'ขายของออนไลน์' ต้อง 'เสียภาษี' หรือไม่ ?

'ขายของออนไลน์' ต้อง 'เสียภาษี' หรือไม่ ?

ทำความเข้าใจเกณฑ์การ "ยื่นภาษี" และการ "เสียภาษี" ออนไลน์สำหรับพ่อค้าแม่ค้าที่ "ขายของออนไลน์" หรือคนที่ขายของออนไลน์เป็นอาชีพเสริม ที่ช่วยให้บริการจัดการ "รายได้" และ "ภาษี" ได้ลงตัว ขายคล่อง ไม่ต้องกังวลเรื่อง "สรรพากร"

"ขายของออนไลน์" กลายเป็นทั้งอาชีพเสริมมาแรง และเป็นอาชีพหลักของใครหลายๆ คน โดยเฉพาะในช่วง "โควิด-19" ที่จำเป็นต้องลดการพบปะผู้คน ที่ดันยอดขายออนไลน์และบริการเดลิเวอรี่ต่างๆ ให้สูงขึ้นอย่างชัดเจน แต่ไม่ว่าสถานการณ์ไหน "รายได้" จาก "การขายของออนไลน์" ก็ถือเป็น "เงินได้" ที่ต้องมีการ "ยื่นภาษี" และ "เสียภาษี" ให้ถูกต้องในกรณีที่รายได้ถึงเกณฑ์ที่ "สรรพากร" กำหนดด้วย

รายได้หรือเงินได้จากการขายของออนไลน์ ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 คือ เงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ การขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงรายได้จากการ "ขายของออนไลน์" ด้วย

จะต้องเสียภาษีตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (8) นั่นหมายความว่า สำหรับบุคคลธรรมดา (ใครก็ตามที่ไม่ได้จดทะเบียนการค้าเป็นนิติบุคคล) จะต้องทำการ "ยื่นภาษี" เพื่อแสดงให้ "สรรพากร" เห็นถึงการมีรายได้และค่าใช้จ่ายต่างๆ ว่าอยู่ในระดับที่ควรยกเว้นภาษี หรือต้องเสียภาษีหรือไม่

  •  ขายของออนไลน์ รายได้เท่าไรถึงต้อง "ยื่นภาษี" ? 

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คนที่จะต้อง "ยื่นภาษี" คือคนที่มี "รายได้" หรือ "เงินได้" ตามที่กฎหมายกำหนด สำหรับบุคคลธรรมดาที่ต้องยื่นภาษีเมื่อมีรายได้มากกว่า 10,000 บาทต่อเดือน หรือ 120,000 บาท/ปี 

แต่ในกรณีบุคคลธรรมดา (ไม่เปิดขายในฐานะของนิติบุคคล) ที่มีรายได้จากการขายของออนไลน์ เมื่อมีได้รายเกิน 60,000 บาท (กรณีโสด) หรือมีรายได้เกิน 120,000 บาท (กรณีสมรส) จะต้องยื่นภาษีเงินได้ด้วย

  •  ขายของออนไลน์ รายได้เท่าไรถึงต้อง "เสียภาษี" ? 

การขายของออนไลน์ที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล (บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน) ยังถือว่าเป็นบุคคลธรรมดาที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยจะเสียภาษีหรือไม่เสียภาษีนี้จะต้องขึ้นอยู่กับว่าเรามี "เงินได้สุทธิ" หรือ "กำไรสุทธิ" เมื่อหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนออกไปแล้วเท่าไร ตามหลักเกณฑ์คือยิ่งมีเงินได้สุทธิมากย่ิงเสียภาษีในอัตราที่มาก ตามขั้นบันได ดังนี้

161580600582

ทั้งนี้ในการยื่นภาษีของคนขายของออนไลน์ สามารถเลือก "หักค่าใช้จ่าย" ได้ 2 แบบ คือ 1.แบบหักตามจริง และ 2. แบบเหมา 60%

1. หักค่าใช้จ่ายตามจริง

การหักค่าใช้จ่ายแบบนี้เหมาะกับผู้ค้าออนไลน์ที่มีต้นทุนสูงในการขายสินค้า เหมาะกับการยื่นภาษีแบบหักค่าใช้จ่ายตามจริง เพราะวิธีนี้จะทำให้คนที่มีต้นทุนสูงสามารถหักค่าใช้จ่ายได้สูงด้วย

ซึ่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายไปแล้ว เงินได้สุทธิที่ต้องนำมาคำนวณภาษีก็จะลดลงตามไป โดยวิธีนี้ต้องจัดเก็บรวบรวม “บัญชีรายรับรายจ่าย” พร้อม “หลักฐาน” ไว้ให้ครบถ้วนเพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ และช่วยลดความสับสนเมื่อต้อง ยื่นภาษี

2. หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60%

ส่วนการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาๆ เหมาะกับผู้ค้าออนไลน์ที่มีกำไรเยอะ เช่น กำไรที่แท้จริงหักค่าใช้จ่ายแล้วมีมากกว่า 40% หมายความว่าต้นทุนของธุรกิจจะน้อยกว่า 60% ของรายได้ทั้งหมด

กรณีนี้แนะนำให้เลือกใช้การยื่นภาษีแบบเหมา ซึ่งข้อดีของการยื่นแบบนี้ คือไม่ต้องแสดงหลักฐานค่าใช้จ่ายใดๆ กับกรมสรรพากร และทำให้เราได้ประโยชน์ทางภาษีในส่วนต่างของต้นทุนที่แท้จริง กับค่าใช้จ่ายแบบเหมานั่นเอง

  •  'ขายของออนไลน์' ต้องยื่นภาษีเมื่อไร ? 

พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่มีรายได้จากการขายของออนไลน์ ไม่ว่าจะทำงานประจำไปด้วยหรือว่าขายของออนไลน์อย่างเดียวต่างก็ต้อง "ยื่นภาษี" โดยจะต้องยื่น 2 รอบ (ภ.ง.ด. 94 และ ภ.ง.ด. 90) ตามช่วงเวลาที่ "กรมสรรพากร" กำหนด ดังนี้

รอบแรก : "ยื่นภาษีครึ่งปี" 

ยื่นภาษีโดยนำเงินได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 30 มิ.ย. มาแสดงในการยื่นภาษี ตามแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 94 ภายในวันที่ 1 ก.ค. - 30 ก.ย. ในปีเดียวกัน โดยสาเหตุที่ให้มีการเสียภาษีครึ่งปีเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของผู้มีรายได้ เพื่อไม่ให้เสียภาษีหนักในครั้งเดียว

รอบที่ 2 : "ยื่นภาษีปลายปี" 

ยื่นภาษีโดยนำเงินได้ทั้งปี มากรอกในแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 90 ภายในวันที่ 1 ม.ค. – 31 มี.ค. ของปีถัดไป (เช่น เงินได้ปี 2563 ต้องยื่นภายใน มี.ค.2564)

162239769672

นอกจากนี้ สำหรับผู้ขายของออนไลน์บางคน ที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องจดทะเบียน VAT หรือ "ภาษีมูลค่าเพิ่ม" และยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มทุกๆ เดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป และมีหน้าที่ต้องออก "ใบกำกับภาษี" ให้กับผู้มาใช้บริการด้วย หมายความว่าหากมีรายได้จากการขายของออนไลน์ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท ไม่ต้องจดทะเบียน VAT และไม่ต้องยื่นภาษี VAT นั่นเอง

- - -

Course เรียน Online "ภาษีการซื้อ-ขายสำหรับแม่ค้าออนไลน์"
สำหรับผู้ประกอบการ และผู้ค้า Online ที่ต้องการศึกษาเรื่องภาษี โดยสถาบันปัญญาธุรกิจ
วันที่ 29 ก.ค.นี้ สมัครและดูรายละเอียด คลิก

162633852158

ที่มา: Postfamily