เจดับเบิ้ลยูดีฯ ทรานส์ฟอร์ม พลิกโมเดลโลจิสติกส์ สานเป้าหมื่นล้าน

เจดับเบิ้ลยูดีฯ ทรานส์ฟอร์ม   พลิกโมเดลโลจิสติกส์ สานเป้าหมื่นล้าน

ธุรกิจโลจิสติกส์ เป็นกระดูกสันหลังของประเทศ หลายปีธุรกิจเบ่งบานเติบโตไม่น้อยในหลายหมวดหมู่ทั้งคลังสินค้า การขนส่งสินค้าที่มีการควบคุมอุณหภูมิ ไปจนถึงส่งพัสดุ ขานรับตลาดอีคอมเมิร์ซที่เติบโต ตลาดมีผู้เล่นมากมาย “จุดยืน”หรือ Positioning แตกต่างกัน

เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ เป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญ ยึดหัวหาดด้านโลจิสติกส์มากว่า 4 ทศวรรษ บริการลูกค้าทั้งรับฝากและบริหารสินค้า ขนส่ง ขนย้ายสินค้า ตลอดจนรับฝากเอกสารและบริการข้อมูลฯ มีลูกค้าภาคธุรกิจ(B2B) เป็นฐานใหญ่ 80-90% แต่แผน 5 ปี(2564-2568) บริษัทจะทรานส์ฟอร์มองค์กร ขยายโมเดลธุรกิจใหม่ สร้างการเติบโต

ธเนศ พิริย์โยธินกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการค้า พัฒนาธุรกิจ และการลงทุน บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD ฉายภาพองค์กรที่กำลังอยู่ระหว่างการทรานส์ฟอร์มธุรกิจครั้งสำคัญ ไม่เพียงปรับตัวเองให้รับกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยน ความต้องการของลูกค้าที่ไม่เหมือนเดิม แต่การระบาดของโรคโควิด-19” เป็นตัวเร่งให้ต้องพลิกโมเดลธุรกิจใหม่ฝ่าวิกฤติไปพร้อมๆกันด้วย

แผน 5 ปี การเตรียมงบลงทุน 12,000 ล้านบาท ขยายธุรกิจมุ่งต่อยอดธุรกิจหลักให้เติบโต การสร้างคลังสินค้าเพื่อให้เช่า ขยายเข้าสู่โลจิสติกส์ปาร์ค และนิคมอุตสาหกรรม ทั้งการลงทุนเองรวมถึงใช้ทางลัด ซื้อและควบรวมกิจการ( M&A) สปีดขยายอาณาจักรให้เติบใหญ่เร็วขึ้น

นอกจากนี้ ต้องเกาะ เทรนด์” ที่จะมาแรง ซึ่งธุรกิจโลจิสติกส์ที่เป็นอนาคต คือการขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิ(Cold Chain) มีJWD Express” ชักธงรบลุยตลาด เจาะลูกค้าหมวดหมู่อาหาร โดยเฉพาะสุกี้-ชาบูเพราะปีที่ผ่านมาร้านอาหารเหล่านี้เจอโจทย์หิน ร้านปิด แต่ลูกค้าต้องการรับประทานอาหาร จึงต้องเปิดรับ Pre-Order ล่วงหน้า กลยุทธ์นี้ยังเลี่ยงแข่งขันแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ที่สั่ง-ส่งอาหารแบบออนดีมานด์ด้วย โดยแผนสร้างห้องเย็นจะมีครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอิสานฯ

ขณะที่ตลาดอีคอมเมิร์ซทรงอิทธิพลต่อผู้บริโภคมากขึ้น สินค้าเดิมๆที่เคยค้าขายผ่านช่องทางเก่า(Traditional) วันนี้ยกไปอยู่บนออนไลน์ บริษัทเตรียมลงทุนคลังสินค้าออนไลน์ ซึ่งแห่งแรกจะแล้วเสร็จเดือนสิงหาคมนี้ รวมถึงสร้างห้องจัดเก็บสินค้าส่วนตัว(Self Strorage)เพิ่มแตะ 30,000 ตารางเมตร(ตร..) จากปัจจุบันมี 6 แห่ง ทั้งกรุงเทพฯและภูเก็ต พื้นที่รวม 12,000 ตร..

การขยายธุรกิจโลจิสติกส์ ยังมองตลาดต่างประเทศด้วย มองหมุดหมายสำคัญสเต็ปภูมิภาคที่ เวียดนาม กัมพูชา และอินโดนีเซีย ส่วนไกลออกไประดับเอเชีย มองตลาดทั้งอินเดีย จีนฯ โดยอาศัยพันธมิตรร่วมสร้างการเติบโต

 ทั้งนี้ กลยุทธ์ดังกล่าว จะผลักดันให้เป้าหมาย 5 ปี มีพื้นที่คลังสินค้า นิคมอุตสาหกรรม สินทรัพย์ทุกอย่างแตะ 1 ล้านตร..

การเติบโตในอนาคต ไม่ได้มาจากบริษัทสร้างเองเท่านั้น แต่มองการซื้อและควบรวมกิจการ ใช้การซีนเนอร์ยีกับพันธมิตรเพื่อทำให้ 1+1 เป็น 3-4 ซึ่งปีนี้บริษัทมีการเจรจาซื้อกิจการ 1-2 รายการ คาดว่าจะปิดดีลภายในไตรมาส 3-4”

การซื้อกิจการเป็นทางลัดช่วยสปีดธุรกิจ แต่ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ความไม่แน่นอนรอบด้าน อาจทำให้องค์กรคิดใหม่ ขับเคลื่อนธุรกิจช้าลง แต่ ธเนศ” ให้มุมมองว่า ความเร็วในยุคนี้ยังเป็นสิงจำเป็น เฉกเช่นการเป็นองค์กรใหญ่ทว่า แผนธุรกิจที่จะเร่งสร้างการเติบโตไปข้างหน้าต้องมี กลยุทธ์” เพื่อบุกตลาดอย่างแม่นยำ

อดีตขนาดธุรกิจสำคัญ แต่ปัจจุบันความเร็วจำเป็นอย่างยิ่ง หากองค์กรมีทั้ง 2 จุดแข็งยิ่งดี และ JWD พยายามเป็นปลาใหญ่ที่เร็ว

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนธุรกิจปี 2564 ไม่ง่าย และท้ายทายมาก ธเนศ มองโจทย์ยากไม่ใช่แค่การสร้างรายได้ให้เติบโต แต่การบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนให้ต่ำ เพื่อรับสถานการณ์โควิดคลี่คลาย การค้าขายฟื้นตัว แต่ที่โหดหินไม่แพ้กันคือการจะเติบโตก้าวกระโดดบุคลากรเป็นฟันเฟืองสำคัญ ปัจจุบันบริษัทมีพนักงานทั้งในและต่างแดนราว 2,200 คน มีคนหลากเจนเนอเรชั่น ทำให้ต้องผสานความคิดต่างให้ลงตัว เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน

คนรุ่นเก่ามีประสบการณ์ คนรุ่นใหม่มีไอเดียสร้างสรรค์ ต้องหารูปแบบให้คน 2 กลุ่มลุยไปด้วยกัน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่การลงมือทำจริงสำคัญ

ปี 2563 เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ สร้างรายได้กว่า 4,000 ล้านบาท กำไรสุทธิเกือบ 300 ล้านบาท ปี 2564 บริษัทตั้งเป้ารายได้โต 9% ส่วนแผน 5 ปี มุ่งทยานสู่ 10,000 ล้านบาท มองกำไร 15% สัดส่วนรายได้จาก B2B 70% และ B2C C2C จะแตะ 30% 

อย่างไรก็ตาม การลงทุนต่อเนื่อง ทำให้มีภาระหนี้สินค่อนข้างสูง แต่บริษัทเชื่อว่าสิ่งที่ลงทุนจะสร้างผลตอบแทนกลับมาได้ใน 3-5 ปี รวมถึงการหาเครื่องมือทางการเงินและบริการจัดการลดสัดส่วนหนี้สินต่อทุนให้ต่ำลง

“JWDเราก้าวข้ามประตูทรานส์ฟอร์ม ใน 3-5 ปีจะเห็นการเข้าสู่เป้าหมาย ไม่เพียงแค่รายได้หมื่นล้าน แต่บริษัทต้องการเป็นแบรนด์โลจิสติกส์ชั้นนำของภูมิภาคเอเชีย ผู้ใช้บริการมีความเชื่อมั่น”