หอการค้าชูยุทธศาสตร์อาหารอนาคต

หอการค้าชูยุทธศาสตร์อาหารอนาคต

หอการค้านำเอกชนทำยุทธศาสตร์อาหารแห่งอนาคต ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่เปลี่ยน เน้นความต้องการรายกลุ่ม หนุนเอสเอ็มอีมีรายได้สูง

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และและประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต เปิดเผยว่า หลังจากที่หอการค้าไทยได้ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต ก็ได้เร่งที่จะจัดทำแผนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทยทั้งระบบ โดยเน้นไปสู่แนวทางพัฒนาอาหารแห่งอนาคต เพื่อยกระดับมูลค่าสินค้าอาหารให้เพิ่มสูงขึ้นไปอีกขั้นมากกว่ามูลค่าของอาหารแปรรูปธรรมดา  และตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนไป

โดย คณะกรรมการฯ ได้นำพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และเทรนอาหารของโลก มาเป็นโจทย์ในการกำหนดสินค้าเป้าหมาย และยุทธศาสตร์ในการส่งเสริม ซึ่งพบว่าในขณะนี้ผู้บริโภคมีความต้องการอาหารที่มีประโยชน์เพิ่มขึ้น มีสารอาหารที่ครบถ้วน และเจาะกลุ่มความต้องการที่หลากหลายทั้งด้านสุขภาพ และความงาม เช่น อาหารที่เสริมความแข็งแรงของกระดูก บำรุงหัวใจ บำรุงสมองและอวัยวะอื่น ๆ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และที่สำคัญจะต้องมีความปลอดภัยสูง มีมูลค่าสูง และลดของเสีย

สำหรับ ผู้ประกอบการที่จะต้อบโจทย์นี้ได้ดีจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพราะมีความคล่องตัวสูง ผลิตสินค้าจำนวนไม่มาก แต่มุ่งเป้ากลุ่มลูกค้าอย่างเฉพาะเจาะจง ซึ่งต่างจากโรงงานขนาดใหญ่ที่เน้นผลิตสินค้าเป็นจำนวนมากตอบสนองตลาดขนาดใหญ่ ขาดความคล่องตัวในการผลิตสินค้าเจาะกลุ่มตลาดขนาดเล็ก ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมอาหารให้เข้มแข็ง มีรายได้เพิ่มสูงขึ้น และใช้เทคโนโลยีผลิตในระดับสูง ลดจุดอ่อนในการผลิตอาหารที่ต้องแข่งขันกับรายใหญ่ได้ยาก ขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกสินค้าเป้าหมายชนิดใหม่ๆที่จะส่งเสริม และจะเห็นผลสำเร็จที่ชัดเจนภายใน 2 ปี รวมทั้งวางนโยบายเพื่อตอบโจทย์ของอาหารแห่งอนาคตในทุกด้าน

“ในขณะนี้หอการค้าไทยได้ให้การส่งเสริมกลุ่มสตาร์ทอัพประมาณ 50 ราย ที่มีนวัตกรรมและเทตโนโลยีใหม่ๆในการผลิต ซึ่งจะเข้ามาช่วยเสริมคณะกรรมการฯชุดนี้ได้มาก ในการร่วมมือกับสตาร์ทอัพใช้เทคโนโลยีผลิตสินค้าอาหารแห่งอนาคตรูปแบบใหม่ๆ ทั้งสินค้าใหม่ และวิธีการผลิตใหม่ ที่จะช่วยลดต้นทุน และเพิ่มมูลค่าสูงขึ้น”

ในส่วนของสินค้าเป้าหมาย ในเบื้องต้น จะเน้นอาหารแห่งอนาคตที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ และมีศักยภาพ ได้แก่ อาหารจากแมลง ซึ่งขณะนี้ต่างชาติโดยเฉพาะยุโรปได้ให้ความสนใจสูงมาก เพราะมีโปรตีนที่สำคัญสูงเมื่อเทียบกับน้ำหนักที่มากกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทนต่ำ ใช้อาหารเลี้ยงต่ำ รวมทั้งประเทศไทยก็มีแมลงหลายชนิดที่เพาะเลียงเชิงธุรกิจได้ หากศึกษาวิจัยการแปรรูปที่ให้รสชาติและมีคุญภาพที่ดี ก็สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรและผู้ผลิตได้สูง

นอกจากนี้ จะเป็นโรงงานผลิตเนื้อสัตว์จากพืช ที่ให้โปรทีน และรสชาติ รสสัมผัสที่ใหล้เคียงกันเนื้อสัตตว์ ที่ใช้วัตถุดิขจากถั่วชนิดต่าง ๆ รองรับความต้องการของตลาดโลก และภายในประเทศที่ผู้บริโภคกลุ่มวีแกน และมังสวิรัติ ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก และยังเป็นอาหารที่รักษาสิ่งแวดล้อม เพราะไม่ผลิตก๊าซมีเทนเหมือนกับการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งจะต้องวิจัยให้มีรสสัมผัส รสชาติใกล้เคียงเนื้อสัตว์ และอร่อย ก็จะเจาะตลาดโลกได้อีกมากและมีราคาสูง

“ผู้บริโภคกลุ่มวีแกนเติบโตสูงมากในยุโรป และมีความเคร่งครัดมากกว่ากลุ่มมังสวิรัติ หากผลิตอาหารป้อนให้กับคนกลุ่มนี้ได้อย่างตรงจุด ก็จะเป็นการเปิดตลาดอาหารชนิดใหม่ ๆ ให้กับประเทศ และยังช่วยเพิ่มราคาวัตถุดิบให้กับเกษตรกรได้อีกด้วย”

อาหารแปรรูปในกลุ่มนี้ ทั้งฟังชั่นนัลฟู้ด อาหารเสริมสุขภาพชนิดต่าง ๆ อาหารจากโปรตีนพืช อาหารจากแมลง จะมุ่งสู่การเจาะตลาดผู้บริโภคระดับบน แต่ในอนาคตความต้องการจะแพร่ขยายมากขึ้นเรื่อยๆจนกลางเป็นตลาดใหญ่ ดังนั้นหากไทยเร่งวิจัยพัฒนาเข้าไปแย่งส่วนแบ่งในตลาดนี้ได้มาก ก็จะทำให้ไทยสามารถขยายฐานการส่งออกอาหารได้เพิ่มขึ้นและมีมุลค่าเพิ่มสูงขึ้น เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันเหนือคู่แข่งใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปแบบเดิม