ธีมการลงทุนหลัก ครึ่งหลังปี 2564

ธีมการลงทุนหลัก ครึ่งหลังปี 2564

จับทิศการลงทุนหลักในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 จะเป็นอย่างไร? ระหว่างตลาดของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (DM) กับตลาดกำลังพัฒนา (EM) ตลาดไหนน่าสนใจกว่ากัน?

เมื่อช่วงต้นปีนี้ ผมได้ให้ธีมการลงทุนของปี 2564 ไว้ โดยในส่วนที่ถือว่าแตกต่างจากสำนักอื่นๆ ได้แก่ การมองว่าตลาดของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วหรือ DM จะโดดเด่นกว่าตลาดกำลังพัฒนาหรือ EM ซึ่งก็เป็นจริงอย่างที่ได้ทราบกันในตอนนี้ มาถึงจังหวะนี้จะขออัพเดตธีมการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง ดังนี้

  • ปัญหาเงินเฟ้อแม้น่ากังวล ทว่าก็ไม่น่าห่วงมากเกินไป

หากจะพิจารณาว่ามาตรการกระตุ้นทั้งด้านนโยบายการเงินและการคลังของเจย์ พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด และ โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ จะก่อให้เกิดเงินเฟ้อมากหรือไม่ อย่างไรนั้น หากเราทำการเปรียบเทียบระหว่างเหตุการณ์ในวันนี้และช่วงหลังการกระตุ้นครั้งใหญ่หลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 ว่ามีอะไรเหมือนหรือต่างกันอย่างไร จะช่วยให้เราคาดการณ์ความสงสัยในเรื่องเงินเฟ้อ ณ วันนี้ได้ดีขึ้น เนื่องจากหลังวิกฤติซับไพรม์ไม่ได้เกิดประเด็นเงินเฟ้ออย่างที่กังวลกันในช่วงก่อนหน้านั้น ดังนี้

1.ความเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ น้ำมัน จะเห็นได้ว่าในช่วงหลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ราคาโภคภัณฑ์อย่างน้ำมันขึ้นแบบรวดเร็วหลังเหตุการณ์ AIG เกิดขึ้น จากนั้น ราคาน้ำมันก็ค่อยลดลงเรื่อยๆ มาจนต่ำสุดในปี 2557

สำหรับวิกฤติโควิด-19 ถือว่าทิศทางของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ถือว่าสวนทางเมื่อเทียบกับครั้งที่แล้ว โดยราคาในรอบนี้ ส่วนใหญ่ลดลงหลังเกิดโควิด-19 โดยที่ราคาน้ำมันดิบเคยลงไปแตะ 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากนั้นราคาค่อยๆ แตะขึ้น โดยที่ราคาน้ำมันดิบขึ้นไปแตะ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในอีก 1 ปีต่อมา ส่วนราคาทองแดง ดีบุก และราคาไม้สัก ณ ตรงนี้ ล้วนทำ All-time High ในรอบหลายปี โดยน่าสังเกตว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์อย่างทองแดง ดีบุก และไม้สัก ในรอบวิกฤติซับไพร์มไม่ได้ขึ้นมาแต่อย่างใดในเวลาต่อมาเหมือนดังเช่นในรอบนี้

2.อัตราเงินเฟ้อของตลาดเกิดใหม่หรือ Emerging Market จะพบว่า ภูมิภาคตลาดเกิดใหม่อย่างเอเชีย ถือว่ามีสัดส่วนของสินค้าด้านเกษตรกรรม พลังงานและโลหะ ซึ่งทั้งหมดคือหมวดสินค้าโภคภัณฑ์ราวร้อยละ 20 ของค่าใช้จ่ายด้านบริโภคขั้นสุดท้ายทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดในโลก ตามมาด้วยยุโรปตะวันออกและละตินอเมริกา ซึ่งล้วนเป็นตลาดเกิดใหม่ นั่นน่าจะสามารถตีความได้ว่าประเด็นเงินเฟ้อที่ว่าจะขึ้นแบบรุนแรงนั้น มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นในตลาดเกิดใหม่มากกว่าที่จะเกิดขึ้นในกลุ่มประเทศตลาดพัฒนาแล้ว สำหรับในครั้งนี้ หากพิจารณาในมุมนี้ ปัญหาเงินเฟ้อของสหรัฐไม่ได้น่าห่วงเท่ากับปัญหาเงินเฟ้อในตลาดเกิดใหม่

3.ความเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) จะพบว่าขึ้นมาแรงหลังวิกฤติเกิดขึ้นใหม่ทั้งสองครั้ง โดยถือว่าซัพพลายเชนของโลกสำหรับการผลิตสินค้าด้านอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิเล็กทรอนิกส์ ถือว่าโดนกระทบทั้งคู่

4.ขนาดของมาตรการกระตุ้นผ่านนโยบายการเงินและการคลัง จะเห็นได้ว่าในรอบนี้มาตรการกระตุ้นนโยบายการเงินถือว่ามีมูลค่ามากกว่าเมื่อครั้งวิกฤติซับไพร์ม ทว่าหากพิจารณาในแง่ความใหม่ของตัวนโยบายการเงิน ถือว่ายุควิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ตื่นตาตื่นใจกว่าเนื่องจากเป็นการใช้เป็นครั้งแรก ในขณะที่มาตรการของเฟดถือว่าตัวเนื้อหาของนโยบายกระตุ้นไม่ได้มีอะไรใหม่ ทว่าขนาดที่ใช้นั้นยิ่งใหญ่กว่าครั้งที่แล้ว ในขณะที่นโยบายการคลังในครั้งนี้ ถือว่าใหม่กว่าครั้งก่อนทั้งในส่วนของตัวมาตรการเอง และมีมูลค่าที่เยอะกว่าครั้งที่แล้วหลายสิบเท่าตัว

5.งบของโครงการสาธารณูปโภค ถือว่าโจ ไบเดน ใช้โอกาสหลังวิกฤติโควิดเที่ยวนี้ในการยกเครื่องระบบสาธารณูปโภคของสหรัฐ หลังจากที่เคยลงทุนแบบหนักๆ เมื่อยุคทศวรรษ 2493 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

โดยสรุปคือ โอกาสที่ปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐจะเป็นแบบหลังวิกฤติซับไพรม์ก็ถือว่ามีอยู่สูง ทว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐน่าจะสูงขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิด เนื่องจากมีอุปสงค์ที่เพิ่มเติมมาจากการลงทุนโครงการสาธารณูปโภคของไบเดน แม้จะไม่น่าจะเป็นวิกฤติเงินเฟ้อ เนื่องจากเม็ดเงินดังกล่าวแม้จะมีอยู่สูงถึงเกือบ 6 ล้านล้านดอลลาร์ ทว่ากระจายไปกับช่วงเวลาเกือบ 10 ปี จึงเหลือเพียงไม่ถึง 6 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี

  • DM โอเวอร์ EM

อย่างที่ผมได้เคยคาดไว้เมื่อต้นปีนี้ แบบที่ค่อนข้างสวนกระแสของนักวิเคราะห์โดยส่วนใหญ่ว่า ตลาดหุ้นของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วน่าจะดีกว่ากลุ่มตลาดเกิดใหม่หรือ EM ก็ได้เกิดขึ้นจริงๆ

•  ด้วยเหตุผลที่ว่าประเทศในตลาดเกิดใหม่โดยส่วนใหญ่ยังน่าจะไม่สามารถฉีดวัคซีนโควิดให้กับประชากรในสัดส่วนที่จะทำให้เกิดภูมิต้านทานหมู่ได้ทันในปีนี้

• สิ่งนี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในส่วนของภาคบริการ ซึ่งถือเป็นส่วนหลักของเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการท่องเที่ยว ยังไม่สามารถกลับมาได้ในระดับที่น่าพึงพอใจ เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากประเทศพัฒนาแล้ว (DM) ไม่อยากที่จะมาเที่ยวในประเทศตลาดเกิดใหม่โดยยังกลัวว่าจะติดโควิดอีก

  • Small Cap ยังดีกว่า Big Cap แม้จะด้วยขนาดที่น้อยลงกว่าครึ่งปีแรก

ในปี 2564 มีสิ่งหนึ่งที่ได้เปลี่ยนไปในมิติของนโยบายการเงินและการคลังของสหรัฐ นั่นคือการโฟกัสไปที่บริษัทขนาดกลางและเล็ก ซึ่งถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ด้วยเหตุผลที่ว่าเฟดเน้นเป้าหมายการจ้างงานมากกว่าเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ โดยอย่างที่ทราบกันว่าบริษัทขนาดกลางและเล็กเป็นผู้จ้างงานหลักให้กับตลาดแรงงานสหรัฐ

อย่างไรก็ดี สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐที่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากโควิดนั้น ผู้ที่ได้ผลกระทบมากที่สุดกลับกลายเป็นบริษัทขนาดกลางและเล็ก ดังนั้น กระทรวงการคลังสหรัฐและเฟดในปีนี้ จึงมุ่งเน้นการกระตุ้นทางเศรษฐกิจโดยให้ความช่วยเหลือไปยังบริษัทขนาดกลางและเล็กแบบเต็มๆ โดยปัจจัยนี้ ผมเชื่อว่าจะมีผลกระทบในเชิงบวกที่มีน้ำหนักค่อนข้างมากต่อหุ้นกลุ่ม Small Cap ของสหรัฐ แม้จะด้วยขนาดที่น้อยลงกว่าครึ่งปีแรก