ชำแหละกฎเหล็ก‘แชร์ข้อมูล’ ข้อห้ามกับ‘ความหวาดกลัว?’

ชำแหละกฎเหล็ก‘แชร์ข้อมูล’  ข้อห้ามกับ‘ความหวาดกลัว?’

ข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เอาผิดผู้เผยแพร่ข้อมูล ที่แม้จะเป็น "ความจริง" เวลานี้กำลังถูกตั้งคำถามว่าจะเป็นการป้องกันการสร้างความหวาดกลัว หรือทำให้ประชาชนหวาดกลัวเสียเอง แล้วประชาชนจะแชร์ข้อมูลอะไรได้บ้าง? 

เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง หลังเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 27

หลักใหญ่ใจความอยู่ที่ “ข้อ 11” ที่ระบุว่า “มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร อันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน การเสนอข่าวหรือการทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิด ในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักรนั้น เป็นความผิดตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548”

โดยการฝ่าฝืนข้อ 11 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท ซึ่งเป็นโทษที่กำหนดไว้ในมาตรา 18 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การฝ่าฝืนข้อกำหนดไม่ว่าเรื่องใดๆ เช่น การออกนอกเคหสถานเกินเวลาที่กำหนด การรวมกลุ่มเกินห้าคนโดยไม่ได้รับอนุญาต ก็มีอัตราโทษเช่นเดียวกันหมด

162617859260

ประกาศดังกล่าว มีใจความสำคัญคล้ายกับข้อกำหนด 6 ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 26 มี.ค.2563 หลังเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกแรก

ต่างกันแค่ตรงที่ฉบับที่ 1 ระบุข้อความไว้อย่างชัดเจนว่า จะต้องเป็นข้อความ “อันไม่เป็นความจริง” และอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารดังกล่าว อันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน

162617879318

ทว่า ข้อกำหนดฉบับที่ 27 กลับระบุเพียงแค่ “ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” โดยตัดองค์ประกอบที่เคยเขียนว่า “ไม่เป็นความจริง” ออก

ตรงนี้เองที่ทำให้เกิดคำถามว่า หมายรวมไปถึงข้อความทั้งที่เป็น “ความจริง” และ “ไม่เป็นความจริง” ใช่หรือไม่?

อีกหนึ่งประเด็นที่มีความแตกต่างกันคือ ฉบับที่ 1 ระบุว่า หากเจ้าหน้าที่พบการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่อาจเป็นความผิด ให้เตือนให้ระงับหรือสั่งให้แก้ไขข่าวก่อนได้ โดยไม่ต้องดำเนินคดี หรือหากเป็นกรณีที่มีผลกระทบรุนแรงจึงให้ดำเนินคดี

ทว่า ข้อกำหนดฉบับที่ 27 ตัดเนื้อหาส่วนดังกล่าวที่ให้ “เจ้าหน้าที่ทำการตักเตือน” ออก และให้ถือว่ามีความผิดตาม มาตรา 9 (3)แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน