มันเดล & วิลเลียมสัน : ‘เจ้าพ่อ’ เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ

มันเดล & วิลเลียมสัน : ‘เจ้าพ่อ’ เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ

ทำความรู้จัก "โรเบิร์ต มันเดล" นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี 2542 และ "จอห์น วิลเลียมสัน" นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของวลี Washington Consensus สองเจ้าพ่อแห่งเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ

เม.ย.2564 เราสูญเสีย 2 นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของโลก ที่มีอิทธิพลต่อวงการเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก ได้แก่ โรเบิร์ต มันเดล และ จอห์น วิลเลียมสัน

ขอเริ่มที่ “โรเบิร์ต มันเดล” นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี 2542 ชาวแคนาดา วัย 88 ปี ผมเชื่อว่าไม่มีนักศึกษาที่เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ท่านใดที่ไม่เคยได้ยินชื่อของโรเบิร์ต มันเดล มาก่อน เนื่องจากโมเดลของมันเดล-เฟลมมิง เป็นกรอบในการวิเคราะห์ของบทเรียนเศรษฐศาสตร์การเงินระหว่างประเทศของตำราเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ทุกเล่ม มันเดลได้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลต่อการวิเคราะห์ด้านนโยบายการเงินและการคลัง ภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนในรูปแบบต่างๆ และระบบเงินตราที่เหมาะสมภายใต้เขตเศรษฐกิจหนึ่งๆ (Optimum currency area)

ช่วงปี 2503-2513 ถือเป็นจุดสุดยอดของมันเดลในเชิงวิชาการ เมื่อเขาได้ประยุกต์โมเดลทางเศรษฐศาสตร์ของเคนส์ที่ชื่อว่า IS-LM ของโรเบิร์ต ฮิกส์ ในการอธิบายระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นเศรษฐกิจแบบเปิด โดยข้อสรุปของเขาที่ว่าระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ นโยบายการเงินที่เป็นอิสระ และการไหลของเงินทุนแบบเสรีนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน หรือที่เรียกว่า Impossible Trinity 

สิ่งนี้กลายมาเป็นคำอธิบายว่าเหตุใดเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ หลังปี 2513 ที่เมื่อสนธิสัญญา Bretton Woods สิ้นสุดลง จึงพาเหรดกันใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว เมื่อปล่อยให้เงินทุนไหลเข้าออกแบบเสรีและธนาคารกลางมีอิสระในการกำหนดนโยบายการเงิน

นอกจากนี้สิ่งนี้ยังเป็นจุดกำเนิดของการก่อตั้งธนาคารกลางยุโรป พร้อมกับระบบรวมศูนย์ทางการเงิน หรือ Monetary Union ของยุโรป ภายใต้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ ซึ่งเริ่มต้นของไอเดียนี้มาจากผู้นำฝรั่งเศส

ในช่วงท้ายของเส้นทางการทำงาน มันเดลได้เน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของเสถียรภาพด้านอัตราแลกเปลี่ยน โดยเขาอยากให้โลกเรามีระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่มีสกุลเงินเดียวเสียด้วยซ้ำไป

ที่สำคัญ มันเดลถือเป็นปรมาจารย์ที่มีลูกศิษย์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น รูดิเกอร์ ดอร์นบุช อาจารย์ที่เอ็มไอที, จาค็อบ แฟรงเกิล อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่ไอเอ็มเอฟ และผู้ว่าการธนาคารกลางอิสราเอล, ไมเคิล มุสสา อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่ไอเอ็มเอฟ และคาร์เมน เรนฮาร์ท หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ท่านปัจจุบันที่ธนาคารโลก

มาถึง “จอห์น วิลเลียมสัน” นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ วัย 83 ปี เจ้าของวลี Washington Consensus ที่ติดปากชาวโลกในเวลาต่อมา ในวัยเด็กอยากจะเป็นวิศวกรโยธา ทว่าครูของเขาได้แนะนำให้หันมาเรียนเศรษฐศาสตร์แทน เนื่องจากคณิตศาสตร์ที่ไม่แข็งแรงสักเท่าไร หลังจากที่ได้แรงบันดาลใจจากวิลเลียม ฟิลลิปส์ นักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นผู้ค้นคิดความสัมพันธ์ระหว่างอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงาน หรือเส้นโค้งฟิลลิปส์ 

จนกระทั่งมาจบปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน รุ่นเดียวกับนักเศรษฐศาสตร์ระดับตำนานอย่าง วิลเลียม บาวโม และ ออสการ์ มอร์เกนสเติร์น จนกระทั่งได้กลายมาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ถือว่าทรงอิทธิพลท่านหนึ่งต่อการเมืองอังกฤษ

ว่ากันว่าความละเอียดด้านการนับและวิเคราะห์ข้อมูลถือเป็นจุดเด่นของเขาในวิชาชีพ เนื่องจากงานอดิเรกในวัยเด็กคือวิชานับสปีชีส์ของนกเช่นเดียวกับคุณพ่อของเขา อันเป็นที่มาของการแนะนำให้ประเทศต่างๆ ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบ Crawling Peg หรือให้อัตราแลกเปลี่ยนขยับไปทีละนิด แทนที่จะเปลี่ยนแปลงขึ้นลงแบบเสรี เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

หลังจากยุคทศวรรษ 2513 ที่ประเทศในละตินอเมริกาได้กู้เงินจากแบงก์ต่างๆ ในสหรัฐ และเริ่มส่อแววว่าจะเบี้ยวหนี้ รัฐบาลสหรัฐจึงหันมาใช้องค์กรวิจัยให้ออกบทความที่แนะนำหลักการให้ประเทศลูกหนี้นำไปปฏิบัติ ซึ่งวิลเลียมสันเป็นผู้ทำงานวิจัยชิ้นนี้ โดยแนะนำให้หันเหจากการใช้เงินอุดหนุนอุตสาหกรรมมาเน้นด้านการศึกษาและสุขอนามัยแทน ให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นแบบที่สามารถแข่งขันได้ ทว่าไม่ใช่ปล่อยให้ลอยตัวแบบเสรี ให้เศรษฐกิจมีการเปิดกว้างด้วยการยอมรับการนำเข้าและการลงทุนทางตรง

ทว่าไม่ใช่ปล่อยให้การไหลออกเงินทุนแบบเสรี ให้การผ่อนคลายกฎเกณฑ์ หมายถึงยกเลิกการปกป้องอุตสาหกรรมที่อุ้มหรือช่วยเหลืออยู่ ไม่ใช่การยกเลิกมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและแรงงาน ทั้งหมดคือสิ่งที่เรียกว่า Washington Consensus ที่ติดปากชาวโลกในเวลาต่อมา อย่างไรก็ดี มีสิ่งหนึ่งที่วิลเลียมสันย้ำว่าเขาไม่ได้เป็นคนเสนอคือ การรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่หลายคนกล่าวว่าไอเอ็มเอฟนำมาใช้แบบผิดทางในยุคต้มยำกุ้งของบ้านเรา

นอกจากนี้ หลายคนมักจะโยงแนวคิดดังกล่าวของวิลเลียมสันกับแนวทางนโยบายของการปล่อยให้เศรษฐกิจเป็นไปตามกลไกตลาด โดยปราศจากการแทรกแซงจากรัฐบาลของโรนัลด์ เรแกน และมาร์กาเร็ต แธชเชอร์ ซึ่งต่อมาถูกมองว่ามีส่วนทำให้เกิดฟองสบู่ต่อเศรษฐกิจโลก ว่าทั้งคู่เป็นสิ่งเดียวกัน

ท้ายสุด วิลเลียมสันถือเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความคิดล้ำหน้า ในการเสนอให้มีการเก็บภาษีก๊าซคาร์บอนในปี 2555 ซึ่ง ณ วันนี้ หัวข้อ Climate Change ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ของวงการเศรษฐศาสตร์ไปเรียบร้อยแล้ว

หมายเหตุ : "หุ้น Avengers : Infinity Stock" หนังสือว่าด้วยการใช้ข้อมูลและแนวคิดเชิงมหภาคแบบครบทุกมิติในการลงทุน ผลงานเล่มที่ 5 ของผู้เขียน วางขายที่ร้านหนังสือทั่วประเทศแล้ว