บอร์ดแข่งขันทางการค้า เปิดเกมรุกคุมเข้ม ควบรวมกิจการ-อีคอมเมิร์ซ

บอร์ดแข่งขันทางการค้า เปิดเกมรุกคุมเข้ม ควบรวมกิจการ-อีคอมเมิร์ซ

บอร์ดแข่งขันทางการค้าเปิดตัว 3 กรรมการคนใหม่ เผย 2 ปี รับเรื่องร้องเรียน 68 เรื่อง พร้อมกางแผนงานปี 64 กำกับดูแลการควบรวมกิจการ ออกไกด์ไลน์คุมธุรกิจจอีคอมเมิร์ซ

นายสกนธ์  วรัญญูวัฒนา  ประธานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) พร้อมด้วยกรรมการการแข่งขันทางการค้า  แถลงข่าวแนวนโยบายการขับเคลื่อนการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการทุกประเภท พร้อมเปิดตัวกรรมการการแข่งขันทางการค้า ชุดใหม่ภายหลังจากกรรมการชุดเดิมหมดวาระไป 3 คน ได้แก่ 1.นายกฤษฎา เปี่ยมพงศ์สานต์ อดีตข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นกรรมการชุดเดิมที่จับสลากออกเมื่อครบวาระ ตามาตรา 13 และกลับมาลงสมัครอีกครั้ง2.นางปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล อดีตรองเลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม และ 3.นายรักษเกชา แฉ่ฉ่าย อดีตเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน       

นายสกนธ์ กล่าวว่า  การดำเนินงานของกขค. ภายใต้พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 5 ต.ค.2560 จนถึงวันที่ 31 มี.ค. 2564 รวมระยะเวลา 3 ปี 3 เดือน มีสถิติรับเรื่องร้องเรียนรวมทั้งสิ้น 68 เรื่อง  หรือเฉลี่ยปีละ 22 เรื่อง  เช่น  เรื่องมาตรา 50 ห้ามไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด จำนวน 6 เรื่อง  ตามมาตรา 54 การฮั้ว จำนวน 4 เรื่อง  ตามมาตรา 57 ห้ามไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจทำการใดๆที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจรายอื่น จำนวน  38 เรื่อง  รวมทั้งเรื่องของการควบรวมและแจ้งผลการควบรวมธุรกิจ เป็นต้น  

161778636969

ทั้งนี้ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผลต่อเศรษฐกิจของไทยและทั่วโลก โดยเฉพาะไทยในปี 62 มีธุรกิจต้องปิดตัวลง 2.2 หมื่นราย ปี 63 ปิดตัว 2 หมื่นราย ซึ่งธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีสายป่านยาวยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางธุรกิจเพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงโดยกระแสของการรวมธุรกิจเริ่มมีมากขึ้นทั้งการรวมในประเทศและข้ามชาติ ส่งผลต่อการแข่งขันทางการค้า และผู้ประกอบธุรกิจ  ขณะที่พฤติกรรมของผู้บริโภคก็เปลี่ยนแปล.ไปเช่นกัน มีการใช้เพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อซื้อสินค้ามากขึ้น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างก้าวกระโดด ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอีที่ยังไปปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ         

ดังนั้นในปี 64 คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าจะทำงานเพื่อกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าให้เป็นตามพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าพ.ศ.2560 อย่างเข้มข้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบรวมธุรกิจทำให้มีอำนาจเหนือตลาด การผูกขาดทางธุรกิจหรือฮั้ว การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม การกระจุกตัว ซึ่งจะมีการจัดตั้งหน่วยวิเคราะห์ธุรกิจ Business Intelligence Unit (BIU) เพื่อวางระบบการจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และการประมวลผล วิเคราะห์ข้อมูลในการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าและการดำเนินคดีตามกฎหมาย

“คาดว่าแนวโน้มการควบรวมธุรกิจจะมีมากขึ้น เช่น กลุ่มธุรกิจรถยนต์ กลุ่มอาหาร กลุ่มโลจิสติกส์ ดังนั้นจะต้องเข้ามาดูแลควบคุมไม่ให้เกิดการกระจุกตัวของตลาด การเอารัดเอาเปรียบ การมีอำนาจเหนือตลาด “

               

นายสกนธ์ กล่าวว่า นอกจากนี้จะกำกับการแข่งขันในธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่างเข้มงวด  เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตมากและเป็นผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในประเทศหรือต่างประเทศเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งอาจเข้าข่ายผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าอย่างเข้มงวด พร้อมทั้งจัดทำทำแนวทางปฏิบัติ หรือไกด์ไลน์( Guidelines)กำหนดมาตรฐานระยะเวลาการชำระเงินค่าสินค้า (credit term) หรือข้อแนะนำ เพื่อให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมต่อผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นคู่แข่งขันหรือคู่ค้า และรักษาประโยชน์ของผู้บริโภค

รวมทั้งจะมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการดำเนินการในโครงการต่างๆของรัฐเป็นอย่างถูกต้องแข่งขันอย่างเสรีทั้งในเรื่องของการให้สัมปทานโครงสร้างพื้นฐาน การประมูลโครงการต่างๆของรัฐ  การให้สิทธิพิเศษในโครงการของรัฐที่อาจเข้าข่ายผิดกฏหมายการแข่งขั้น  ซึ่งที่ผานมาทางกขค.ได้มีการแจ้งเตือนในโครงการจัดประมูลสร้างท่อร้อยสายของกทม.ที่อาจเข้าการผูกขาดไปแล้ว