'กรมอนามัย' ห่วง 'เนอสซิ่งโฮม' ดูแลผู้สูงอายุ หวั่นเกิด คลัสเตอร์ใหม่

'กรมอนามัย' ห่วง 'เนอสซิ่งโฮม' ดูแลผู้สูงอายุ หวั่นเกิด คลัสเตอร์ใหม่

'กรมอนามัย' ห่วง 'เนอสซิ่งโฮม' ดูแลผู้สูงอายุ เนื่องจากส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว หากพบผู้ติดเชื้อ ต้องแยกออกจากที่พักทันที หวั่นเกิดเป็น คลัสเตอร์ใหม่ พร้อมย้ำผู้ดูแลต้องปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ลดเสี่ยงติดและแพร่เชื้อ'โควิด-19'

วันนี้ (22 มิ.ย. 64) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดี'กรมอนามัย' เปิดเผยว่า จากกรณี'เนอสซิ่งโฮม'ดูแลผู้สูงอายุ แห่งหนึ่งย่านบางเขน ซึ่งมีผู้สูงอายุติดเตียงและคนดูแล อาศัยอยู่รวมกัน จำนวน 9 ราย พบติดเชื้อ'โควิด-19' จำนวน 6 ราย เป็นผู้สูงอายุ 5 ราย และผู้ดูแล อีก 1 ราย แต่ยังคงพักรักษาตัวอยู่ในบ้านหลังเดียวกันทั้งหมด รวมถึงผู้ดูแล ที่ติดเชื้อ'โควิด-19' ก็ยังคงต้องดูแลผู้สูงอายุที่ไม่ติดเชื้ออยู่เช่นเดิม ทำให้โอกาสในการแพร่เชื้อไปสู่คนที่เหลือสูงมาก

ดังนั้น หาก'เนอสซิ่งโฮม'ดูแลผู้สูงอายุแห่งอื่นพบกรณีเดียวกับข้างต้น ควรให้ผู้สูงอายุติดเชื้อหรืออยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง กักตนเองเองและเข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป และ ขอความร่วมมือ 'เนอสซิ่งโฮม' ดูแลผู้สูงอายุทุกแห่งประเมินตนเองตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขโดยใช้แพลตฟอร์ม Thai Stop COVID Plus ซึ่งเป็นข้อแนะนำทางด้านสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาด ประกอบด้วยมาตรการ และแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการ ผู้ปฏิบัติงาน และแนวทางการปฏิบัติกรณีพบผู้ติดเชื้อ

ส่วนผู้ดูแลผู้ป่วย ถ้าอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง หรือติดเชื้อ ต้องงดเข้าใกล้หรือดูแลผู้สูงอายุโดยเด็ดขาด ซึ่งการแพร่ระบาดของเชื้อ'โควิด-19' ในผู้สูงอายุ นับเป็นหนึ่งกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคระบบทางเดินหายใจ ทำให้เสี่ยงต่อการ ติดเชื้อโรคได้ง่าย และอาจมีอาการอย่างรุนแรงมากกว่ากลุ่มวัยอื่น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

แนวทางป้องกัน 'โควิด-19'

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การปฏิบัติเพื่อป้องกัน'โควิด-19' ต้องดำเนินการอย่างเข้มงวดในทุกด้านตั้งแต่

1) จัดให้มีจุดคัดกรองสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานผู้มาติดต่อและญาติ บริเวณทางเข้าอาคารที่ครอบคลุมผู้มารับบริการทุกคน

2) ทำความสะอาดจุดหรือบริเวณที่มีการใช้ร่วมกัน เช่น บริเวณห้องน้ำ ห้องส้วม โดยเน้นที่จุดเสี่ยงต่างๆ ได้แก่ โถส้วม ที่กดชักโครกหรือโถปัสสาวะ สายฉีดชำระ กลอน หรือลูกบิดประตู ฝารองนั่ง

3) จัดให้มีภาชนะรองรับมูลฝอยที่เกิดจากการดูแล หรือให้การพยาบาลผู้สูงอายุที่มีฝาปิดมิดชิด กรณีสถานดูแลผู้สูงอายุมีโรงครัวหรือโรงอาหาร ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลอาหาร และล้างมืออย่างสม่ำเสมอด้วยสบู่และน้ำก่อนหยิบหรือจับอาหาร สวมหน้ากากขณะปฏิบัติงาน

4) จัดให้มีภาชนะและของใช้ส่วนตัวสำหรับผู้สูงอายุ

5) งดหรือหลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมที่มีการชุมนุมของผู้สูงอายุในกรณีที่มีการรับบริจาคเงินควรบริจาคผ่านระบบออนไลน์ เพื่อเป็นการลดการแพร่และกระจายเชื้อโควิด-19 ที่ระบาดอยู่ในขณะนี้

นอกจากนี้ ผู้ปฏิบัติงานและเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ควรหมั่นทำความสะอาด เตียงนอน เครื่องใช้ราวจับ กายอุปกรณ์ ที่นอนลม อุปกรณ์ช่วยเดินอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ด้วยน้ำยาทำความสะอาดและเข้มงวดเรื่องการคัดกรองผู้ปฏิบัติงานและผู้มาติดต่อ โดยใช้ระบบประเมินตนเองผ่านเว็บไซต์ “ไทยเซฟไทย” ก่อนเข้าปฏิบัติงาน เพื่อประเมินความเสี่ยงรายบุคคล

ส่วนการให้บริการต้องดูแลตามมาตรฐานการดูแลผู้สูงอายุ ควบคู่กับการดูแลตัวเอง ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นสังเกตตนเอง หากพบมีอาการไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบ ให้แจ้งผู้ประกอบการสถานดูแลผู้สูงอายุและไปพบแพทย์ทันที

"ทั้งนี้ ผู้ดูแลผู้ต้องเน้นย้ำให้ผู้สูงอายุสร้างสุขอนามัยที่ดี ด้วยการล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่และน้ำนาน 20 วินาทีหรือทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ทุกครั้ง ก่อนกินอาหารและหลังเข้าส้วม หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน กินอาหารที่ปรุงสุกร้อนอย่างทั่วถึง ใช้ช้อนกลางส่วนตัว รักษาระยะห่างจากบุคคลอื่น 1–2 เมตรและดูแลสุขภาพ ให้แข็งแรงออกกำลังกายสม่ำเสมอ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว