บัญชีกลางประหยัดงบจัดซื้อไตรมาสสอง4.8หมื่นล้าน

บัญชีกลางประหยัดงบจัดซื้อไตรมาสสอง4.8หมื่นล้าน

บัญชีกลางเผยผลจัดซื้อจัดจ้างไตรมาส 2 ปี 64 ประหยัดงบประมาณได้ 4.8 หมื่นล้าน

นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางได้นำระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) มาใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานของรัฐ ตั้งแต่ปี พศ. 2552 เป็นต้นมา และได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณของประเทศ และยกระดับความโปร่งใสของโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ทำให้ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและเกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียม สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน อีกทั้งยังช่วยประหยัดเงินงบประมาณจากโครงการต่างๆได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งสิ้นไตรมาสที่ 2 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (ตุลาคม 2563 – มีนาคม 2564) มีโครงการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด จำนวน 2.6 ล้านโครงการ มูลค่ากว่า 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งมีโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่ได้ผู้ชนะการประกวดราคาแล้ว จำนวน 2.5 ล้านโครงการ ในวงเงินงบประมาณ 778,812 ล้านบาท โดยมีวงเงินงบประมาณที่จัดหาได้ 730,630 ล้านบาท สามารถประหยัดงบประมาณได้กว่า 48,203 ล้านบาท คิดเป็น 6.19%

อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวย้ำว่า กรมบัญชีกลางมีภารกิจเกี่ยวกับการควบคุมดูแลการใช้จ่ายเงินของแผ่นดินและหน่วยงานภาครัฐ โดยเป็นหน่วยงานกลางในการวางกรอบหลักเกณฑ์กลางให้หน่วยงานภาครัฐถือปฏิบัติให้เป็นไปโดยถูกต้อง มีวินัย คุ้มค่า โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ ตั้งแต่การดำเนินการจัดหาพัสดุ การบริหารพัสดุ ตลอดจนถึงการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ทั้งนี้ หลังจากที่พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ได้ประกาศใช้ กรมบัญชีกลางให้ความมั่นใจว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการใดก็ตาม สามารถทำให้หน่วยงานของรัฐและผู้ค้าภาครัฐได้รับความสะดวก รวดเร็วมากขึ้น เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เนื่องจากดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทุกขั้นตอน ที่สำคัญมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ประหยัดงบประมาณและลดการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อเปรียบเทียบกับการจัดซื้อจัดจ้างแบบเดิม และในปัจจุบันกรมบัญชีกลางมีแผนการพัฒนาระบบและปรับปรุงขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง โดยนำระบบ Blockchain มาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของระบบมากยิ่งขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงในการทุจริต และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ทุกภาคส่วนต่อไป