หยุด! ใช้ 'ชุดตรวจเชื้อโควิด-19' มาตรวจเอง เสี่ยงแปลผลผิด แพร่เชื้อไม่รู้ตัว

หยุด! ใช้ 'ชุดตรวจเชื้อโควิด-19' มาตรวจเอง เสี่ยงแปลผลผิด แพร่เชื้อไม่รู้ตัว

อย. เตือนอย่าใช้ "ชุดตรวจเชื้อโควิด-19" มาตรวจเอง เหตุแปลผลผิด เพิ่มความเสี่ยงกระจายติดเชื้อในวงกว้าง ต้องตรวจหาเชื้อด้วย "วิธีมาตรฐาน RT-PCR" ในห้องปฏิบัติการ

จากกรณีที่มีผู้เสนอให้รัฐบาลจัดหา "ชุดตรวจเชื้อโควิด-19" ด้วยตัวเอง (Self- test) เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจเชื้อได้ด้วยตนเอง เหมือนในประเทศอังกฤษ พร้อมเสนอให้ผู้ป่วยที่อาการไม่หนักรักษาตัวที่บ้านได้นั้น

  • แจง "ชุดตรวจเชื้อโควิด-19" การแปลผลต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา "อย." ขอชี้แจงว่า "ชุดตรวจเชื้อโควิด-19" โดยการหาเชื้อจากโปรตีนดังกล่าว เรียกว่า Rapid Ag test มีลักษณะเป็นแถบตรวจ ให้หยดน้ำยาที่มีเนื้อเยื่อจากการแยงจมูก (swab) ชุดทดสอบนี้หากตรวจในช่วงแรกหลังรับเชื้อ หรือเลยช่วง 7-10 วันหลังมีอาการ อาจให้ผลลบปลอม จนนำไปสู่การแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่นได้

ดังนั้น การแปลผลต้องอาศัยความชำนาญของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ซึ่งต่างจากการตรวจหาเชื้อจากสารพันธุกรรมด้วย"วิธีมาตรฐาน RT-PCR" ที่สามารถตรวจพบเชื้อได้แม้มีปริมาณเชื้อไม่มาก นอกจากนี้ยังมีการตรวจหาสารพันธุกรรมด้วยวิธีอื่น ได้แก่ RT-LAMP ที่ได้รับการ "ขึ้นทะเบียน"จาก  "อย."แล้ว เช่น COXY-AMP ซึ่งต้องอาศัยเครื่องมือและอุปกรณ์ทางห้องปฏิบัติการในการตรวจ ประชาชนทั่วไปไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง

  • ต้องรู้! ข้อจำกัดการใช้"ชุดตรวจเชื้อโควิด-19" ตรวจเอง

รองเลขาธิการอย.กล่าวต่อไปว่า การใช้ชุดตรวจมาตรวจเอง มีข้อจำกัดหลายด้าน เช่น ขั้นตอนและเทคนิคในการเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูก หากเก็บไม่ถูกวิธีจะเสี่ยงต่อการแปลผลที่คลาดเคลื่อนและให้ผลลบปลอมได้

หากผู้ใช้แปลผลไม่ถูกต้อง อาจเพิ่มความเสี่ยงการกระจายการติดเชื้อในวงกว้าง ประสิทธิภาพของ ชุดตรวจด้วยตัวเอง มีความแม่นยำน้อยกว่า "วิธีมาตรฐาน RT-PCR" ที่ตรวจโดยห้องปฏิบัติการโดยตรง ส่งผลให้มีโอกาสเกิดผลลบปลอมที่สูงกว่า และถึงแม้ว่าผลทดสอบจะปรากฏผลลบ ยังจำเป็นต้องประเมินอาการและปัจจัยอื่นร่วมด้วย

  • ย้ำ"ตรวจโควิด-19"ผลบวกต้องเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล

ต้องอาศัยการให้คำแนะนำโดยบุคลากรทางการแพทย์ ที่สำคัญหากพบผลบวกต้องเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ไม่สามารถกักตัวที่บ้าน เพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาที่เหมาะสมและทันท่วงที และ ป้องกันกรณีไม่ปฏิบัติตามแนวทางที่เหมาะสม อาจแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว จนนำไปสู่การแพร่ระบาดรอบใหม่

ปัจจุบัน "อย." ได้อนุญาตน้ำยาที่ใช้ในการตรวจหาเชื้อด้วย"วิธีมาตรฐาน RT-PCR" ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐาน สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลก มีความแม่นยำมากที่สุดเมื่อเทียบกับวิธีอื่น ๆ โดยจำนวนผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่ได้รับอนุญาตแล้ว มีมากกว่า 80 ผลิตภัณฑ์ จากหลากหลายบริษัท เพียงพอสำหรับการตรวจวิเคราะห์ ในห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ซึ่งมีมากกว่า 270 แห่งทั่วประเทศ