โควิดรอบ 3 ฉุดจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือน.พ.ค.ลดต่อเนื่อง

โควิดรอบ 3 ฉุดจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือน.พ.ค.ลดต่อเนื่อง

พาณิชย์ เผยโควิดรอบ 3 คนไม่มั่นใจประกอบธุรกิจส่งผลยอดจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือนพ.ค. 5,568 ราย ลดลง  7%   ขณะที่เลิกกิจการมากขึ้น แต่ยังมั่นใจประชาชนฉีดวัคซีนเพิ่ม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐ  การเปิดเมือง ส่งผลให้คนเชื่อมั่นกลับมาประกอบธุรกิจ

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า สถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเดือนพ.ค. 2564 มีการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่จำนวน 5,568 ราย ลดลง 7 % เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย. ที่มีจำนวน 5,972 รายดยมูลค่าการมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 21,513.71 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้านี้ที่มีมูลค่า 20,679 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 4 % ส่วนภาพรวมการจดทะเบียนธุรกิจ 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.64 ) พบว่า   มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ทั้งหมด 34,929 ราย เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าเพิ่มขึ้น 27% ขณะที่การจดทะเบียนเลิกธุรกิจตั้งแต่เดือนม.ค. ถึงพ.ค.2564 มีจำนวนทั้งหมด 3,882 ราย เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าลดลง 20%

โดยธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 551 ราย คิดเป็น 10% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 312 ราย คิดเป็น 6% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้ารวมถึง คนโดยสาร จำนวน 181 ราย คิดเป็น 3% ตามลำดับ

ส่วนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ  มีจำนวน 792 รายเพิ่มขึ้น 29 %เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.ที่มีจำนวน 612 ราย  หรือ 180 ราย โดยมีมูลค่า ทุนจดทะเบียนจำนวน 2,322.75 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา  ธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 71 ราย  คิดเป็น 9% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 50 ราย คิดเป็น 6% และธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร จำนวน  27 ราย คิดเป็น 3%  ซึ่งประเภทของธุรกิจเลิกกิจการนั้นโดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดของโควิด-19

162503760655

ทั้งนี้ การลดลงของจำนวนการจดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ในเดือนพ.ค. อาจมีผลมาจาก การระบาดระลอกสามของโควิด-19 ที่กระจายเป็นวงกว้าง และมีคลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจลดลง โดยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือนพ.ค. 2564 ของธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ที่ 43 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าถึง 7% และใกล้เคียงกับช่วงการแพร่ระบาดอย่างหนักในปีก่อนหน้า  นอกจากนี้ผู้ประกอบการ ยังคงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และชะลอการตัดสินใจจัดตั้งนิติบุคคลออกไปก่อน เช่น ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร ธุรกิจบัญชีและการตรวจสอบบัญชี และ ธุรกิจออกแบบและตกแต่งภายใน

อย่างไรก็ตาม จากมาตรการการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 นับตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. ที่มีจำนวนประชาชนผู้ได้รับวัคซีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการมีนโยบายในการเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ ที่มีความพร้อมจากจำนวนประชาชนผู้ได้รับวัคซีนที่เพียงพอ และมาตรการที่รัดกุมในเดือนก.ค.เป็นต้นไป เช่น จังหวัดภูเก็ต และอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมทั้ง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เช่น โครงการคนละครึ่งเฟส 3 โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่จะเริ่มต้นในเดือนก.ค.  2564 รวมทั้ง มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น มาตรการ “สินเชื่อ ฟื้นฟูมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย โครงการจับคู่กู้เงิน สถาบันการเงินกับร้านอาหารของกระทรวงพาณิชย์ ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ หรือเข้าถึงสถาบันการเงิน โดยมีดอกเบี้ยราคาพิเศษ และปลอดหลักทรัพย์ในบางกรณี น่าจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในครึ่งปีหลังฟื้นตัวขึ้น โดยกรมฯ ได้ปรับประมาณการเป้าหมายทั้งปีใหม่เป็น 67,000-69,000 ราย เพิ่มจากเดิม 64,000-65,000 ราย

             

สำหรับการการลงทุนประกอบธุรกิจในไทยภายใต้กฎหมายต่างด้าวเดือนพ.ค. มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้น มีจำนวน 37 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจจำนวน 20 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจจำนวน 17 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 4,218 ล้านบาทนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น จำนวน 12 ราย เงินลงทุน 372 ล้านบาทรองลงมา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จำนวน  6 ราย เงินลงทุน 18 ล้านบาท และจีน จำนวน 5 ราย เงินลงทุน 770 ล้านบาท ตามลำดับ

ปัจจุบันมีธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้น  (ณ วันที่ 31 พ.ค. 64) จำนวน 799,881 ราย  มูลค่าทุน 19.54 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 195,786 ราย คิดเป็น 24.48บริษัทจำกัด จำนวน 602,801 ราย คิดเป็น 75.36และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,294 ราย คิดเป็น 0.16%