AHF เรียกร้อง 'ไทย' ปลดล็อกสิทธิบัตร หนุน ปชช.เข้าถึงยา-วัคซีน

AHF เรียกร้อง 'ไทย' ปลดล็อกสิทธิบัตร หนุน ปชช.เข้าถึงยา-วัคซีน

AHF ออกโรงเรียกร้อง ไทยปลดล็อกสิทธิบัตร ลดอุปสรรคการเข้าถึงยา และวัคซีน ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19

นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการแถลงข่าวออนไลน์วันนี้ เปิดแคมเปญ "VOW : Vaccinate Our World : รวมพลังฉีดวัคซีนปกป้องโลก เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) จัดโดยมูลนิธิเอดส์ เฮลท์ แคร์ (เอเอชเอฟ) ประเทศไทย ว่า โควิด-19 ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ ฉุดรั้งการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และรายได้ของประชาชน หากแต่ไทยมีระบบสาธารณสุขเข้มแข็งได้ช่วยรับมือต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งกลับมาระบาดระลอกสองในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา 

“ขอให้มั่นใจว่า รัฐบาลไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ หลังจากที่เราฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยง อ่อนไหว และบุคลากรการแพทย์แล้ว และเปิดโครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับกลุ่มประชาชนทั่วไป (Mass Vaccination) ในกลางปีนี้” ผู้ช่วยรัฐมนตรีสาธารณสุขกล่าว 

นพ.โสภณ ยังได้กล่าวถึงไทม์ไลน์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทยว่า รัฐบาลตั้งเป้าฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนในประเทศ ตามความสมัครใจ ไม่บังคับ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 70% ซึ่งจะเป็นประชาชนไทย แรงงานต่างด้าว และต่างชาติในไทยรวมแล้ว 50 ล้านคน นั่นหมายถึงต้องใช้วัคซีนโควิด 100 ล้านโดส ถ้าเป็นไปตามแผน ทางแอสตร้าเซนเนก้าจะจัดส่งวัคซีนโควิดจำนวน 61 ล้านโดสมายังไทยในเดือน มิ.ย. ขณะที่จีนจะจัดส่งวัคซีนซิโนแวคจำนวน 1 ล้านโดส ถึงไทยในวันที่ 6 พ.ค. และอีก 1.5 ล้านโดสในวันที่ 22 พ.ค.นี้ 

นอกจากนี้ ยังได้ติดต่อบริษัทไฟเซอร์ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เพื่อให้ได้วัคซีนครบทั้ง 100 ล้านโดสฉีดให้ประชาชนภายในปีนี้ เพื่อเปิดเศรษฐกิจประเทศให้ได้ตามกำหนด

ด้านนายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี (เอดส์) ประเทศไทย กล่าวถึงความสำคัญของสิทธิบัตรที่ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงวัคซีนของประชาชนโลก ว่า ตอนนี้ยังมีหลายประเทศต้องเจออุปสรรคที่มีต่อการเข้าถึงวัคซีนและยา อยากเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ประเทศที่มีรายได้สูง และประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ต้องไม่กักตุนวัคซีนและยาเกินความจำเป็น ถึงเวลาแล้วจะจัดการวัคซีนและยาในระบบทั่วโลก เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้

"เวลานี้ มีความจำเป็นต้องทบทวนกฎหมาย เพื่อยกเลิกอุปสรรคต่อการเข้าถึงวัคซีนโควิด ทำให้ต้องอาศัยความกล้าหาญของผู้กำหนดนโยบายให้วัคซีนและยาเข้ามาอยู่ในระบบถูกต้อง และไม่อยู่ในภาวะแย้งชิง หรือทำให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงได้" ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอกล่าวย้ำ 

ส่วนกรณีที่บริษัทยาของญี่ปุ่นยื่นต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เพื่อการขอรับสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์รูปแบบยาเม็ด แต่ถูกยกคำขอและระหว่างนี้อยู่ในช่วงยื่นอุทธรณ์ภายใน 90 วัน ซึ่งนายอภิวัฒน์ กล่าวว่า หวังรัฐบาลไทยออกประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (ซีแอล) เพื่อเปิดทางให้เอกชนในการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่อใช้รักษาในยามฉุกเฉิน สะท้อนหลักมนุษยธรรม เนื่องจากยาดังกล่าวนำไปใช้รักษาผู้ติดโควิด สำหรับลดอัตราการตายและป่วยอาการหนักขึ้น ส่วนวัคซีนจะช่วยลดการแพร่ระบาดของโควิด-19