'โควิด-19' กับความเปราะบางของเมืองใหญ่

'โควิด-19' กับความเปราะบางของเมืองใหญ่

โควิด-19 สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของประชากรในเมืองจำนวนมาก ที่เชื่อมโยงกับความเปราะบางและตกหล่นเชิงระบบ ที่ทำให้ผู้คนเต็มไปด้วยความเสี่ยงในมิติต่างๆ และยากที่จะเข้าถึงโอกาสในการขยับสถานะทางสังคม

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่แต่เพียงจะส่งผลกระทบทั้งทางสุขภาพและทางเศรษฐกิจให้กับประชากรจำนวนมาก ดังที่มีรูปธรรมที่เห็นประจักษ์จากหน้าข่าวในหนังสือพิมพ์ตลอดช่วงเวลากว่าหนึ่งปีที่ผ่านมาเท่านั้น หากแต่ยังสะท้อนหรือเผยให้เห็นความเปราะบางทางสุขภาพ ระบบการบริหารจัดการด้านต่างๆ และความเปราะบางทางเศรษฐกิจสังคม ที่ส่งผลกระทบและบ่อนเซาะผู้คนจำนวนมากตลอดสถานการณ์การแพร่ระบาด โดยเฉพาะกลุ่มคนจน/คนเปราะบางในเมือง

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุดในประเทศไทยนี้ อาจกล่าวได้ว่ามีความแตกต่างจากการระบาดในระลอกก่อนหน้าตรงที่ว่าการระบาดในระลอกล่าสุดได้ลุกลามอย่างรวดเร็วในพื้นที่ของสลัมหรือชุมชนแออัด หรือแคมป์คนงาน ซึ่งผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยงจำนวนมากเป็นแรงงานและผู้มีรายได้น้อย และจำนวนไม่น้อยเป็นแรงงานนอกระบบ หรือแรงงานรายวันที่ไม่มีหลักประกันใดๆ ทางรายได้

ในมุมมองของผู้เขียน การระบาดระลอกล่าสุดนี้ได้เผยให้เห็นและชวนให้สังคมไทยได้ทำความเข้าใจและรู้จักความเปราะบางของประชากรในเมืองจำนวนมาก ที่เชื่อมโยงกับความเปราะบางและตกหล่นเชิงระบบ ที่ทำให้คนจำนวนมากมีชีวิตที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงในมิติต่างๆ และยากที่จะเข้าถึงโอกาสในการขยับสถานะทางสังคม

ความเปราะบางด้านอาชีพ คนจนเมืองในชุมชนแออัดหรือสลัมจำนวนมากอาจกล่าวได้ว่าเป็นแรงงานของเมือง ที่คนชั้นกลางในเมืองจำนวนมากอาจไม่เคยมองเห็นหรือเข้าใจชีวิตของพวกเขา มีการคาดการณ์ว่าประชากรร้อยละ 80 ของชุมชนแออัดในกรุงเทพมหานครเป็นแรงงานในภาคบริการของเมือง ที่มีลักษณะอาชีพหลากหลาย เช่น งานทำความสะอาด พนักงานในร้านอาหารและร้านค้า ผู้รับส่งของและสินค้า แรงงานบนแพลตฟอร์มส่งอาหาร และงานในภาคบริการต่างๆ เป็นต้น 

แรงงานจากชุมชนแออัดเหล่านี้มีจำนวนไม่น้อยที่จะต้องหารายได้ เพื่อเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัวทั้งที่เป็นผู้สูงอายุและเด็กเยาวชนในครอบครัว นอกจากนี้ แรงงานหลายรายจะมีการทำงานในลักษณะเป็นลูกจ้างรายวันหรือแรงงานนอกระบบที่ไม่มีหลักประกันทางรายได้และการทำงาน

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “มีงาน มีรายได้ ไม่มีงาน ไม่มีรายได้” ส่งผลให้ชีวิตของพวกเขาไม่เพียงต้องแบกรับการดูแลผู้คนในครอบครัวเท่านั้น หากแต่การแบกรับดังกล่าวก็เต็มไปด้วยความเสี่ยงและแขวนบนเส้นดายของความไม่แน่นอน

การระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ระลอกแรกจนถึงระลอกล่าสุด ได้ทำให้ “งาน” จำนวนมากในภาคการค้าและบริการของเมืองหายไปหรือลดน้อยลง อันส่งผลกระทบต่อคนจนเมืองในชุมชนแออัดหรือสลัมเป็นลูกโซ่อย่างยากจะหลีกเลี่ยง หลายคนต้องตกงาน และอีกหลายคนแม้จะไม่ตกงาน แต่รายได้ของพวกเขาก็ลดลงจนแทบไม่พอกับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของครอบครัว อันส่งผลต่อไปถึงคุณภาพชีวิตของเด็กเยาวชนในหลายครอบครัวที่จะต้องออกจากโรงเรียนกลางคันเพื่อลดค่าใช้จ่ายและช่วยหารายได้ให้กับครอบครัว

ผลกระทบที่เกิดขึ้นยังส่งผลต่อไปถึงเศรษฐกิจของชุมชนที่ร้านค้าขนาดเล็กอันเป็นที่พึ่งของอีกหลายครัวเรือนต้องมีรายได้ที่ลดลงตามกำลังซื้อของสมาชิกในชุมชน

วามเปราะบางด้านที่อยู่อาศัย ความแออัดของชุมชนแออัดเป็นสิ่งที่หลายคนยากจะนึกถึง ไม่เพียงแต่บ้านแต่ละหลังจะอยู่อย่างแนบชิดติดกันเท่านั้น หากแต่การอยู่อาศัยในบ้านหลายหลังก็มีความแออัดไม่แพ้กัน บางบ้านที่มีเนื้อที่ประมาณเท่าห้องขนาดเล็กในหอพัก แต่อาจมีสมาชิกอยู่อาศัยนับสิบคน สภาพการอยู่อาศัยที่แออัดดังกล่าวไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อความเปราะบางทางสุขภาพ ที่การแพร่ระบาดของโรคลุกลามอย่างรวดเร็วจากความแออัดของการอยู่อาศัย หากแต่ยังเผยให้เห็นความเปราะบางอันเกิดจากนโยบายที่อยู่อาศัยและการใช้ที่ดินในเมืองของรัฐด้วยเช่นกัน

แม้ประเทศไทยจะมีโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยของรัฐจำนวนมาก หากแต่การพัฒนาดังกล่าวมีเพียงไม่กี่โครงการที่ตอบสนองความต้องการได้อย่างครอบคลุมและตรงจุด หรือสามารถไปถึง “คนจนเมืองจริงๆ” การเติบโตของเมืองใหญ่โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาได้ชี้ให้เห็นว่าแม้เมืองจะต้องการแรงงานจากคนจนเมืองในชุมชนแออัดเหล่านี้

หากแต่การพัฒนาเมืองในช่วงที่ผ่านมาไม่เพียงแต่จะไม่ปรากฏการยกระดับที่อยู่อาศัยที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและการทำงานของแรงงานเหล่านี้ หากแต่ยังได้เบียดขับที่อยู่อาศัยของแรงงานเหล่านี้ออกไปจากพื้นที่ของเมืองเช่นกัน สะท้อนให้เห็นการขูดรีดของระบบเศรษฐกิจของเมืองอันเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมที่กระทำต่อคนจนเมืองเหล่านี้

ความเปราะบางของระบบสาธารณสุข เมืองใหญ่ของประเทศไทยอย่างกรุงเทพมหานคร อาจกล่าวได้ว่าเป็นศูนย์กลางของวิทยาการทางการแพทย์และการรักษาพยาบาล แต่นั่นอาจไม่ได้หมายถึงสำหรับทุกคน กรุงเทพมหานครอาจกล่าวได้ว่าเป็นเมืองที่มี “สถานพยาบาลของรัฐ” หรือ “โรงพยาบาล” ที่ครอบคลุมประชากรไม่ทั่วถึงที่สุดเมืองหนึ่งของประเทศ

ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในกรณีของย่านชุมชนแออัดคลองเตย อันเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของประชากรตามทะเบียนประมาณ 9 หมื่นคนและหากรวมประชากรแฝงอาจมีจำนวนถึง 2 แสนคน มีโรงพยาบาลของรัฐ 1 แห่งและศูนย์บริการสาธารณสุขเพียง 1 แห่งเท่านั้นที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งมีประชากรจำนวนใกล้เคียงกับจังหวัดขนาดเล็ก

ไม่เพียงเท่านั้น ความซับซ้อนของบริการด้านสุขภาพในกรุงเทพมหานคร ที่มี “เจ้าภาพ” หลายองค์กรทั้งในระดับส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นที่ดูเหมือนจะเป็นจุดแข็ง หากแต่เป็นจุดเปราะบางของระบบสาธารณสุขในกรุงเทพฯ ที่สำคัญ โดยเฉพาะในภาวะวิกฤติที่ต้องการตอบสนองต่อปัญหาอย่างรวดเร็ว ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมากมายเหล่านี้ดูเหมือนจะไม่สามารถแปลงออกมาเป็นพลังในการโอบอุ้มชีวิตของผู้คนได้มากนัก

จากที่กล่าวมาข้างต้นคือตัวอย่างของความเปราะบางที่ปรากฏขึ้นและเผยให้เห็นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ส่งผลกระทบต่อคนจนเมืองในชุมชนแออัดในหลายมิติ เป็นความเปราะบางทั้งในเชิงระบบการบริหารงาน ความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจ และความเปราะบางของเมืองที่สะสมมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานหลายทศวรรษ

กระนั้นก็ดี การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ได้เผยให้เห็น “พลัง” ที่สร้างโอกาสและความสร้างสรรค์ในการทำงานของ “ภาคประชาสังคม” และ “ชุมชน” ในการรับมือกับความเปราะบางและผลจากความเปราะบางที่เกิดขึ้นในเมือง ซึ่งช่วยเหลือ ฟื้นฟู และโอบอุ้มประชากรจำนวนมากให้ยังคงมีความหวังและโอกาสในการต่อสู่กับชีวิตในเมืองใหญ่และผ่านพ้นกับภาวะวิกฤติ

อันเป็นโจทย์ที่ควรคิดกันต่อไปว่า นอกจากจะเข้าใจและลดความเปราะบางในมิติต่างๆ ของสังคมเมืองแล้ว เราจะสร้างเสริมพลังทางสังคมของภาคประชาสังคมเหล่านี้ให้มีความยั่งยืน เติมเต็มการทำงานในมิติต่างๆ และเป็นแรงที่ยื้อยุดต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในทางสังคมเศรษฐกิจอันดำรงอยู่ได้อย่างไร