‘หุ้นโรงพยาบาล’แจ่ม! ผู้ติดเชื้อพุ่ง-เอกชนยังมีเตียงรับผู้ป่วย

‘หุ้นโรงพยาบาล’แจ่ม! ผู้ติดเชื้อพุ่ง-เอกชนยังมีเตียงรับผู้ป่วย

ข้อเสนอของบุคลากรทางการแพทย์ที่อยากให้มีการล็อกดาวน์พื้นที่ กทม. อย่างน้อย 7 วัน ถูกพูดถึงอย่างมากในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเมืองหลวงยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มากกว่าพันคนต่อวัน มานานเกือบ 2 เดือน โดยพบการระบาดในหลายคลัสเตอร์ จนทำให้จำนวนเตียงในการรักษาผู้ป่วยเหลือน้อยเต็มที

โดยเฉพาะโรงพยาบาลของรัฐที่เหลือเตียงรักษาผู้ป่วยอาการหนัก กลุ่มสีแดงซึ่งต้องใช้เครื่องช่วยหายใจแค่ประมาณ 20 เตียงเท่านั้น ส่วนเตียงผู้ป่วยสีเหลืองที่มีอาการปานกลางเหลืออยู่ประมาณ 300 เตียง ถือว่าสถานการณ์ขณะนี้กำลังเข้าขั้นวิกฤต ถ้าผู้ติดเชื้อใหม่ยังสูงแบบนี้ เตียงที่มีอยู่ไม่พอแน่นอน

ทำให้ช่วงนี้หลายโรงพยาบาลประกาศงดให้บริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ชั่วคราว หรือ จำกัดการตรวจต่อวัน มีการปิดห้องฉุกเฉิน ห้องไอซียู เพราะเตียงเต็ม ไม่สามารถรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อได้แล้ว ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ทำงานกันอย่างหนัก และเริ่มที่จะขาดแคลนเช่นกัน เพราะบางส่วนก็ติดเชื้อด้วย สวนทางกับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น

คงต้องรอดูว่า ศบค. และรัฐบาลจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้อย่างไร สรุปแล้วจะมีการล็อกดาวน์จริงหรือไม่? หรือต้องยกระดับมาตรการคุมเข้มอะไรเพิ่มเติม

ในมุมของตลาดทุนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลดีต่อธุรกิจโรงพยาบาลที่จะได้รับอานิสงส์จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ผ่านบริการตรวจคัดกรองผู้ป่วย และรักษาผู้ติดเชื้อ โดยโรงพยาบาลเอกชนยังพอมีศักยภาพ มีเตียงที่จะรองรับผู้ป่วยได้อยู่ ทั้งในโรงพยาบาลและในฮอสพิเทลที่ร่วมมือกับโรงแรมเครือข่าย

หนุนผลประกอบการในไตรมาส 2 นี้ เติบโตแข็งแกร่ง ต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยเฉพาะบริษัทที่มีรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ซึ่งบล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุว่า บริษัทที่มีสัดส่วนรายได้จากการให้บริการตรวจรักษาโควิด-19 มากที่สุด คือ บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH มีสัดส่วนอยู่ที่ 21% จากรายได้รวมทั้งหมด ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา

ตามด้วยบริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) หรือ 16%, บริษัท เอกชัยการแพทย์ จำกัด (มหาชน) หรือ EKH 15% หลังเกิดการระบาดหนักในพื้นที่ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ที่โรงพยาบาลตั้งอยู่

บริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำกัด (มหาชน) หรือ CHG อยู่ที่ 7%, บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS 5% และ บริษัท โรงพยาบาล ลาดพร้าว จำกัด (มหาชน) หรือ LPH มีสัดส่วนจากบริการที่เกี่ยวกับโควิด 3%

โดยฝ่ายวิจัยประเมินว่าการระบาดระลอก 3 ที่ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จะหนุนให้ผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2564 ของหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลที่มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ มากกว่า 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนถ้ามองต่อเนื่องไปถึงช่วงครึ่งปีหลัง หุ้นโรงพยาบาลยังมี “อัพไซด์” ส่วนเพิ่มจากการเร่งเดินหน้าฉีดวัคซีนให้ได้ราว 50 ล้านคน เพื่อให้ทันกับกำหนดการเปิดประเทศภายใน 120 วัน หรือ ราวกลางเดือนต.ค. นี้ ของรัฐบาล โดยปัจจุบันยอดการฉีดวัคซีนเข็มแรกของไทยอยู่ที่ประมาณ 6 ล้านคน เท่ากับว่าในช่วงกว่า 3 เดือนนับจากนี้ ต้องฉีดวัคซีนให้ได้อีกราว 44 ล้านคน

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากการนำเข้าและให้บริการฉีดวัคซีนทางเลือก โดยเฉพาะวัคซีนของ “โมเดอร์นา” ที่หลายโรงพยาบาลเปิดให้จองฉีดกันไปแล้ว ซึ่งได้รับกระแสตอบรับอย่างดี คาดว่าจะให้บริการได้ในช่วงไตรมาส 4 นี้

ส่วนในอนาคตหากสามารถเปิดประเทศได้จริง นำร่องจากพื้นที่ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ในวันที่ 1 ก.ค. นี้ และ 3 เกาะ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี “เกาะสมุย-เกาะพะงัน-เกาะเต่า” วันที่ 15 ก.ค. ถ้าประสบความสำเร็จ ไม่มีการระบาดรอบใหม่ ผู้ติดเชื้อไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ก็จะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกให้ผู้ป่วยต่างชาติบินเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทยมากขึ้น