'กสิกร ไลน์' เล็งคุมเข้มปล่อยสินเชื่อนาโฟแนนซ์ หากธปท.สั่งลดดอกเบี้ยอีกครั้ง

'กสิกร ไลน์' เล็งคุมเข้มปล่อยสินเชื่อนาโฟแนนซ์  หากธปท.สั่งลดดอกเบี้ยอีกครั้ง

"กสิกร ไลน์" หวั่นธปท.ลดดอกเบี้ย มีโอกาสคุมเข้มปล่อยสินเชื่อนาโฟแนนซ์ และยอดปฏิเสธเพิ่มขึ้น หากลดดอกเบี้ย 1% มีผลต่อกำไรธุรกิจ พร้อมคุมหนี้เสียไม่เกิน5% ตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าจากผู้ใช้ไลน์เพิ่มดันสิ้นปียอดสินเชื่อคงค้างแตะหมื่นล้าน

นายธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด (Line BK) ธุรกิจในเครือธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า หากภาครัฐมีการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อรายย่อยลงอีกครั้ง บริษัทได้รับผลกระทบดังกล่าวเช่นเดียวกับสถาบันการเงินอื่น เพราะช่วงที่ผ่านมาสินเชื่อส่วนบุคคลรวมถึงสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ได้มีการปรับลดเพดานดอกเบี้ยลงมาแล้ว ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างพิจารณา ซึ่งดูหลายด้านอย่างลึกซึ้ง

ขณะที่สถาบันการเงินอื่นรวมถึงบริษัทอาจต้องปรับลดความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยง ทำให้การปฏิเสธสินเชื่อมีโอกาสเพิ่มขึ้น หากมีการปรับลดเพดานดอกเบี้ยดังกล่าวอีกครั้ง ส่วนกระทบผลกำไรต่อตัวบริษัทมากน้อยแค่ไหน ยังไม่สามารถประเมินได้ เนื่องจากบริษัทพึ่งจัดตั้งมาได้เพียงไม่กี่ปีซึ่งยังมีต้นทุนอยู่ ส่วนผลกระทบต่อกำไรของสถาบันการเงินโดยทั่วไปหากลดดอกเบี้ยลงเพียง1%ก็มีผลต่อกำไรธุรกิจอยู่แล้ว

นายธนา กล่าวอีกว่า ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ในระบบมีโอกาสเพิ่มขึ้นในอนาคตได้ แต่ในช่วงปีนี้ยังไม่เห็นตัวเลขหนี้เสียดังกล่าวที่ชัดเจน เนื่องจากมีมาตรการของภาครัฐต่างๆในการช่วยเหลือ โดยเฉพาะมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ และกลุ่มรายย่อยยังเป็นกลุ่มเสี่ยงในการผลักดันหนี้เสียในระบบปรับตัวเพิ่มขึ้น

ในส่วนของบริษัทตั้งเป้าหมายคุมหนี้เสียปีนี้ไม่ให้เกิน 5% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2% และให้สอดคล้องกับสถานการ์ที่เกิดขึ้นบริษัทจำเป็นต้องคุมเข้มเรื่องการให้สินเชื่อมากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงตั้งเป้าหมายเพิ่มฐานลูกค้าสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ จากปัจจุบันมีประมาณ 10,000 ราย คิดเป็นสินเชื่อ 300-400 ล้านบาท รวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะสร้างการเรียนรู้ให้กับคนใช้ไลน์ในการเข้าถึงสินเชื่อของบริษัท ทั้งนี้ ตั้งแต่จัดตั้งบริษัทปล่อยสิยเชื่อไปแล้ว14,000 ล้านบาท

สำหรับแนวโน้มในครึ่งปีหลังนั้น นายธนา จะยังคงต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังมาก เนื่องจากการระบาดของโควิด 19 ที่มีความยืดเยื้อได้ส่งผลในวงกว้างทั้งต่อเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการ รวมถึงประชาชนทั่วไป และสถานการณ์ข้างหน้ายังไม่มีความชัดเจน ดังนั้น สิ่งที่ต้องเข้าไปดูแลอย่างเข้มข้นก็คือคุณภาพหนี้ มากกว่าการขยายสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าของไลน์บีเคที่เป็นกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำอยู่ประมาณ 40% ขณะที่เป้าหมายสินเชื่อนั้น ยังคงไม่มีการตั้งเป้าเพิ่มเติม

แต่เชื่อว่า ณ สิ้นปีนี้น่าจะแตะ 10,000 ล้านบาท จากปัจจุบันมีสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 9,000 ล้านบาท  โดยมีผู้บัญชีผู้ใช้ Line BKปัจจุบันกว่า2.8 ล้านบัญชี มียอดธุรกรรมทางการเงิน 50,000ล้านบาท  อีกทั้งในส่วนของการขยายบริการคาดว่าคงจะเป็นบริการด้านธุรกิจด้านประกันและการลงทุน โดยธุรกิจตัวแทนประกันก็คาดว่าประมาณ 1 ปีจะเริ่มต้นได้

“เราจะยังคงเดินหน้าพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อเติมเต็มไลฟ์สไตล์การเงินในชีวิตประจำวันที่สะดวกและปลอดภัย ช่วยให้คนไทยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ง่ายขึ้น โดยตั้งเป้าหมายให้ LINE BK ขึ้นเป็น 1 ใน 5 บริษัทชั้นนำด้านธุรกิจการให้บริการสินเชื่อ พร้อมมุ่งมั่นที่จะขยายขอบเขตบริการทางการเงินรูปแบบอื่น ๆ เพื่อให้ครอบคลุมทุกความต้องการมากยิ่งขึ้น เช่น บริการด้านการประกัน และการลงทุน”