ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ ย้ำวัคซีนที่ดีที่สุด คือ วัคซีนที่ฉีดเร็วที่สุด

ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ ย้ำวัคซีนที่ดีที่สุด คือ วัคซีนที่ฉีดเร็วที่สุด

ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ แถลงจุดยืน ย้ำวัคซีนโควิด 19 ที่อนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน พบอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงน้อยกว่า 10 รายต่อ 1 ล้านเข็ม สามารถลดการเจ็บป่วยที่รุนแรง เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ วัคซีนโควิด-19 ที่ดีที่สุด คือวัคซีนที่ได้รับการฉีดเร็วที่สุด

วันนี้ (7 พ.ค. 64) กรรมการบริหารราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย มีมติให้เผยแพร่แถลงจุดยืน (position statement) ของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ เรื่องวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (วัคซีนโควิด-19) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. วัคชีนโควิด-19 ที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ในประเทศไทยเป็นวัคนที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน โดยการพิจารณาอย่างรอบคอบของผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาถึงผลดีผลเสียแล้ว อาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนโควิด-19 ส่วนใหญ่มีความรุนแรงน้อยหรือปานกลาง และพบอาการรุนแรงจากวัคชีนโควิด-19 น้อยกว่า 10 รายต่อการรับ 1 ล้านเข็ม แต่วัคซีนโควิด-19 ทุกชนิดมีศักยภาพลดการเจ็บป่วยที่รุนแรง ลดการนอนโรงพยาบาล และลดการเสียชีวิต ซึ่งจะช่วยทำให้ระบบสาธารณสุขของประเทศ ยังคงประสิทธิภาพไว้ได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งจะทำให้ประเทศไทยเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ซึ่งนับเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ที่จะทำให้ประเทศหยุดยั้งการระบาดของโควิด-19 และสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม ประเทศชาติได้อย่างยั่งยืน

2. วัคซีนโควิด-19 ที่ดีที่สุด คือวัคซีนที่ท่านสามารถได้รับการฉีดเร็วที่สุด ไม่ควรรอคอยวัคซีนเฉพาะบางชนิด ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ ไม่แนะนำให้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิดหนึ่งชนิดใดเป็นการจำเพาะ รายงานประสิทธิผลของวัคซีนแต่ละชนิดในการป้องกันโควิด-19 ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ เนื่องจากทำการศึกษาในประชากรที่แตกต่างกัน ในภาวะความรุนแรงของการระบาดที่ไม่เหมือนกัน และคำจำกัดความของการป้องกันโควิด-19 ของแต่ละการศึกษาก็ไม่เหมือนกันด้วย

 

3. ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ สนับสนุนให้สมาชิกของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ ทุกท่านรับการฉีดวัคชีนโควิด-19 เพื่อลดการเจ็บป่วยและลดการกักตัว อันจะทำให้ประสิทธิภาพของระบบการรักษาพยาบาลลดลง และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับแพทย์สาขาอื่น
บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย รวมทั้งประชาชนในการยอมรับการรับวัคซีนโควิด-19

4. ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ สนับสนุนให้กลุ่มบุคคลที่มีโรคประจำตัว 7 โรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และผู้มีอายุเกิน 60 ปี ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นโควิด-19 ที่รุนแรง เกิดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตได้สูง รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในกรณีที่ไม่แนใจเรื่องข้อห้ามหรือข้อระมัดระวังบางประการของการรับวัคน ให้ปรึกษาแพทย์ที่ทำการรักษาท่าน

5. ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ สนับสนุนให้ประชาชนทุกท่านรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อร่วมกันทำให้ประเทศไทยเกิด
ภูมิคุ้มกันหมู่เพียงพอที่จะหยุดยั้งการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างยั่งยืน

ประกาศ ณ วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2564
(พลอากาศโท นายแพทย์อนุตตร จิตตินันทน์)
ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย

162036630923