ไขข้อข้องใจ 'วัคซีนโควิด-19' พร้อมเปิดระบบกระจายวัคซีน 'Cold Chain'

ไขข้อข้องใจ 'วัคซีนโควิด-19' พร้อมเปิดระบบกระจายวัคซีน 'Cold Chain'

'วัคซีนโควิด-19' เป็นการยุติการแพร่ระบาดของโรค ทว่ายังคงมีเกิดคำถามเกิดขึ้นมากมาย ยิ่งใกล้วันฉีดวัคซีน 7 มิ.ย.นี้ ก็ยิ่งทำให้หลายๆคนเกิดความวิตกกังวลว่าจะได้ฉีดหรือไม่ และจะมีแผนกระจายวัคซีน 'Cold Chain' อย่างไร

หลังจากที่รัฐบาลมีการชะลอการลงทะเบียนจอง 'ฉีดวัคซีนโควิด'ผ่านแอปพลิเคชั่น 'หมอพร้อม' เพื่อให้ประชาชนได้มีทางเลือกในการลงทะเบียนรับวัคซีน พร้อมแนะนำให้จังหวัดอื่นๆ นำโมเดลของ กทม. หรือ นนทบุรี หรือภูเก็ต ที่มีการสร้างแพลตฟอร์มลงทะเบียนรับวัคซีนของตัวเอง หรือจะไปที่โรงพยาบาล หรือ รพ.สต. ยังใช้ได้แทน ยิ่งก่อนหน้านี้มีประเด็นเรื่องของจำนวนวัคซีนที่จะนำเข้ามาฉีดให้แก่ประชาชนว่าเพียงพอหรือไม่? จนเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับ 'วัคซีนโควิด-19' มากมาย

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)ได้จัดแถลงผลงานเรื่อง “วิจัยและนวัตกรรมนำไทยสู้ภัยCovid-19” พร้อมเปิดประเด็น “วัคซีน Covid-19 ไขข้อสงสัย และการเดินหน้าประเทศไทยด้วยวิจัยและนวัตกรรม” 

162236940796

 โดย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีน covid19 ศูนย์วิจัยวัคซีนคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการพัฒนา 'วัคซีนโควิด-19' ของไทย ว่าขณะนี้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกไปมากกว่า168 ล้านคน และเสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 3.5 ล้านคน ซึ่งการจะลดการแพร่ระบาดของโรคและควบคุมโรคโควิด-19 ได้ ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันในทุกวิถีทาง โดยโครงการพัฒนาวัคซีน covid 19 จุฬาฯ ได้มีการพัฒนา'วัคซีน'ในรุ่นแรกเสร็จแล้ว

มีการรายงานผลการทดลองในหนูและลิงสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในระดับสูง อย่าง ป้องกันหนูไม่ให้ป่วยได้ 100% ยับยั้งไม่ให้เชื้อเข้าสู่กระแสเลือดได้ 100% เมื่อได้รับ'วัคซีน' 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ อีกทั้ง วัคซีนของจุฬาฯ สามารถเก็บในอุณหภูมิตู้เย็นปกติคือ 2-8 องศาเซลเซียสอย่างน้อย 3 เดือน ดังนั้น จึงไม่มีปัญหาเรื่องการขนส่งกระจาย'วัคซีน'ไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศอย่างแน่นอน

162236942536

  • ทำความรู้ 'วัคซีนโควิด-19' สายพันธุ์ไทย 

วัคซีน mRNA ที่จุฬาฯพัฒนาขึ้นนั้น มีจุดเด่นคือสามารถออกแบบได้ และเก็บไว้ในอุณหภูมิตู้เย็นปกติ ขณะที่'วัคซีน'ชนิดอื่นๆ อาจต้องเก็บไว้ในอุณหภูมิติดลบ และตอนนี้ภาพรวมวัคซีนได้ทดลองกับอาสาสมัครเรียบร้อยแล้วคาดว่าจะรู้เดือนก.ค.นี้ โดยวัคซีนจุฬาฯ ได้ตั้งเป้าว่าจะผลิตในรุ่นแรกได้มากกว่า 50 ล้านโดสศ.นพ.เกียรติ กล่าว

สำหรับ'วัคซีน'พัฒนารุ่นที่ 2 เป็นการพัฒนาเพื่อตอบโต้เชื้อดื้อวัคซีนให้ได้อย่างรวดเร็ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการขออนุญาตวิจัยในคนจากคณะกรรมการการวิจัยในมนุษย์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ส่วนวัคซีนพัฒนารุ่นที่ 3 หรือไม่นั้น คงต้องวิเคราะห์จากสถานการณ์ในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม 'วัคซีน'มีความสำคัญมากในการป้องกัน ลดความรุนแรงของโรค ดังนั้น ประชาชนไม่ต้องรอว่า'วัคซีน'ชนิดไหน หรือรอ'วัคซีน'ยี่ห้ออะไร แต่ทุกคนควรฉีดวัคซีนป้องกันไว้ก่อน และการ์ดห้ามตก ใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างทางสังคม งดกิจกรรมเสี่ยงช่วยกันควบคุมโรค

162236945112

เมื่อนำ 'วัคซีนโควิด-19' เข้ามาในประเทศแล้วจะต้องมีการกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ซึ่งกระบวนการขนส่ง การกระจายวัคซีนจึงมีความสำคัญเช่นเดียวกัน ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ (LogHealth) ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกแบบพัฒนาแพลตฟอร์ม ระบบติดตาม-ตรวจสอบย้อนกลับ 'โซ่ความเย็น' วัคซีนโควิด-19 (COVID-19 Vaccines Track and Traceability Platform for Cold Chain and Patient Safety) สำหรับติดตามและตรวจสอบย้อนกลับ ข้อมูลของวัคซีน

รศ.ดร. ดวงพรรณ กริชชาญชัย อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ และหัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ (LogHealth) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หน้าที่ของแพลตฟอร์มระบบติดตาม-ตรวจสอบย้อนกลับ โซ่ความเย็นวัคซีนโควิด-19 หรือ 'Cold Chain' จะแสดงผลรายละเอียดวัคซีนทั้งหมด ตั้งแต่การผลิตวัคซีน ทั้งในประเทศและการนำเข้า การจัดเก็บวัคซีน การขนส่งและกระจายวัคซีนโควิด-19 ว่าขนส่งด้วยพาหนะอะไร เมื่อไร ไปที่ไหน ให้ใคร รวมถึงข้อมูลการควบคุมความเย็นของระดับอุณหภูมิตลอดโซ่อุปทาน ตั้งแต่บริษัทผู้ผลิต ผู้ขนส่ง ไปจนถึงโรงพยาบาลผู้ให้บริการ และประชาชนผู้รับบริการ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน

  • 'Cold Chain' ระบบกระจายวัคซีนถึงประชาชน

ระบบ 'Cold Chain' จะนำชุดข้อมูลของแต่ละหน่วยงานที่ได้กรอกไว้ในระบบกลาง Co-Vaccine ของสธ.ทั้งข้อมูลการลงทะเบียนบริษัทผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าวัคซีน ตลอดจนผู้รับบริการวัคซีน ขและแอปพลิเคชั่นหมอพร้อม เพื่อแสดงผลด้าน Supply Chain and Logistics หากเกิดปัญหาขึ้น สามารถเรียกคืนวัคซีนได้รวดเร็วทันสถานการณ์ เช่น ปัญหาวัคซีนระบุวันหมดอายุไม่ชัดเจน มีรอยแก้ไข เป็นต้น แพลตฟอร์มนี้จะสืบค้นได้ว่าวัคซีนที่มีปัญหาอยู่ที่ไหน ฉีดให้ใคร และเรียกคืนได้เร็ว

ขณะที่ด้านการเก็บรักษาวัคซีน โดยใช้ระบบลูกโซ่ความเย็น (Cold Chain) จำเป็นต้องรักษาอุณหภูมิให้คงที่ โดยวัคซีนที่ประเทศไทยนำเข้าในปัจจุบัน คือ แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca), ซิโนแวค (Sinovac) จะต้องมีอุณหภูมิคงที่ประมาณ 2 - 8 องศา ตลอดโซ่อุปทาน โดยมีระบบ Sensor Monitoring คอยตรวจระดับรักษาความเย็นและคอยเก็บข้อมูล ติดไว้ที่รถขนส่ง และตู้แช่วัคซีนในรพ.

162236947327

นอกจากนี้ สามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้ตลอด 'Cold Chain' ผ่านระบบ IoT ตั้งแต่ข้อมูลผลิตภัณฑ์ ปริมาณ วัคซีนที่ผลิต นำเข้าหรือจัดซื้อ, อุณหภูมิการจัดเก็บ จำนวนและชนิดของวัคซีนที่กระจายไปให้แต่ละโรงพยาบาล, และข้อมูลผู้รับบริการวัคซีน โดยแต่ละกล่องของวัคซีนนั้นจะมีหมายเลขSerial ระบุอยู่ เพื่อป้องกันการผิดพลาด สร้างความมั่นใจแก่ประชาชนได้อย่างดี และก้าวผ่านวิกฤติไปพร้อมกันเพื่อคนไทยและประเทศไทย

นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ  ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กล่าวว่า 'วัคซีนโควิด-19' เป็นเรื่องที่ทีมวิจัยกำลังศึกษาตั้งแต่กระบวนการก่อนมีวัคซีน ขณะมีวัคซีน และติดตามหลังมีวัคซีน ทั้งเรื่องการพัฒนาวัคซีน ประสิทธิผลจากการใช้จริง และผลข้างเคียง ติดตามวัคซีนต่างๆ เพราะ 'วัคซีนโควิด-19' เป็นความคาดหวังให้ช่วยรอดจากโควิด-19 และงานวิจัยจะช่วยสนับสนุนให้มีความชัดเจน และไปสู่การกำหนดนโยบายในการดูแลประชาชนในประเทศ

162236949978

อยากให้มีภูมิคุ้มกันระบบชุมชนมากขึ้น เพราะหากชุมชนมีคนที่มีภูมิคุ้มกันมาก การติดเชื้อจะเกิดได้น้อยลงและลดการแพร่กระจายเชื้อได้ แต่ทั้งนี้ปัจจัยในการควบคุมโรคโควิด-19 ไม่ใช่มีเพียงฉีดวัคซีนให้มากและรวดเร็วเท่านั้น ทุกคนต้องมีข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง นโยบายที่ชัดเจน ผลการวิจัยสนับสนุน และประชาชนให้ความร่วมมือ นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย