เปิดยุทธศาสตร์ ‘อังกฤษ-สิงคโปร์’ อยู่กับโควิด

เปิดยุทธศาสตร์ ‘อังกฤษ-สิงคโปร์’ อยู่กับโควิด

หลังจากเหน็ดเหนื่อยกับการต่อสู้โควิด-19 มาปีกว่า อังกฤษและสิงคโปร์เริ่มเปลี่ยนวิธีคิด ปฏิบัติกับโรคระบาดใหญ่ให้เหมือนกับเป็นโรคประจำถิ่นอย่างไข้หวัดใหญ่ และอยู่ร่วมกันให้ได้ ทั้งสองประเทศทำเช่นนี้ได้เพราะฉีดวัคซีนป้องกันให้ประชาชนไปมากแล้ว

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันจันทร์ (5 ก.ค.) นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันของอังกฤษแถลงแผนยกเลิกมาตรการด้านสังคมและเศรษฐกิจเพื่อควบคุมโควิด-19 ในอังกฤษในวันที่ 19 ก.ค. ยืนยันว่ารัฐบาลตั้งใจยกเลิกมาตรการเข้มงวดในวันดังกล่าว โดยจะตัดสินใจครั้งสุดท้ายในวันที่ 12 ก.ค. ยกเลิกข้อจำกัดในการติดต่อพบปะกัน การทำงานที่บ้าน และการบังคับสวมหน้ากากอนามัย

หลังจากรัฐบาลใช้มาตรการควบคุมประชาชนอย่างเข้มงวดที่สุดในยุคบ้านเมืองสงบเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 นายกฯ จอห์นสันเชื่อมั่นอย่างมากกับโครงการฉีดวัคซีนที่ช่วยลดการติดเชื้อและเข้าโรงพยาบาลได้ ว่าสามารถป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยจากการระบาดระลอกใหม่ล้นโรงพยาบาล

“เราต้องซื่อสัตย์กับตัวเองว่า ถ้าเราเปิดสังคมเรากลับมาไม่ได้ใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า แล้วเมื่อไหร่เราจะได้ชื่นชมกับฤดูร้อนและวันปิดเทอมที่กำลังมาถึง ดังนั้นเราต้องถามตัวเองว่า จะกลับไปใช้ชีวิตปกติได้เมื่อไหร่ เราจะเลิกใช้กฎหมายบังคับ ปล่อยให้ผู้คนตัดสินใจเองบนฐานข้อมูลว่าจะจัดการกับไวรัสอย่างไร”

ภายใต้แผนการนี้ซึ่งบังคับใช้กับอังกฤษ ไม่รวมสกอตแลนด์ เวลส์ หรือไอร์แลนด์เหนือ ไนต์คลับจะเปิดบริการได้อีกครั้ง สถานบันเทิงเข้าได้ไม่จำกัดจำนวน ยกเลิกข้อบังคับเว้นระยะ

อังกฤษมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก จอห์นสันถูกกล่าวหาว่าล็อกดาวน์อังกฤษทั้ง 3 ครั้งช้าเกินไป แต่อังกฤษฉีดวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว ข้อมูลจากรัฐบาลระบุว่า นับถึงวันจันทร์ ผู้ใหญ่ 86% ฉีดวัคซีนแล้ว 1 โดส และ 64% ฉีดแล้วสองโดส

ตัวเลขจากกระทรวงสาธารณสุขชี้ว่า วัคซีนให้ประสิทธิผลสูงป้องกันการป่วยหนักหรือเข้าโรงพยาบาลเพราะสายพันธุ์เดลตา โดยเฉพาะเมื่อฉีดครบสองโดส 162561469894

ในโอกาสนี้ นายกฯ อังกฤษขอให้ประชาชนอายุต่ำกว่า 40 ปีมาฉีดวัคซีนเข็ม 2 ภายใน 8 สัปดาห์หลังจากฉีดเข็มแรก เช่นเดียวกับกลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไป แทนที่จะเป็น 12 สัปดาห์เหมือนตอนแรก

จอห์นสันกล่าวเสริม เขาเชื่อว่านี่คือช่วงเวลาดีที่สุดในการยกเลิกข้อจำกัด ประชาชนจะได้ระวังตัวกันต่อไป และหากจำเป็นก็อาจนำมาตรการสกัดโรคมาใช้อีก

“ผมไม่อยากให้ประชาชนรู้สึกเหมือนอย่างที่เคยเป็น ว่านี่คือช่วงเวลาแห่งความสุขไม่มีภาระอะไรแล้ว อีกนานมากกว่าเราจะจัดการกับไวรัสได้จบ ที่แน่ๆ หากเจอสายพันธุ์อื่นที่วัคซีนใช้ไม่ได้ เราก็ต้องใช้มาตรการทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อปกป้องประชาชน”

ก่อนหน้านั้นในวันที่ 29 มิ.ย. จอห์นสันเคยประกาศว่า ในอนาคตสหราชอาณาจักร (ยูเค) ต้องอยู่ร่วมกับโควิดเหมือนไข้หวัด เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรีลี เซียนหลุงของสิงคโปร์ ที่เคยแถลงผ่านสถานีโทรทัศน์เมื่อวันที่ 31 พ.ค. เขาเชื่อว่า โควิด-19 จะไม่หายไปไหนแต่จะอยู่กับมนุษย์และกลายเป็นโรคประจำถิ่น ในสิงคโปร์เองจะมีการระบาดเล็กๆ เป็นครั้งคราว

“เป้าหมายของเราคือต้องทำให้ทั้งชุมชนปลอดภัย พร้อมๆ กับยอมรับว่า บางคนอาจติดเชื้อบ้าง เราก็แค่รับมือแบบเดียวกับไข้หวัดใหญ่หรือไข้เลือดออก ที่ตอนนี้จัดการได้โดยใช้มาตรการด้านสาธารณสุขและการดูแลตัวเอง อย่างกรณีไข้หวัดใหญ่ก็ฉีดวัคซีนกันไปตามปกติ”

ทั้งนี้ โรคประจำถิ่น หมายถึง โรคที่เกิดขึ้นประจำในพื้นที่นั้น กล่าวคือมีอัตราป่วยคงที่และสามารถคาดการณ์ได้ โดยขอบเขตของพื้นที่อาจเป็นเมือง ประเทศ หรือใหญ่กว่านั้นอย่างกลุ่มประเทศ หรือทวีป

ต่อมาในวันที่ 24 มิ.ย.กัน คิม หย่ง รัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมลอว์เรนซ์ หว่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอ่อง อี๋ คัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จากซึ่งเป็นประธานร่วมคณะทำงานระหว่างกระทรวงของสิงคโปร์ ร่วมกันเขียนลงเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์เดอะสเตรตส์ไทมส์ (The Straits Times) ในหัวข้อ“ชีวิตปกติสุขกับโควิด-19: เหล่ารัฐมนตรีหัวหน้าคณะทำงานร่วมฯ เผยถึงการร่างแผนโรดแมปเพื่อชีวิตในความปกติใหม่” พร้อมตอบคำถามการระบาดใหญ่จะยุติลงเมื่อใดและอย่างไร ระบุ

“ข่าวร้ายคือ โควิด-19 อาจไม่หายไปไหน ข่าวดีคือเราสามารถใช้ชีวิตร่วมกับมันได้ หมายความว่าเป็นไปได้มากที่โควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น”

ทั้งนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ได้วางโรดแม้ปในการอยู่ร่วมกับโควิดอย่างโรคประจำถิ่น โดยยึดหมุดหมายวันชาติ 9 ส.ค. ประชากรอย่างน้อย 2 ใน 3 ต้องฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว