ธปท.ชี้โควิดทุบเศรษฐกิจเดือน มิ.ย. พร้อมปรับจีดีพีหากผลกระทบรุนแรง

ธปท.ชี้โควิดทุบเศรษฐกิจเดือน มิ.ย. พร้อมปรับจีดีพีหากผลกระทบรุนแรง

แบงก์ชาติเผยแนวโน้มเดือน มิ.ย. โควิดกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจทรุด พร้อมปรับประมาณการจีดีพีหากผลกระทบมาตรการกึ่งล็อกดาวน์กระทบรุนแรง-ยืดเยื้อกว่าคาด ชี้ปัญหาว่างงานเป็นความกังวลหลัก

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจในเดือน มิ.ย.2564 จากข้อมูลเร็ว หรือข้อมูลที่ยังไม่เต็มเดือน จะเห็นได้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจถูกผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ค่อนข้างมาก จากตัวเลขการระบาดที่ดีขึ้นในเดือนช่วงปลายเดือน พ.ค.กลับดีดตัวขึ้นอีกครั้ง สอดคล้องกับภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปลายเดือน พ.ค.กลับมาฟื้นตัวดีขึ้น จากมาตรการควบคุมการระบาดที่ลดความเข้มงวดลง แต่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดในเดือน มิ.ย.ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวลดลง

ดังนั้น ความยืดเยื้อของสถานการณ์การแพร่ระบาดจะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะเข้ามากำหนดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป ซึ่ง ธปท.จะติดตามสถานการณ์โควิด-19 ต่อไปอย่างใกล้ชิดเช่นกัน เพราะมองเห็นว่าเป็นสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง

นอกจากนี้ ธปท.คาดว่ามาตรการกึ่งล็อกดาวน์ประกาศคุมเข้มพื้นที่เสี่ยง จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แม้ประมาณการทางเศรษฐกิจล่าสุดของ ธปท.จะประเมินผลกระทบเชิงลบจากความไม่แน่นอนและความเสี่ยงที่ยังค่อนข้างสูงในระยะข้างหน้าไปแล้ว อย่างไรก็ดี หากผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงและยืดเยื้อขึ้น ธปท.จะปรับตัวเลขประมาณการให้เหมาะสมต่อไป

เมื่อสอบถามถึงปัญหาการจ้างงาน นางสาวชญาวดี กล่าวว่า เป็นประเด็นที่ ธปท.ให้ความสนใจมาโดยตลอด เพราะเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับรายได้ ความเป็นอยู่ของประชาชน กำลังในจับจ่ายใช้สอย และการสนับสนุนให้เศรษฐกิจเดินไปข้างหน้าได้ โดยปัจจุบันมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ยืดเยื้อ รวมถึงแรงงานที่ ธปท.เคยมองเป็นกลุ่มที่ว่างงานชั่วคราว หากย้ายมาเป็นกลุ่มที่ว่างงานระยะยาวจะส่งผลต่อรายได้และการบริโภคของคนกลุ่มดังกล่าว และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจตามมา

"เราเรียกว่าเป็นแผลเป็นที่อาจจะแก้ไขได้ยากขึ้น เพราะแรงงานที่ไม่ได้ทำงานบางส่วนอาจจะสูญเสียทักษะไป เพราะฉะนั้น เมื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นจะกลายเป็นอีกปัญหาหนึ่ง ดังนั้น เราต้องช่วยให้กลุ่มนี้กลับมามีทักษะ และเป็นฟันเฟืองให้เท่าทันกับเศรษฐกิจที่กลับมา ซึ่งเป็นประเด็นที่ ธปท.กังวลที่สุดอยู่แล้วในเรื่องของแรงงาน"