กนอ.เร่งปิดโรงงานสกัดโควิด ห่วงกระทบกำลังผลิตประเทศ

กนอ.เร่งปิดโรงงานสกัดโควิด    ห่วงกระทบกำลังผลิตประเทศ

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในนิคมอุตสาหกรรมที่ทวีความรุนแรงขึ้น จนล่าสุด ณ วันที่ 24 พ.ค. 2564 ยอดรวมผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในนิคมฯทั้งหมด 44 แห่ง ใน 14 จังหวัดทั่วประเทศ มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมรวม 948 ราย

วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ในขณะนี้ มีโรงงานที่แรงงานติดโควิด-19 เป็นจำนวนมากจนต้องปิดชั่วคราวไปแล้ว 3 แห่ง อยู่ในนิคมฯอมตะซิตี้ ชลบุรี 2 แห่ง และในนิคมฯบางปู จ.สมุทรปราการ 1 แห่ง มีแรงงานติดโควิด หลักสิบคน ไปนถึงกว่า 100 คน นอกจากนี้ ยังมีบางโรงงานที่มีผู้ติดเชื้อน้อย 1 แห่ง ก็ปิดสายการผลิตบางส่วนแล้วทำความสะอาดฆ่าเชื้อ รวมทั้งยังมีรถตรวจโควิด-19 พระราชทาน เข้ามาตรวจเชิงรุกในนิคมฯ ในโรงงานที่มีความเสี่ยงสูง 8-9 แห่ง อีกด้วย

ขณะเดียวกัน นิคมฯบางปู ประสานกับทางจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อขอความร่วมมือในการระดมตรวจเชิงรุกรวมถึงชุมชนที่อยู่รอบข้างด้วย เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ เพื่อไม่ให้กลายเป็นคลัสเตอร์การระบาดแห่งใหม่ รวมทั้งกำชับให้แต่ละนิคมฯ แจ้งไปยังโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เสี่ยง เพิ่มความเข้มในมาตรการดูแลสุขอนามัยด้านสถานที่และปฏิบัติตามประกาศของ กนอ.ในเรื่องมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

162194101970

“โรงงานที่มีการระบาดอย่างรุนแรงส่วนใหญ่จะเป็นการทำงานในห้องปรับอากาศที่มีคนเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้กำชับให้ผู้อำนวยการทุกนิคมฯ ลงไปกำชับให้ทุกโรงงานใช้มาตรการควบคุมที่เข้มงวด และรับฟังความคิดเห็นที่ต้องการให้ กนอ. เข้าไปช่วยเหลือเรื่องใดบ้าง”

โดย การเร่งแก้ไขปัญหานี้ กนอ. ได้ประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอโควตาวัคซีนเป็นกรณีพิเศษ เพื่อฉีดให้กับแรงงานในโรงงานที่มีความเสี่ยงสูงเหล่านี้ เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่ระบาดจนกลายเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ที่รายแรงได้ เพราะในนิคมฯ มีแรงงานเป็นจำนวนมาก รวมทั้งหากปล่อยให้มีการแพร่กระจายออกไป ก็อาจจะกระทบต่อกำลังการผลิตของประเทศได้ และกระทบต่อภาพลักษณ์ต่อการลงทุนของไทย

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัดและสาธารณสุขจังหวัดที่มีนิคมฯตั้งอยู่ เพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้พื้นที่นิคมฯ เป็นจุดฉีดวัคซีนให้กับแรงงานในนิคมฯ และชุมชนโดยรอบ รวมทั้งให้ผู้อำนวยการนิคมฯ เข้าไปหารือกับโรงงานภายในนิคมฯ เพื่อขอความร่วมมือในการสนับสนุนอุปกรณ์ เช่น เต้นท์ โต๊ะ เก้าอี้ อุปกรณ์ไอที และบุคลากรด้านการพยาบาลในโรงงานเข้ามาช่วยฉีดวัคซีน ซึ่งจะได้ผลสรุปทุกนิคมฯภายในวันที่ 26 พ.ค.นี้

ในส่วนของแรงงานที่ติดเชื้อแต่ยังไม่มีอาการป่วย สาธารณสุขจังหวัดได้เข้าไปประกบตัวและมีคำสั่งให้กักตัวในที่พัก ทางโรงงานก็จัดหาอาหารน้ำดื่มไปให้ทุกมื้อ ส่วนแรงงานที่แสดงอาการก็นำตัวเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามที่มีอยู่ ซึ่ง กนอ. จะเข้าไปประสานงานอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ไปติดต่อกับแรงงานในโรงงานอื่นที่อยู่ครัวเรือนเดียวกัน

จรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group กล่าวว่า ในส่วนของนิคมฯ ของดับบลิวเอชเอทั้ง 10 แห่ง ในขณะนี้มีผู้คิดเชื้อสะสม 65 คน แต่ส่วนใหญ่รักษาหายแล้ว เหลือเพียงที่ยังป่วยอยู่เพียง 7 คน และตั้งแต่วันที่ 20-25 พ.ค. นี้ มีผู้ชิดเชื้อใหม่เพียง 1 คน สาเหตุการติดเชื้อเพิ่มขึ้นน้อย เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมดับบลิวเอชเอส่วนใหญ่เป็นโรงงานต่างชาติที่มีความเข้มงวด เพราะเป็นสินค้าส่งออกเป็นจำนวนมาก จึงมีความเข้มงวดในการเผ้าระวังมาก

ทั้งนี้รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการฮีดวัคซีนในนิคมฯ เป็นการเร่งด่วน เพราะการผลิตส่งออก เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ และเหลือเพียงเครื่องเดียว ในขณะที่การท่องเที่ยว บริการ และเศรษฐกิจด้านอื่นยังไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้ หากโรงงานผลิตเพื่อส่งออกมีปัญหาก็จะกระทบกับประเทศอย่างรุนแรง