'เอ็กโก กรุ๊ป' ขอ 'ขนอมหน่วย5' พีดีพี 2022 

'เอ็กโก กรุ๊ป' ขอ 'ขนอมหน่วย5' พีดีพี 2022 

เอ็กโก กรุ๊ป ขอบรรจุโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 5 รวม 1,600 เมกะวัตต์ ในแผนพีดีพี 2022 เสริมมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ในระยะยาว

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า บริษัท ได้นำเสนอกระทรวงพลังงาน พิจารณาบรรจุแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 5 ลงในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า(PDP 2022) ที่อยู่ระหว่างการจัดทำแผนฯ โดยมองว่า โรงไฟฟ้าขนอม ตั้งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ส่งจ่ายไฟฟ้าป้อนความต้องการใช้ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 5 จะถือเป็นการใช้ประโยชน์ด้านโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐมีอยู่อย่างคุ้มค่า

เนื่องจากในอนาคต บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) จะต้องลงทุนต่อท่อส่งก๊าซฯ จากโครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) ที่เป็นความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เพื่อซัพพลายก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าพุนพิน หรือ โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าสุทธิ 1,400 เมกะวัตต์ ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1)

รวมถึง ปตท.จะต้องซัพพลายก๊าซฯให้กับโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 4 ด้วย แม้ว่าปัจจุบันจะรับก๊าซฯจากอ่าวไทย แต่อาจจะไม่เพียงพอที่จะซัพพลายก๊าซฯได้ตลอดอายุสัญญาโรงไฟฟ้า จึงจำเป็นต้องนำเข้า LNG เข้ามาเสริม ดังนั้น หากโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 5 ถูกบรรจุอยู่ในแผนPDP ฉบับใหม่ ก็จะเอื้อให้การออกแบบก่อสร้าง LNG Receiving Terminal รองรับปริมาณก๊าซฯไปพร้อมกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนและตอบโจทย์ประเทศ ซึ่งนอกจากโรงไฟฟ้าขนอมจะมีความพร้อมด้านท่อส่งก๊าซฯจาก ปตท.แล้ว ยังมีระบบส่งไฟฟ้าหลังของ กฟผ.รองรับ และมีความพร้อมของชุมชน เนื่องจากเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 4 อยู่แล้ว และเป็นโรงไฟฟ้าที่อยู่คู่กับชุมชนในพื้นที่มายาวนาน

สำหรับโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 5 เบื้องต้น สามารถติดตั้งได้ 2 ชุด กำลังการผลิตติดตั้งชุดละประมาณ 700-800 เมกะวัตต์ หรือ มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 1,600 เมกะวัตต์ ซึ่งหากอยู่จากปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าดังกล่าวอาจจะดูสูงกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วง 2-3 ปีนี้ และปัจจุบันประเทศมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin: RM) ในระดับสูงราว 40% ของกำลังการผลลิตไฟฟ้ารวม แต่ในอนาคตหากเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ก็อาจจะส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้เติบโตขึ้น

นายเทพรัตน์ ยังกล่าวถึง กรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้า BLCP ส่วนขยายอีก 1,000 เมกะวัตต์ว่า เดิมมีแผนจะใช้เชื้อเพลินถ่าน แต่ปัจจุบันภาครัฐไม่มีนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน(ใหม่)เข้าระบบเพิ่มเติม ดังนั้น จึงจะปรับเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงก๊าซฯแทนได้ และโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ถือเป็นโรงไฟฟ้าที่มีศักยภาพ เพระตั้งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของประเทศที่มีการจัดทำโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)