ขยาย 'เตียงไอซียู' รองรับผู้ป่วยโควิดสีเหลือง-แดงเพิ่ม 1,500 เตียง

ขยาย 'เตียงไอซียู' รองรับผู้ป่วยโควิดสีเหลือง-แดงเพิ่ม 1,500 เตียง

รบ.เร่งขยาย 'เตียงไอซียู' รองรับผู้ป่วยโควิดสีเหลือง-แดง เสริม 1,500 เตียง ร พร้อมเปิดสถานการณ์จำนวนเตียงในโรงพยาบาลกทม.และ 'โรงพยาบาลสนาม'

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมของรัฐบาลในการบริหารจัดการ เตียงรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ทั้งกลุ่ม ผู้ป่วยโควิดสีแดง และสีเหลือง ในพื้นที่กทม. และปริมณฑลตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้อำนวยการ ศบค. ซึ่งมีความห่วงใยต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ว่า ขณะนี้รัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุขและทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ดำเนินการจัดเตรียมเตียงไว้สำหรับรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 อย่างเต็มที่

  • ขยายเตียงรองรับ 'ผู้ป่วยอาการหนัก' เพิ่ม 1,500-2,000 เตียง

โดยในส่วนของ โรงพยาบาลบุษราคัม กระทรวงสาธารณสุข ได้หารือกับผู้บริหารเมืองทองธานีเพื่อต่อสัญญาใช้สถานที่สำหรับทำโรงพยาบาลบุษราคัมต่อไปอีกจนถึงสิ้นเดือน ตุลาคม 2564 นี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อรับผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล รวมถึงผู้ป่วยจากจังหวัดใกล้เคียง และแบ่งเบาภาระและบรรเทาปัญหาการขาดแคลนเตียงในพื้นที่ กทม.

ทำให้ โรงพยาบาลบุษราคัม ขยายเตียงเพิ่มได้อีก 1,500-2,000 เตียง รวมมีเตียงรองรับผู้ป่วยอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง (สีเหลือง) ได้ประมาณ 3,700-4,000 เตียง โดยมีการบูรณาการความร่วมมือกับโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ ในการสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์เข้ามาช่วยดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ทั้งผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงในกทม.

นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรียังได้รับรายงานถึงความร่วมมือจากกระทรวงกลาโหม โดยได้หารือและพิจารณาร่วมกันในแต่ละส่วนของกองทัพ ถึงขีดความสามารถทางการแพทย์ทหารในการร่วมระดมปรับเกลี่ยบุคลากรทางการแพทย์ทหาร เสริมโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เร่ง ขยายห้องผู้ป่วย ICU ในโรงพยาบาลทหารต่างๆ ในพื้นที่ กทม. และขยายขีดความสามารถ พื้นที่ มทบ.11 สนับสนุนอาคารและสถานที่จัดทำโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติม

  • ขยาย 'เตียงไอซียู' จัดตั้ง 'โรงพยาบาลสนาม'เพิ่ม

โดยร่วมกับโรงพยาบาลธนบุรีบำรุงเมือง จัดตั้ง โรงพยาบาลสนาม ดูแลผู้ป่วยสีแดงและเหลือง จำนวน 178 เตียง และร่วมกับโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ดูแลผู้ป่วยสีเขียว เพิ่มเติมอีก 176 เตียง นอกจากนี้ โรงพยาบาล 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลวชิรพยาบาล จะเปิดเตียงสีแดงเพิ่มเติมในสัปดาห์หน้า ได้มีการขอสนับสนุนกำลังบุคลากรทางด้านสาธารณสุขในส่วนของแพทย์เฉพาะทาง แพทย์จบใหม่ และพยาบาล มาช่วยดูแล ผู้ป่วยโควิด 19 อีกด้วย

นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมสถานพยาบาลเพื่อรองรับการรักษาพยาบาล ผู้ป่วยโควิด 19 ตามอาการต่างๆ และมีการดูแลอย่างเป็นระบบ โดยสถานะสถานพยาบาล (ณ 30 มิถุนายน 2564)

สถานการณ์เตียงของกทม. และปริมณฑล จาก 9 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต กระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลเอกชน มีเตียงทั้งหมด รวมจำนวน 31,505 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว 26,069 เตียง และรองรับได้เพิ่มเติมจำนวน 5,436 เตียง

ทั้งนี้ จำแนกตามระดับเตียง ได้แก่

เตียงระดับ 3 (สีแดง) จำนวน 1,317 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว 1,203 เตียง รองรับได้เพิ่มเติม 114 เตียง 

เตียงระดับ 2 (สีเหลือง) จำนวน 12,782 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว 11,090 เตียง รองรับได้เพิ่มเติม 1,692 เตียง

เตียงระดับ 1 (สีเขียว) จำนวน 17,404 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว 13,776 เตียง รองรับได้เพิ่มเติม 3,628 เตียง

  • เปิดจำนวน 'โรงพยาบาลสนาม' รองรับผู้ป่วยโควิดในประเทศไทย 

ส่วน โรงพยาบาลสนาม (ณ 30 มิถุนายน 2564) ได้แก่

(1) การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ปัจจุบันมีทั้งหมด 53 แห่ง พร้อมรับจำนวน 11,104 เตียง ขยายได้เป็น 12,822 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว จำนวน 3,840 เตียง รองรับได้เพิ่มเติม จำนวน 7,264 เตียง

(2) สถานะการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามของกระทรวงกลาโหม สนับสนุนอาคารสถานที่ ให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการ จำนวน 31 แห่ง พร้อมใช้งาน จำนวน 4,770 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว จำนวน 1,394 เตียง และรองรับได้เพิ่มเติม จำนวน 3,376 เตียง

(3) สถานะการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามของ กทม. ปัจจุบันมีทั้งหมด 10 แห่ง พร้อมรับ จำนวน 2,502 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว จำนวน 2,101 เตียง รองรับได้เพิ่มเติม จำนวน 401 เตียง รวมสถานะการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามจาก 3 หน่วยงานดังกล่าว ปัจจุบันมีทั้งหมด 94 แห่ง พร้อมรับ จำนวน 18,376 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว จำนวน 7,335 เตียง และรองรับได้เพิ่มเติม จำนวน 11,041เตียง

นายอนุชา กล่าวว่า สำหรับโรงพยาบาลสนามแบบโรงแรม (Hospitel) รวมทั้งสิ้น จำนวน 77 แห่ง เปิดให้บริการแล้วจำนวน 59 แห่ง พร้อมใช้งาน จำนวน 14,559 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว จำนวน 13,061 เตียง และรองรับได้เพิ่มเติม จำนวน 1,498 เตียง ขณะเดียวกันก็มีการบริหารจัดการเตียงสำหรับผู้ป่วยต่างด้าวในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

โดย Hospitel ปัจจุบันมีจำนวน 10 แห่ง พร้อมใช้งาน 2,755 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว จำนวน 2,252 เตียง รองรับได้เพิ่มเติม จำนวน 503 เตียง โรงพยาบาลสนาม จำนวน 9 แห่ง พร้อมใช้งาน 4,542 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว 3,589 เตียง และรองรับได้เพิ่มเติม จำนวน 953 เตียง