'กรมพระศรีสวางควัฒนฯ' ทรงบรรยายเรื่อง "การเกิดโรคมะเร็ง : Oncogenes is พระราชทานแก่นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราช

'กรมพระศรีสวางควัฒนฯ' ทรงบรรยายเรื่อง "การเกิดโรคมะเร็ง : Oncogenes is พระราชทานแก่นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราช

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงบรรยายรายวิชาผ่านระบบ Online เรื่อง "การเกิดโรคมะเร็ง : Oncogenes is พระราชทานแก่นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2564 ณ ตำหนักทิพย์พิมาน จังหวัดนครราชสีมา

วันนี้ (7 ก.ค.64) เวลา 12.39 น. ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จออก ณ ตำหนักทิพย์พิมาน ตำบลโป่งตาลอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อทรงบรรยายรายวิชา ผ่านระบบออนไลน์ หัวข้อ "การเกิดโรคมะเร็ง : Oncogenesis (ออง-โค-จี-เน-ซิส) ในหัวข้อ ระยะต่างๆ ของการเกิดมะเร็งและกลไกที่เกี่ยวข้อง พระราชทานแก่นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้นปีที่ 4 และชั้นปีที่ 5 ประจำปีการศึกษา 2564 ซึ่งในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่สอง โดยในครั้งแรกทรงบรรยายถึงภาพรวมของการเกิดมะเร็งและชีววิทยาการเจริญของเซลล์มะเร็ง โดยในวันนี้ ทรงบรรยายเกี่ยวกับกระบวนการ การเกิดมะเร็ง ซึ่งประกอบด้วยหลายขั้นตอน ได้แก่ ขั้นเริ่มต้น(Initiation) ขั้นก่อตัว (Promotion) และขั้นกระจายตัว (Progression) ซึ่งต่างมีความซับซ้อนในตัวเองทั้งสิ้น

162566366885

ทรงบรรยายในขั้นเริ่มต้นที่มีรายละเอียดในเรื่องกลไกการเกิดมะเร็งจากสารเคมี ซึ่งในขณะนี้ยังไม่สามารถเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ แต่เชื่อว่าสามารถแยกออกเป็น 2 รูปแบบ คือ กลไกที่มีการทำลายหรือเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอโดยตรง ทำให้เกิดการกลายพันธุ์และภายหลังกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ซึ่งถือว่าเป็นขั้นเริ่มต้นของกระบวนการเกิด แต่ร่างกายของคนปกติสามารถซ่อมแซมดีเอ็นเอ หรือยีนด้วยเอ็นไซม์ ก่อนที่เซลล์จะแบ่งตัว จึงจะรักษาสภาพเดิมได้ ซึ่งความผิดปกติของโครงสร้างในดีเอ็นเอนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้กระบวนการควบคุมการแบ่งตัวและการทำงานของเซลล์ผิดไป 

ทรงยกตัวอย่างกระบวนการที่เกิดขึ้นจากสารก่อมะเร็งที่ทำลายดีเอ็นเอโดยตรงชนิดต่างๆ ได้แก่ สารอะฟลาท๊อกซิน เป็นสารพิษจากเชื้อราพบได้ในเมล็ดธัญพืชชนิดต่างๆ  สารไนโตรซามีน พบในอาหาร เช่น ปลาร้า กะปิ รูปแบบที่ 2 เป็นกลไกที่ไม่ได้มีการทำลายดีเอ็นเอโดยตรง หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Epigenetic mechanism ซึ่งกลไกนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงในระบบที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการแสดงออกของยีนส์ ซึ่งนำไปสู่การเกิดมะเร็ง โดยทรงยกตัวอย่างสารก่อมะเร็งในกลุ่มนี้อย่างละเอียด ซึ่งพบว่า แม้แต่การขาดสารอาหารที่สำคัญ เช่น โคลีน(choline) และ เมไธโอนีน (methionine) ก็ทำให้เกิดมะเร็งของตับได้