ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย.ต่ำสุดในรอบปี

ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย.ต่ำสุดในรอบปี

ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ปรับตัวลดลง 3 เดือนต่อเนื่อง และต่ำที่สุดในรอบปี วอนรัฐเร่งฉีดวัคซีนครอบคลุม 70%, ลดค่าน้ำค่าไฟ SMEs 30%

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม พบว่าผู้ประกอบการมีความเป็นห่วงเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงงานที่รุนแรงขึ้นตามการระบาดในภาพรวมของประเทศที่มีผู้ป่วยรายใหม่ 5 – 6 พันคนเนื่องจากวัคซีนเข้ามาช้า ดังนั้นรัฐบาลควรทำลายคอขวดเปิดให้ภาคเอกชน และโรงพยาบาลนำเข้าวัคซีนทางเลือกได้อย่างเสรี เพราะหลายฝ่ายช่วยกันหาก็ดีกว่าให้หน่วยงานเดียวจัดการ ซึ่งผู้ประกอบการโรงงานไม่สามารถทนได้ไปถึงช่วงปลายปี โดยที่ผ่านมามีโรงงานหลายแห่งมีคนงานติดโควิด-19 จนต้องปิดการดำเนินงานเป็นส่วน ๆ หรือปิดทั้งหมด 14 วัน ทำให้กระทบต่อการผลิตมาก แต่การระบาดยังไม่รุนแรงจนถึงขั้นป่วยหนักหรือเสียชีวิต เพราะคนงานส่วนมากเป็นวัยหนุ่มสาว แต่กระทบต่อการผลิตของโรงงานมาก

“ให้รัฐเปิดให้มีวัคซีนทางเลือกเข้ามามากขึ้น ผู้ที่มีฐานะก็สามารถซื้อเองได้จะช่วยลดงบประมาณภาครัฐ และกระจายวัคซีนได้รวดเร็ว ส่วนผู้ที่มีฐานะไม่ดีนัก รัฐก็ควรนำเงินเข้ามาอุดหนุนลดค่าวัคซีน เพราะที่ผ่านมารัฐก็มีเงินเข้าไปอุดหนุนในเรื่องมาตรการอื่น ๆ อยู่แล้ว เช่น คนละครึ่ง , เที่ยวด้วยกัน , ยิ่งใช้ยิ่งได้ , เราชนะ เป็นต้น หากกันเม็ดเงินส่วนหนึ่งมาอุดหนุนค่าวัคซีนก็จะช่วยประชาชนได้มาก”

ส่วนผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2564 อยู่ที่ระดับ 80.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 82.3 ในเดือนพฤษภาคม 2564 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และต่ำที่สุดในรอบ 12 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกสาม ที่ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต รวมทั้งการแพร่ระบาดในแคมป์คนงานก่อสร้างในหลายพื้นที่ จนภาครัฐต้องยกระดับมาตรการควบคุม COVID-19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้ง   4 จังหวัดภาคใต้ อาทิ มาตรการสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นเวลา 30 วัน มาตรการห้ามนั่งรับประทานอาหารและเครื่องดื่มในร้านอาหาร เป็นต้น

นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนยังทำได้อย่างจำกัด และไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังอ่อนแอ ด้านการส่งออกสถานการณ์การขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ ทวีความรุนแรงขึ้นส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้ายานยนต์ ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และอัตราค่าระวางเรือ (Freight) ที่ทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง ยังเป็นปัจจัยที่ผู้ส่งออกมีความกังวล

162555496884

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกของไทยที่มีทิศทางดีขี้น สะท้อนจากดัชนีฯ คำสั่งซื้อและยอดขายต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเริ่มฟื้นตัว และสถานการณ์ COVID-19 ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลาย ทำให้อุปสงค์ในตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่การอ่อนค่าของเงินบาท ที่อ่อนค่ามากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค เป็นปัจจัยบวกต่อผู้ส่งออกทำให้สินค้าไทยถูกลงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ขณะเดียวกันผู้ส่งออกยังมีรายได้ในรูปเงินบาทมากขึ้น

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,364 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนมิถุนายน 2564 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมัน ร้อยละ 59.6 สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ร้อยละ 47.4 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 37.2 ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 58.2, และอัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 43.5 ตามลำดับ

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 90.8 จากระดับ 91.8 ในเดือนพฤษภาคม 2564 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของ COVID-19     ที่ยังไม่คลี่คลายซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลานานในการควบคุม รวมทั้งการกลายพันธุ์ของไวรัส ทำให้การควบคุมการแพร่ระบาดอาจทำได้ยาก ขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังชะลอตัวลง ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย เนื่องจากไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าและรายได้ของผู้ประกอบการลดลง โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ต้องเผชิญปัญหาขาดสภาพคล่องจากการขาดเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ

ส่วนข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในเดือนนี้มี 5 ข้อ คือ 1. เร่งการจัดหาวัคซีนคุณภาพและเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากรทั้งประเทศในทุกกลุ่มอาชีพก่อน พิจารณาเปิดประเทศเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ 2. ขอให้ภาครัฐเร่งแก้ไขสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างจนกระทบต่อภาคการผลิตการส่งออก 3. ออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ COVID-19 ให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม รวมทั้งกิจการทุกประเภทเพื่อบรรเทาผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ 4. ภาครัฐควรจัดหา Soft loan พิเศษ ช่วยเหลือ SMEs กลุ่ม NPLs โดยอาจกำหนดเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้ SMEs กลุ่มนี้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น อาทิ กำหนดดอกเบี้ยพิเศษ หรือจัดทำเกณฑ์พิจารณาสำหรับ NPLs ที่มีโอกาสรอด เป็นต้น และ5. ออกมาตรการลดค่าน้ำค่าไฟ และค่าสาธารณูปโภคร้อยละ 30 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs