ยะลาเจอโควิด'เบตา' - 'เดลตา'ในไทยสัดส่วนเพิ่มขึ้น

ยะลาเจอโควิด'เบตา' - 'เดลตา'ในไทยสัดส่วนเพิ่มขึ้น

‘โควิด-19’เบตาเจอในยะลา เร่งตามต้นตอ-การกระจายของเชื้อ เตรียมปรับวันกักตัวเป็น 21 วัน-1เดือน ส่วน ‘เดลตา’แนวโน้มพบเพิ่มขึ้น  ขณะที่“อนุทิน”เผยเดือนมิ.ย.มีวัคซีนโควิด-19 รวม 8.5 ล้านโดส นำส่งทุกสัปดาห์ ส่วนฉีดเข็ม 3 รอรวบรวมข้อมูลรอบด้าน ชงคณะกรรมการฯ

         เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข(สธ.)  กล่าวว่า  ประเทศญี่ปุ่นได้มีการเสนอบริจาควัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (astrazeneca) ผ่านกระทรวงต่างประเทศมาให้กับประเทศไทย แต่ขอไม่เปิดเผยจำนวนวัคซีน ทั้งนี้เมื่อได้รับมาก็ฉีดเป็นเข็ม 1 ส่วนเข็ม 2 ไม่ต้องกังวลเนื่องจากวัคซีนแอสตร้าฯมีการผลิตในประเทศไทยได้ทุกสัปดาห์  ซึ่งการที่ประเทศญี่ปุ่นบริจาควัคซีนให้ไทยครั้งนี้ถือเป็นเรื่องของสัมพันธไมตรี จำนวนเงินลงทุนที่ประเทศญี่ปุ่นมีในประเทศไทยเป็นจำนวนมหาศาล มีประชากรและการจ้างแรงงานจำนวนมาก  จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเพราะญี่ปุ่นก็ให้การสนับสนุนภารกิจต่างๆ ของประเทศไทยมาตลอด

      “ถือเป็นความสัมพันธ์ที่ดีของทั้ง 2 ประเทศ แสดงถึงความเชื่อมั่นในประเทศไทย ทั้งนี้หลังการระบาดของโควิด -19 ต้องมั่นใจว่าด้วยความสัมพันธ์เช่นนี้การลงทุนการค้าขายความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศ จะยิ่งแน่นแฟ้นมากกว่านี้ มองให้เป็นปัจจัยบวกไม่มีอะไรที่เป็นปัจจัยลบ”นายอนุทินกล่าว  

         ถามถึงในการเปิดประเทศ 120 วัน จำเป็นต้องนำตัวเลขผู้ติดเชื้อ 3 พันคนมาพิจารณาร่วมกันหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องดูทุกมิติควบคู่กัน ตอนนี้การติดเชื้อก็ต้องดูว่าติดรูปแบบไหน เป็นรูปแบบคลัสเตอร์ รูปแบบโรงงานมีแรงงานต่างด้าวหรือไม่ และจังหวัดดูแลดีหรือไม่ ปล่อยให้สัญจรไปมาหรือไม่ ไม่ใช่ว่าติดเชื้อในโรงงานแล้วปล่อยให้แรงงานเดินทางกลับบ้าน เดินทางไปไหนก็ได้เป็นแบบนี้ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น  จะต้องไปดูว่าการบริหารจัดการในแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร ส่วนสธ.ต้องรับนโยบายของนายกรัฐมนตรีและมาเตรียมพร้อมทั้งด้านบุคคลากรการแพทย์ ยาเวชภัณฑ์ และวัคซีน เพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ โดยในอีก 1-2 วันจะเชิญผู้บริหารสธ. นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ประชุมหารือแนวทางในการเตรียมการให้เป็นไปตามนโยบายของนายกฯ ทุกฝ่ายทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดประโยชน์ในภาพรวม

 มิ.ย.มีวัคซีน 8.5 ล้านโดส
      “วัคซีนที่รัฐจัดหาเดือนมิ.ย.รวมแล้วเข้ามาถึง 8.5 ล้านโดส จะนำส่งมาทุกสัปดาห์ จากที่คาดว่าจะเข้ามาเพียงราว 6.5 ล้านโดส ส่วนกรณีการพิจารณาให้วัคซีนซิโนแวคเข็ม 3 นั้นขึ้นอยู่กับคณะกรรมการวิชาการ ซึ่งได้มีการพิจารณาและรายงานทุกสัปดาห์อยู่แล้ว มีการศึกษาถึงขั้นว่าจะฉีดยี่ห้อเดียวกันหรือต่างยี่ห้อด้วยซ้ำ ซึ่งสธ.พร้อมทำตามคำแนะนำของคณะกรรมการฯ”นายอนุทินกล่าว

เตรียมปรับสายพันธุ์เบตากักตัว 21 วัน-1เดือน

     นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า  ความรู้เปลี่ยนทุกวัน อย่างวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าช่วงหนึ่งก็บอกว่าฉีดเข็ม 2 ในระยะ 16 สัปดาห์จะดีกว่า แต่พอช่วงนี้ก็บอกว่าให้ฉีดเร็วขึ้น จึงต้องยืดหยุ่น ความรู้ต้องฟังหลายทางประกอบกันไม่ใช่อันใดอันหนึ่ง อย่างซิโนแวคเป็นวัคซีนที่ได้มาตรฐานทั้งขององค์การอนามัยโลกและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ไทยขึ้นทะเบีบยนรับรองก็เป็นวัคซีนที่ใช้ได้ ส่วนประสิทธิภาพก็มี 3 อย่างในเรื่องการป้องกัน คือ ป้องกันการติดเชื้อ ป้องกันอาการรุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิต  ก็ต้องฟังข้อมูลจากหลายๆด้านประกอบกันแล้วให้คณะกรรมการพิจารณา คงไม่ปรับแบบรายวัน
        ผู้สื่อข่าวถามถึงการควบคุมโรคในส่วนของภาคใต้ นพ.โอภาส กล่าวว่า คงเข้มงวดส่วนของมาตรการดำเนินการให้ได้ และตามผู้สัมผัสให้ครบมากที่สุด โดยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) และผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดทราบนโยบายและคงร่วมกับมหาดไทยในการกำชับให้ทำตามมาตรการอย่างเข้มงวดและติดต่อสื่สารกับส่วนกลางอย่างต่อเนื่อง 

        “ประชาชนยังเข้าใจผิดว่าเจอผู้ติดเชื้อที่ไหนให้ปิด แต่ได้มีการบอกมาตลอดเจอผู้ติดเชื้อที่ไหน การปิดไม่ใช่การแก้ปัญหา โดยเฉพาะในช่วงนี้ การแก้ปัญหาคืออย่าให้คนเดินทางกนอกพื้นที่โดยเฉพาะคนที่เป็นผู้ติดเชิ้อ ตรงกับมาตรการบับเบิ้ลแอนด์ซีลที่ทำ การปิดยิ่งจะทำให้สถานการณ์อาจจะกระจายได้เร็วขึ้น และมีการหารือกับจ.ต่างๆอีกครั้ง”นพ.โอภาสกล่าว

       “กรณีสายพันธุ์เบตาจะมีการประกาศกักตัวอย่างน้อย 21 วัน หรือ 1 เดือนให้คณะกรรมการวิชาการพิจารณาอีกครั้ง  ซึ่งสายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ที่ให้ความสำคัญและติดตามอย่างใกล้ชิด ขณะนี้มีระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง”นพ.โอภาสกล่าว  

สัดส่วนเจอเดลตาเพิ่มขึ้น

       ถามถึงกรณี สายพันธุ์เดลตา นพ.โอภาส กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีการเฝ้าระวังตรวจทุกวัน แนวโน้มส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์อัลฟา ส่วนสายพันธืเดลตาก็มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเปลี่ยนรายวัน รายสัปดาห์ แต่มาตรการป้องกันโรคไม่ว่าสายพันธุ์ไหนก็ป้องกันคล้ายกัน ส่วนการตอบสนองต่อวัคซีน คงต้องติดตามข้อมูลอีกระยะหนึ่งแล้วค่อยประเมิน ขณะนี้มาตรการสำคัญคือพยายามฉีดวัคซีนให้มากที่สุดตามแผนที่กำหนดไว้ ส่วนถ้ามีเหตุที่ต้องปรับเปลี่ยนก็ต้องปรับตามสถานการณ์

 รอข้อมูลรอบด้านก่อนฉีดเข็ม 3

     ถามต่อว่าจำเป็นต้องมีการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 นพ.โอภาส กล่าวว่า ต้องรอข้อมูลทางวิชาการก่อน  ตอนนี้เร็วไปที่จะพูด ในทางวิชาการก็เป็นไปได้ ทั้งจำเป็นและไม่จำเป็น  ซึ่งไม่ได้ฟังข้อมูลวิชาการอันใดอันหนึ่ง ไม่ได้พังความเห็นคนใดคนหนึ่ง เพราะมีคณะกรรมการที่พิจารณาอย่างรอบด้านเพื่อมาตัดสินใจประกอบกัน การเปลี่ยนอะไรต้องเป็นการเปลี่ยนที่เกิดประโยชน์

     “สายพันธุ์ก็เปลี่ยนเรื่อยๆ พอไม่สั่งวัคซีนแล้วพออีกสายพันธุ์หนึ่งมาแล้วได้ผลดี ก็ไม่ทัน  ที่สำคัญคือต้องหาวัคซีนเก็บไว้ในมือ พร้อมรองรับสถานการณ์มากกว่า มิเช่นนั้นจะกลายเป็นการเปลี่ยนรายวัน ก็ไม่แน่ใจว่ามะรืนนี้มะเรื่องนี้ จะมีสายพันธุ์อะไรเข้ามาอีก”นพ.โอภาสกล่าว   

    นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า ขณะนี้กำลังมองถึงทางเลือกอยู่ว่าฉีดวัคซีนข้ามยี่ห้อๆได้หรือไม่ ก็มีการศึกษาและติดตามอยู่  ความรู้มันเปลี่ยนรายวัน อย่าไปกังวล อย่าไปตื่นตระหนกกับที่มันเปลี่ยน ยกตัวอย่าง ก่อนหน้านี้มีช่วงหนึ่งที่บอกว่า แอสตร้าฯฉีดห่างกัน 16 สัปดาห์ดีกว่า แต่พอเวลาผ่านไปก็บอกว่าฉีดห่างกันสั้นดีกว่า เพราะฉะนั้นถ้าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาก็คงวุ่นวาย จึงต้องฟังความให้รอบด้าน แต่ไม่ใช่ไม่เปลี่ยนน แต่จะต้องประเมินสถานการณ์ที่ดีที่สุด และเหมาะสมที่สุด

 ร.ร.ในยะลาเจอพันธุ์เบต
      นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด – 19 ในประเทศไทยขณะนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์อัลฟา(อังกฤษ) ส่วนสายพันธุ์เดลตา(อินเดีย)เป็นอันดับรองลงมา แต่พบในแคมป์คนงานเพิ่มขึ้นทั้งแถวนนทบุรี ส่วนภาคใต้เป็นสายพันธุ์เบตา(แอฟริกาใต้) ซึ่งจำนวนหนึ่งเจอนอกจ.นราธิวาส โดยเป็นจังหวัดในภาคใต้ที่อยู่ใกล้เคียงกัน ส่วนตัวเลขต่างๆอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ไม่ได้ปกปิด

เร่งตามเชื้อกระจายกี่จังหวัด

     ถามถึงกรณีโรงเรียนประจำแห่งหนึ่งในจ.ยะลา  นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ในโรงเรียนแห่งนี้ตรวจเจอทั้งสายพันธุ์อัลฟาและเบตา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเร่งติดตามต้นของการติดเชื้อในโรงเรียนแห่งนี้ รวมถึง ติดตามว่ามีการกระจายไปในจังหวัดใดแล้วบ้าง

        “สายพันธุ์เบตานั้น ดื้อต่อวัคซีนพอสมควร แต่ความสามารถในการแพร่โรคไม่เร็วเท่าอัลฟาและเดลตา ดังนั้นที่กังวลตอนนี้คือสายพันธุ์เดลตาที่พบว่ามีการติดเชื้อในหลายจังหวัดแล้ว ซึ่งตามหลักการได้แจ้งพื้นที่ให้ควบคุมแล้ว หากคุมได้ก็จะหยุดเร็วใน 14 วัน ไม่แพร่เชื้อในวง 2 วง 3 แต่อย่างที่ทราบว่าปัจจัยที่จะควบคุมได้หรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นกับเราคนเดียว ต้องเคร่งครัดมาตรการต่างๆ จึงรายงานต่อฝ่ายความมั่นคงให้เข้มงวดแล้ว กิจกรรมใดหากให้งดทำแต่ยังทำอยู่ก็เป็นเรื่องยาก ที่จะลดการแพร่โรค รวมทั้งการลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมาย อย่างเชื้อเบตานั้นมีความชัดเจนว่ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน”นพ.ศุภกิจกล่าว