มิติใหม่ไฟใต้ 'ไลฟ์สดก่อนปะทะ' เปิด'แนวรบดราม่า' - รัฐทำคลิปโต้

 มิติใหม่ไฟใต้ 'ไลฟ์สดก่อนปะทะ'     เปิด'แนวรบดราม่า' - รัฐทำคลิปโต้

การไลฟ์สดหลังเกิดเหตุยิงปะทะลักษณะนี้ คนในพื้นที่เล่าว่าเพิ่งมีเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะปกติจะจบด้วยความเงียบสงบ

ช่วงที่โควิด-19 พ่นพิษไปทั่วประเทศ ปรากฏว่าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีการก่อเหตุร้ายถี่ขึ้น รุนแรงขึ้น เรียกว่าเกิดเหตุแทบจะรายวัน แต่สถานการณ์กลับถูกบดบังด้วยโรคระบาดที่มีความสำคัญ และได้รับความสนใจจากผู้คนในสังคมมากกว่า

เมื่อไม่กี่วันมานี้ เกิดการยิงปะทะกันในพื้นที่ อ.กรงปินัง จ.ยะลา ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบเสียชีวิต 2 ราย ทหารพลีชีพ 1 นาย

หากเป็นเมื่อก่อน หลังเสียงปืนสงบ เรื่องราวก็มักจะจบ ฝ่ายครอบครัวผู้ก่อความไม่สงบก็จะรับศพไปประกอบพิธีฝัง หากเป็นฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ก็จะมีพิธีส่งศพกลับบ้านพร้อมสดุดีอย่างสมเกียรติ แต่ครั้งนี้ยิงกันแล้วไม่จบ แต่กลับมีการใช้โซเชียลมีเดียในการสร้างกระแสต่อ จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

หลังเสียงปืนสงบที่กรงปินัง เมื่อวันที่ 4 พ.ค.64 ได้ไม่กี่วัน ก็มีการเผยแพร่คลิปไวรัลที่มีคนจัดทำขึ้น และแชร์กันมากในพื้นที่ ผู้ชายในคลิปเป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่เสียชีวิตจากการยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ โดยภาพช่วงต้นคลิป เป็นการไลฟ์สดที่เชื่อกันว่าเป็นการไลฟ์สั่งลาก่อนยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งคาดได้ว่าตัวเองจะต้องตาย และสุดท้ายพวกเขาก็ตายจริงๆ โดยตอนท้ายคลิป มีการนำภาพที่ทั้งสองถูกยิงเสียชีวิตมาใส่เอาไว้ด้วย

เสียงเพลงที่ได้ยินเป็นภาษามลายูนั้น มีข้อมูลจากในพื้นที่ว่า เป็นเพลงใหม่ที่เพื่อนแต่งให้คนตาย เนื้อหาเพื่อสื่อว่าเพื่อนของเขามีอุดมการณ์ที่ถูกต้องแล้ว ขณะนี้เพื่อนได้กลายเป็นดาวไปอยู่บนฟ้า และเขา(คนแต่งเพลง)จะสานต่ออุดมการณ์เอง

หลังจากคลิปนี้ถูกเผยแพร่ออกไป ่ได้กลายเป็นกระแสฮือฮา จะไปว่าแล้วการจัดทำคลิปไวรัลในลักษณะเชิดชูคนที่เสียชีวิตจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่ครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะฝ่ายต่อต้านรัฐได้จัดทำมาแล้วหลายครั้ง หวังขยายฐานมวลชน รวมทั้งกล่าวหารัฐว่าใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ และเชิดชูคนที่จากไป ว่าเป็นนักรบที่ต่อสู้จนตัวตาย

แต่ประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากก็คือ คลิปต้นฉบับที่คาดว่าเป็นการไลฟ์สดของผู้เสียชีวิต ก่อนเปิดฉากยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งการไลฟ์สดลักษณะนี้ หากเป็นเรื่องจริงก็ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

ผู้เสียชีวิตจากการยิงปะทะ 2 คน คือ นายรีสวัน เจ๊ะโซะ กับ นายอีลียัส เวาะกา ทั้งคู่มีภูมิลำเนาใน อ.กรงปินัง แต่คนละตำบล เมื่อเทียบภาพกับคนในคลิปไวรัลที่นำมาจากการไลฟ์สดอีกที จะพบว่าเป็นคนเดียวกัน แต่งกายและใส่นาฬิกาแบบเดียวกัน จึงคาดว่าเป็นการไลฟ์สดก่อนยิงปะทะ โดยจุดเกิดเหตุคือบ้านของนายอีลียัส รายงานของเจ้าหน้าที่ระบุว่า พบอาวุธปืนอาก้า 2 กระบอก และปืนพกสั้นอีก 2 กระบอก

เรื่องยังไม่จบ เพราะมีคนในครอบครัวของผู้ตายออกมาไลฟ์สด พร้อมถ่ายให้เห็นสภาพบ้านหลังการปะทะ พบว่าฝาผนังบางด้านมีรอยกระสุนเป็นรูพรุน ทรัพย์สินและข้าวของภายในบ้านเสียหายจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะเสื้อผ้าที่เตรียมไว้ให้เด็กๆ ใส่ในเทศกาลฮารีรายอ หรือเทศกาลเฉลิมฉลองหลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน เสียหายทั้งหมด

การไลฟ์สดของหญิงสาวคนนี้ได้รับความสนใจจากคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมาก เพราะเนื้อหาและภาพกระแทกใจ โดยเฉพาะชุดรายอของเด็กๆ ที่เสียหาย ฉีกขาด ทำให้คนที่ได้ชมคลิปรู้สึกสงสาร เนื่องจากคนมุสลิมถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ จึงพากันเดินทางไปเยี่ยม และร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก

การไลฟ์สดหลังเกิดเหตุยิงปะทะลักษณะนี้ คนในพื้นที่เล่าว่าเพิ่งมีเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะปกติจะจบด้วยความเงียบสงบ และโศกเศร้าของครอบครัวที่สูญเสีย

เมื่อเรื่องนี้กลายเป็นกระแส ก็มีผู้ใช้เฟซบุ๊กอีกหลายราย โพสต์แชร์ข้อความ และเลขบัญชีของครอบครัวผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ราย เพื่อให้ประชาชนทั่วไปช่วยกันบริจาค บางคนมีการทำแบนเนอร์ ใส่ภาพมารดาของผู้ตายเข้าไป เพื่อเรียกความสงสารด้วย ภาษาที่ใช้ในแบนเนอร์ มีทั้งภาษามลายูมาเลย์ และภาษาไทย มีคนจากองค์กรภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอบางส่วนในพื้นที่เข้าไปช่วยแชร์จำนวนมาก บางรายตำหนิฝ่ายรัฐว่ากระทำเกินกว่าเหตุหรือไม่

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เริ่มมีการให้ข้อมูลของกลุ่มที่ต่อต้านรัฐ กล่าวหาเจ้าหน้าที่ต่างๆ นานา บ้างก็อ้างว่า ผู้ตายทั้ง 2 คนไม่ได้ยิงตอบโต้ ถูกเจ้าหน้าที่ยิงฝ่ายเดียว และยังตั้งคำถามว่า ทหารพรานที่เสียชีวิต 1 นายถูกกระสุนของฝ่ายไหนกันแน่ ซึ่งระยะหลังกลุ่มขบวนการต่อต้านรัฐในพื้นที่ ให้ข่าวแบบนี้บ่อยครั้ง เพื่อดิสเครดิตฝ่ายความมั่นคง

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามประชาชนทั่วไปที่ได้รับทราบข่าวนี้ หลายคนพูดไปในทางเดียวกันว่า ฝ่ายรัฐน่าจะต้องรับผิดชอบ โดยเฉพาะการชดใช้ค่าเสียหาย นอกเหนือจากการให้ข่าวว่าทั้ง 2 คนเป็นคนร้าย

จากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่าหลังเกิดเหตุ ทางอำเภอกรงปินังได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเยี่ยมครอบครัวผู้เสียชีวิตแล้ว และได้เตรียมตัดชุดรายอให้ใหม่แทนชุดที่เสียหาย พร้อมประสานทหารช่างให้เข้าไปซ่อมแซมบ้านให้เร็วที่สุด แต่กรณีนี้จะไม่ได้รับเงินเยียวยา เนื่องจากถือเป็นที่พักพิงหลบซ่อนของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง

อีกด้านหนึ่ง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จริงๆ แล้วมีทหารพรานเสียชีวิตด้วย 1 นาย คือ อาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.) นพฤทธิ์ สุขสอน อายุ 27 ปี สังกัดกองร้อยทหารพรานที่ 4701 โดยเพื่อนทหารและหน่วยต้นสังกัด ได้ทำภาพและคลิปสดุดีวีรกรรม รวมทั้งเชิญชวนให้ผู้มีจิตศรัทธาได้บริจาคเงินช่วยเหลือครอบครัวของผู้ตายเช่นเดียวกัน

ทหารในพื้นที่รายหนึ่ง บอกกับทีมข่าวว่า การปะทะครั้งนี้เกิดจากกลุ่มคนร้ายยิงกับเจ้าหน้าที่ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการจากเบาไปหาหนัก ได้ให้ผู้นำในพื้นที่พูดคุยเจรจากับคนที่หลบอยู่ในบ้านแล้ว แต่เขายอมตาย ทุกฝ่ายก็ควรยอมรับ ไม่ใช่มาดราม่ากันขนาดนี้ เพราะฝ่ายเจ้าหน้าที่เองก็สูญเสียเช่นกัน ไม่เห็นมีภาคประชาสังคมคนไหนออกมาเรียกร้องบ้าง ทั้งที่ควรจะเรียกร้องให้ครอบครัวทหารที่ตายเหมือนกัน เพราะครอบครัวของทหารก็เสียใจไม่น้อยกว่าครอบครัวของอีกฝ่ายที่เสียชีวิต

ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ยังระบุด้วยว่า ผู้ที่ยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่จนเสียชีวิตครั้งนี้ มีความเชื่อมโยงกับเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ 2 เหตุการณ์

หนึ่ง คือ เหตุยิงและเผารถส่งสินค้า ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 3 ศพ เป็นพ่อ ลูกสาว และหลาน ครอบครัวเดียวกัน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 24 เม.ย.2564 ที่ผ่านมา

สอง คือ เหตุการณ์ใช้อาวุธสงครามยิงใส่รถไฟ ขบวนสุไหงโกลก - พัทลุง เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2564  

ผ่านมาอีกแค่ 2 วัน คือเมื่อเวลาประมาณ 20.00 น.ของวันอาทิตย์ที่ 9 พ.ค. ในเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “นางฟ้า สามล้อ” ของ น.ส.คอลีเยาะ หะหลี แกนนำสตรีอาสาคลายทุกข์จังหวัดชายแดนใต้ ได้โพสต์คลิปวีดีโอความยาว 4.19 นาที โดยในช่วงต้นคลิป เขียนข้อความว่า “คำสารภาพจากเหตุการณ์ปะทะ พื้นที่ ต.สะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา วันที่ 4 พ.ค.64 เครื่องมือตัดสัญญาณคลุมพื้นที่ จะใช้โทรศัพท์ได้จริงหรือ หรือเป็นเพียงคลิปเก่าเล่าใหม่?”

คลิปไวรัลนี้ทันทีที่ถูกเผยแพร่ออกไปก็มีผู้สนใจเข้าชมและติดตามมากเช่นกัน โดยเนื้อหาในคลิป เป็นการนั่งพูดเหมือนแถลงของชายสวมเสื้อแขนยาวสีดำสลับส้ม ผูกผ้าพันคอสีเขียว และมีป้ายศูนย์ซักถาม ฉก.ทพ.41 ตั้งอยู่ด้านหน้า

คนในคลิปพูดด้วยภาษามลายู โดยมีคำแปลภาษาไทยเป็นซับไตเติ้ล เนื้อหาระบุว่า

“สวัสดีครับ ผมนายวันฮาซัน อะซู อายุ 31 ปี อยู่บ้านแอร้อง อ.บันนังสตา จ.ยะลา ที่ถูกปลูกฝังว่า คนมลายูกับคนสยามต้องแบ่งแยกกัน ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน และผมก็พยายามจะออกจากขบวนการมาหลายครั้ง แต่เพื่อนผมที่ชื่อรีสวัน รั้งไว้ไม่ให้ออก ให้อยู่กับเขาตลอด ซึ่งตั้งแต่ที่ผมเข้าร่วมอยู่กับขบวนการ BRN พวกเขาไม่เคยให้ความช่วยเหลืออะไรเลย”

“ก่อนที่ผมจะไปอยู่บ้านหลังที่มีการปะทะ ผมอยู่อีกที่หนึ่ง 3 คน มีอีลียัส รีสวัน และก็ผม ซึ่งเป็นบ้านเครือญาติของอีลียัส...(ข้ามข้อความบางส่วน)...มีรถยนต์มารับตรงบ้านที่ผมอยู่ มารับ 3 คน มี อีลียัส รีสวัน และผมได้ขึ้นรถยนต์จากพื้นที่นั้นออกไปยังบ้านหลังที่มีการปะทะ และมีอีลียัสเป็นคนติดต่อรถยนต์ในการเคลื่อนย้ายไปอยู่บ้านหลังที่มีการปะทะประมาณ 4 วัน”

“ในแต่ละวันก็โทรคุยกับผู้หญิง ส่วนอีลียัสก็คุยวีดีโอคอลจีบผู้หญิงของเขาอยู่ตลอดเวลา เท่าที่รู้คือเวลารีสวันคุยกับผู้หญิงคนไหน ก็จะส่งของมาให้และได้เห็นของที่ถูกส่งมาทุกครั้ง ส่วนอีลียัสก็มีของที่ส่งมาบ้างเล็กน้อย...(ข้ามข้อความบางส่วน)...ตั้งแต่ที่ผมเข้าร่วมขบวนการฯ ผมโดนหลอกมาโดยตลอด”