้อย่างชัดเจน รวมถึงข้อเสนอให้สามารถออก DW บนหุ้นต่างประเทศที่เป็น IPO ซึ่งจะสอดคล้องกับหุ้นไทยที่มีขนาดใหญ่แล้วเพิ่งจดทะเบียนสามารถออก DW ได้ โดยกรณีของ IPO อาจจะกำหนด Market Capitalization ให้ใหญ่ขึ้น ประมาณ 4 แสนล้านบาท หรือ 2% ของ Market Capitalization ของ SET และสุดท้ายควรเพิ่มหลักทรัพย์อ้างอิงที่เป็น ETF ต่างประเทศ

ส่วนข้อเสนอที่ 2 คือ ปรับปรุงหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลและการเพิกถอน DW โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลและการเพิกถอน DW เพื่อให้รองรับ DW ที่มีสินทรัพย์อ้างอิงเป็นหุ้นต่างประเทศ และมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ได้แก่ การปรับปรุงหลักเกณฑ์ ให้ผู้ออก DW เปิดเผยช่องทางเข้าถึงข้อมูลปัจจุบันของสินทรัพย์อ้างอิงต่างประเทศทั้งหมด ปรับปรุงหลักเกณฑ์ ให้ผู้ออก DW เปิดเผยราคาอ้างอิงที่ใช้ในการคำนวณมูลค่าเงินสดที่ส่งมอบโดยไม่ชักช้า

ปรับปรุงหลักเกณฑ์การเพิกถอน ให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถเพิกถอน DW ที่อ้างอิงกับหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือ สินทรัพย์อ้างอิงที่เป็นหุ้นต่างประเทศ ในกรณีที่สินทรัพย์อ้างอิงถูกเพิกถอน หรือถูกขึ้นเครื่องหมาย SP เกินกว่า 20 วันทำการ และ ปรับปรุงหลักเกณฑ์การเพิกถอน ให้ผู้ออก DW สามารถร้องขอเพิกถอน DW เมื่อไม่มีข้อมูลสินทรัพย์อ้างอิงต่างประเทศที่เพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน ซึ่งผู้ให้ความเห็นทุกรายเห็นด้วย

และ ข้อเสนอที่ 3 คือ ปรับปรุงกรอบการเคลื่อนไหวราคาสูงสุดและราคาต่ำสุด (Ceiling & Floor) โดยปรับปรุงราคาสูงสุดและราคาต่ำสุดสำหรับ DW ที่อ้างอิงสินทรัพย์ต่งประเทศ โดยกำหนดเป็นไม่เกิน 20 เท่าของราดา DW (ราคาปิด DW วันก่อนหน้า/ราคาเสนอขายครั้งแรกหรือราคา IPO) ทั้งนี้ ราคาต่ำสุด 0.01 บาท เพื่อแก้ไขปัญหาที่ไม่สามารถใช้ราดาปิดลำสุดของหุ้นต่างประเทศหรือดัชนีหลักทรัพย์ต่างประเทศในการคำนวณ Ceiling & Fสoor ของ DW ได้ ซึ่งผู้ให้ความเห็นทุกรายเห็นด้วย

ส่วนประเด็นหารือที่ 2 การปรับปรุงหลักเกณฑ์การเพิกถอน DW โดยข้อเสนอที่ 1 คือ เพิ่มเหตุเพิกถอนที่ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถเพิกถอนได้ในกรณีที่ไม่กระทบต่อผู้ลงทุน ซึ่งปรับปรุงโดยเพิ่มเหตุเพิกถอนที่ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถเพิกถอนได้ เมื่อผู้ออก DW ร้องขอเพิกถอน DW เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการที่ภาครัฐหรือหน่วยงานกำกับออกนโยบายที่ส่งผลทำให้ผู้ออก DW หรือผู้ดูแลสภาพคล่องไม่สามารถทำหน้าที่ได้เป็นระยะเวลานาน หรือเนื่องจาก DW ไม่มีการซื้อขาย ทั้งนี้ ต้องไม่มีผู้ถือ DW เหลืออยู่ (ไม่มี Outstanding)

โดยความเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับผู้ให้ความเห็นทุกรายเห็นด้วย โดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม คือ เสนอให้เพิ่มข้อยกเว้นในการปฏิบัติหน้าที่ในการเป็นผู้ดูแลสภาพคล่อง โดยเมื่อผู้ออก DW มีการร้องขอเพิกถอน DW แล้ว ผู้ดูแลสภาพคล่องจะได้รับการยกเว้นการทำหน้าที่นับตั้งแต่วันที่ผู้ออก DW ร้องขอเพิกถอน DW ซึ่งไม่กระทบกับผลประโยชน์ของนักลงทุน เนื่องจากกรณีที่ผู้ออก DW จะร้องขอเพิกถอน DW ได้นั้น DW ตัวนั้นจะไม่มี Outstanding เหลืออยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว