ปตท.-ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จับมือนำเข้า 'วัคซีน' ทางเลือก

ปตท.-ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จับมือนำเข้า 'วัคซีน' ทางเลือก

ปตท.จับมือ 'ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์' เตรียมนำเข้า 'วัคซีน' ทางเลือกฉีดให้พนักงาน-ประชาชน เล็งนำเข้ายาเรมเดซิเวียร์ บริจาครัฐ ใช้รักษาโควิด-19 ลดความเสี่ยงผู้เสียชีวิต

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวเมื่อวันที่ 27 พ.ค.2564 ว่า ในการใช้วัคซีนทางเลือก ซึ่ง ปตท.ได้ลงนามกับ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานตัวแทนของรัฐบาลในการจัดหาและนำเข้าวัคซีน เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ประชาชน ยังอยู่ระหว่างหารือในรายละเอียดทั้งปริมาณการนำเข้า และสัดส่วนที่จะจัดสรรให้กับ ปตท.

โดย ปตท.จะนำไปใช้สำหรับพนักงานของกลุ่ม ปตท. ซึ่งก็จะช่วยลดภาระด้านงบประมาณในการจัดหาวัคซีนของภาครัฐได้ส่วนหนึ่ง และเป็นการช่วยกระจายวัคซีนให้แก่ประชาชน 

ขณะเดียวกัน ปตท.ก็พร้อมร่วมกับทุกหน่วยงานในการจัดหาพื้นที่กระจายจุดฉีดวัคซีน นอกเหนือจากปั๊มน้ำมัน พีทีที สเตชั่น พระราม 2 ก็พร้อมจะใช้พื้นที่อื่นของกลุ่ม ปตท.ไม่ว่าจะเป็น จังหวัดระยอง และจังหวัดอื่นในการเป็นพื้นที่กระจายวัคซีนให้ทั่วถึง

ส่วนของแผนรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ในประเทศไทยได้ดำเนินการต่อเนื่อง ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ ปตท. โดยบริษัทลูกในเครือ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ซึ่งร่วมทุนกับ Lotus บริษัทยาไต้หวัน เตรียมนำเข้า ยาเรมเดซิเวียร์ หรือ Remdesivir ซึ่งเป็นยาสำหรับใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงแล้วในหลายประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐ สหภาพยุโรป (EU) อังกฤษ ออสเตรเลีย อินเดีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

โดยจะนำเข้ามา 2,000 ขวด เพื่อบริจาคให้รัฐบาลไทยไปบริหารจัดการในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19

ปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้ามาแล้วประมาณ 4,000 ขวด และมีความจำเป็นต้องใช้มากยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบันในส่วนยาต้านไวรัสเพื่อใช้รักษาอาการของผู้ป่วยโควิด-19 ได้แก่ ฟาวิพิราเวียร์ หรือ Favipiravir พบว่า ผู้ใช้บางส่วน เช่น หญิงตั้งครรภ์ มีอาการแพ้ ดังนั้น ก็เชื่อว่า ยาเรมเดซิเวียร์ จะมาช่วยคนไทยผู้ป่วยโควิด-19 หายจากโรค ลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตได้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือโควิด–19 ระลอกที่ 3 กลุ่ม ปตท.ได้ใช้งบประมาณไปแล้ว เกือบ 200 ล้านบาท ทั้งการบริจาค เครื่องช่วยหายใจไปแล้ว กว่า 300 เครื่องแก่โรงพยาบาล 70 แห่ง งบประมาณจัดซื้อออกซิเจน ถุงยังชีพและอื่นๆ

“โครงการลมหายใจเดียวกัน ของ ปตท. ยังมองถึง ลมหายใจเศรษฐกิจด้วย คือ ต้องไม่ทำให้โรงงานสะดุด เพราะเป็นเครื่องจักรเดียวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเวลานี้” นายอรรถพล กล่าว