เจาะจุดแข็งค้าปลีก “สยามฟิวเจอร์ฯ” ท่ามกลางทุนใหญ่ยอมจ่าย

 เจาะจุดแข็งค้าปลีก “สยามฟิวเจอร์ฯ”   ท่ามกลางทุนใหญ่ยอมจ่าย

ลือกันสะพัดในตลาดหุ้นว่าธุรกิจค้าปลีกกำลังจะเกิดดีลใหญ่ ซึ่งมีการพุ่งเป้าไปที่ บริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SF ที่มีทุนใหญ่ใจถึงแสดงความสนใจอยากเข้าซื้อกิจการจำนวนไม่น้อย

รายแรกที่มีข่าวออกมาคือกลุ่มเซ็นทรัล สนใจจะเข้ามาซื้อกิจการ จนต้องมีการชี้แจงอย่างเป็นทางการออกมาว่า บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ยอมรับว่าอยู่ระหว่างศึกษาข้อมูล และขั้นตอนการเข้าซื้อกิจการของSF ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีข้อตกลงใดๆ

จนเรื่องดังกล่าวเกิดการซักถามไปยังผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ SF ซึ่งคือ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAJOR ในฐานะผู้ถือหุ้น 29.58 % ออกมาปฎิเสธว่ายังไม่มีการเข้าทำข้อตกลงดังกล่าวกับทางกลุ่มเซ็นทรัล

ยังไม่ทันทีกระแสข่าวดังกล่าวจะจางหายไปเกิดประเด็นกลุ่มเจ้าสัวอีกราย “สิริวัฒนาภักดี” ภายใต้บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เน้นทำธุรกิจศูนย์การค้าและ โรงแรม มีข่าวสนใจเข้าร่วมซื้อกิจการ SF ด้วย  ล่าสุด AWC ได้มีการออกมาชี้แจงแล้ว ยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้มีข้อความปฎิเสธออกมาว่าไม่สนใจเข้าร่วมซื้อกิจการด้วย !!

เมื่อรายใหญ่แสดงความสนใจเข้าซื้อกิจการทำให้ SF กลายเป็นหุ้นที่ร้อนแรงด้านราคาหุ้นตามไปด้วย เพราะราคาหุ้นในเดือนมิ.ย. ขยับแตะ 11.50 บาท (21 มิ.ย) นิวไฮใหม่สำหรับหุ้น และวานนี้ (28 มิ.ย.) ราคามาปิดที่ 10.70 บาท ลดลง0.93 % แต่มูลค่ามาร์เก็ตแคปที่ระดับ 23,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงหมื่นล้านบาทจากต้นปีที่ผ่านมา

จุดที่น่าสนใจของ SF เป็นปัจจัยเรียกผู้ซื้อเข้ามาลงทุนคือสินทรัพย์ในมือ จากสิ้นปี 2563 มีโครงการ 18 โครงการในมือ มีพื้นที่เช่า 430,628 ตารางเมตร มีศูนย์การค้าที่หลากหลายเซกเมนต์ และมีชื่อด้านทราฟฟิคในการใช้บริการของลูกค้าที่หนาแน่นด้วยอัตราการเช่าพื้นที่ 94 % ของพื้นที่เช่าทั้งหมด

ทั้งศูนย์การค้าชุมชน อย่าง มาร์เก็ตเพลส ,ศูนย์ไลฟ์สไตล์มีพื้นที่ทองคำ เจ อเวนิว ทองหล่อ หรือ ลา วิลล่า อารีย , ศูนย์บันเทิงในย่าย CBD เอสพละนาด รัชดาภิเษก ,และศูนย์การค้าขนาดใหญ่ เมกาบางนา ที่กลายเป็นแหล่งช้อปปิ้งใหญ่ในโซนตะวันออกจากการดึงแม่เหล็กสำคัญเอาใจ คนรักบ้านและชอบตกแต่งสัญชาติสวีเดนอย่าง “อีเกีย” เข้ามาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมลงทุน และกลายเป็นศูนย์การค้าที่มีพื้นที่เช่ามากที่สุดของพอร์ตถึง 47 %

ดังนั้นรายได้ส่วนใหญ่ของ SF มาจาก 2 ส่วนคือ รายได้ค่าเช่าและบริการ สัดส่วน 41 % และอีก 57% มาจากส่วนแบ่งกำไรจากการร่วมค้า ซึ่ง “เมกา บางนา” ถือว่าเป็นจุดแข็งให้ SF มีพื้นที่เช่า 180,000 ตารางเมตร ก่อนจะมีการขยายพื้นที่ตามมาเป็น 201,491 ตารางเมตร และในสิ้นปี 2563 ซึ่งวิกฤติโควิดรุนแรงมากที่สุดแต่กลับทำอััตราการเช่าพื้นที่ในศูนย์ดังกล่าวคือ 100 %

จากรายได้และกำไรปี 2563 อยู่ที่ 2,664 ล้านาท และ 2,083 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากกิจการร่วมลงทุน ซึ่งเกิน 50 % จากส่วนแบ่งกำไรมาจาก “เมกา บางนา” ด้านฐานะด้านการเงินมีสินทรัพย์ใหญ่ที่ศูนย์การค้าในมือและที่ดิน ที่สำคัญมีกำไรสะสมที่สูงถึง12,170 ล้านบาท

ช่วงที่ผ่าน SF เจอผลกระทบจากโควิดด้วยเช่นกัน เพราะต้องมีมาตรการลดค่าเช่าและค่าบริการ และลดต้นทุนเข้ามาเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป ส่งผลทำให้รายได้ 2563 ลดลง จากปีก่อนหน้า 19.71 % แต่กำไรยังทรงตัวจากปีก่อนที่ 2,083 ล้านบาท

นอกจากนี้ SF ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 2 โครงการคือ โครงการมาร์เก็ตเพลส กรุงเทพกรีฑา ที่มีรูปแบบเป็นศูนย์การค้าชุมชน 5,000 ตารางเมตร และโครงการมาร์เช่ 55 ในรูปแบบมิกซ์-ยูส ใกล้กับมาร์เก็ตเพลส ทองหล่อ เดิม มีพื้นที่เช่าศูนย์การค้าประมาณ 10,000 ตารางเมตร

ด้วยฐานะการเงิน มาตรการบริหารจัดการต้นทุน ทำเลที่ตั้งและผู้ร่วมทุนที่มีความแข็งแกร่งจากคู่แข่ง และยังมีโครงการที่เดินหน้าอีกอาจจะทำให้ SF ยังสามารถประคองตัวเองในวิกฤติระลอก 3 นี้ไปได้ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือการตัดสินใจของผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่าง MAJOR ว่าถึงเวลาขายสินทรัพย์ชิ้นนี้ออกไปหรือยัง ?