เปิด 7 ประเทศ ‘ฟิลิปปินส์’ แบนเข้าประเทศ สกัดเดลตา

เปิด 7 ประเทศ ‘ฟิลิปปินส์’ แบนเข้าประเทศ สกัดเดลตา

รัฐบาลฟิลิปปินส์ ประกาศขยายเวลาการใช้มาตรการห้ามผู้ที่เดินทางจาก 7 ประเทศ เดินทางเข้าประเทศ ไปจนถึงวันที่ 31 ก.ค. จากเดิมที่กำหนดให้สิ้นสุดลงในวันที่ 15 ก.ค.

นายแฮร์รี โร้ก โฆษกประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เปิดเผยในระหว่างการแถลงข่าววันนี้ ว่า คณะกรรมการที่รับผิดชอบด้านการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อนุมัติการขยายมาตรการห้ามผู้เดินทางจากอินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล โอมาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เดินทางเข้าประเทศ ออกไปอีก 15 วัน จากเดิมที่มีกำหนดสิ้นสุดในวันพรุ่งนี้ (15 ก.ค.) โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ซึ่งพบครั้งแรกในอินเดีย

ฟิลิปปินส์ตรวจพบเชื้อสายพันธุ์เดลตา ในตัวอย่างที่ได้จากชาวฟิลิปปินส์ 19 คนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้ ยังไม่พบว่ามีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตาในชุมชนของฟิลิปปินส์

เมื่อรายงานว่า วันอังคารที่ 14 ก.ค. ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมในฟิลิปปินส์อยู่ที่ 1,481,660 ราย และยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 26,092 ราย 

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ปรับลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือของฟิลิปปินส์ลงสู่ระดับ “เชิงลบ” จาก “มีเสถียรภาพ” ซึ่งบ่งชี้ว่า มีโอกาสที่ฟิทช์จะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือจากโควิด-19 ของฟิลิปปินส์ในอีก 18-24 เดือนข้างหน้า โดยปัจจุบันฟิทช์ให้อันดับความน่าเชื่อถือของฟิลิปปินส์ที่ BBB

การที่ฟิทช์ ปรับลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือของฟิลิปปินส์ในครั้งนี้ ได้สร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ที่พยายามลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ ที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะที่ระบบสาธารณสุขของประเทศกำลังเผชิญวิกฤตการณ์ร้ายแรง

อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของฟิลิปปินส์ ก็จะถือเป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบ 16 ปี โดยการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือครั้งหลังสุดเกิดขึ้น เมื่อปี 2548 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ฟิลิปปินส์ในยุคอดีตประธานาธิบดีกลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย เผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเมือง

ฟิทช์ระบุในแถลงการณ์ว่า การปรับลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือของฟิลิปปินส์ในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กำลังสร้างความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ และผลกระทบที่ตามมาของการดำเนินนโยบายทั้งในด้านเศรษฐกิจและการคลัง